สุจิตต์ วงษ์เทศ : ลาวพนัสนิคม ร่วมปราบกบฏตั้วเหี่ย ฉะเชิงเทราและเป็นกองกำลังอารักขาเจ้าฟ้ามงกุฎ ที่วัดบวรฯ

ชาวบ้าน ต. เนินพระธาตุ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี ร่วมงานสืบสานประเพณีเนินธาตุ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2559 มีเลี้ยงพระตั้งแต่เช้า แล้วเดินเวียนรอบเจดีย์ 3 รอบโดยมีผู้ตีฆ้องนำขบวนโปรยดอกไม้ เซ่นสรวงด้วยอาหารชนิดต่างๆ เช่น หัวหมู น้ำมะพร้าว ขนมหวานและผลไม้

อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี บริเวณลุ่มน้ำพานทอง อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางเส้นทางคมนาคมมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์
มีลำน้ำพานทองเป็นลำน้ำสายหลักของพนัสนิคม มีต้นน้ำอยู่เขตที่สูง (บริเวณเทือกเขา จ. ระยอง) ไหลผ่านพนัสนิคม ไปลงแม่น้ำบางปะกง ใกล้ปากน้ำออกอ่าวไทย

ชุมชนเก่าสุด 3,000 ปีมาแล้ว

ชุมชนเก่าสุดของพนัสนิคม อยู่บ้านโคกพนมดี (ต. ท่าข้าม) ราว 3,000 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกเจ้าแม่ (หมอผี หัวหน้าเผ่า) มีลูกปัดนับแสนเม็ดฝังรวมอยู่ด้วย
เมืองเก่าสุด 1,500 ปีมาแล้ว
เมืองเก่าสุดของพนัสนิคม อยู่ในตัวอำเภอ เรียกสมัยหลังว่าเมืองพระรถ (ชื่อสมมุติจากนิทานลาว)
เป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี รับศาสนาจากอินเดีย อายุอยู่ในราวหลัง พ.ศ. 1000 รุ่นเดียวกับเมืองนครปฐมโบราณ
เมืองร้าง
เมืองโบราณยุคทวารวดีที่พนัสนิคม ลดความสำคัญ ในที่สุดรกร้างไปราวหลัง พ.ศ. 1500 หรือ 1,000 ปีมาแล้ว
เพราะเส้นทางคมนาคมเปลี่ยนไป แล้วมีบ้านเมืองแห่งใหม่ใกล้ทะเลเติบโต มีความสำคัญแทนที่

ชุมชน 3,000 ปีมาแล้วที่บ้านโคกพนมดี  (ต. ท่าข้าม อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี) เป็นเนินดินสูงจากที่ราบเห็นได้ชัดเจน น่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แหล่งฝังศพตระกูลหมอผีหัวหน้าเผ่าซึ่งเป็นหญิง
ชุมชน 3,000 ปีมาแล้วที่บ้านโคกพนมดี (ต. ท่าข้าม อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี) เป็นเนินดินสูงจากที่ราบเห็นได้ชัดเจน น่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แหล่งฝังศพตระกูลหมอผีหัวหน้าเผ่าซึ่งเป็นหญิง

ลาวจากนครพนม บุกเบิกพนัสนิคม

ลาวลุ่มน้ำโขง หักร้างถางพงบุกเบิกก่อบ้านสร้างเมืองพนัสนิคม มีเจ้าเมืองชื่อ พระอินทรอาษา ตั้งแต่ยุค ร.3 ระหว่าง พ.ศ. 2367-2394 เกือบ 200 ปีมาแล้ว มีข้อความในพระราชพงศาวดาร ว่า

“พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทรอาษา”
(พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180)
ลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวจากเมืองนครพนม ประมาณ 2 พันคน ขอสวามิภักดิ์ขึ้นต่อกรุงเทพฯ สมัย ร.2 เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ”
แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน จึงได้ไปอยู่เมืองพนัสนิคม

Advertisement
 แนวคันดินเมืองพระรถ ยุคทวารวดี ต. หน้าพระธาตุ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี
แนวคันดินเมืองพระรถ ยุคทวารวดี ต. หน้าพระธาตุ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี

ลาวพนัสนิคม ปราบกบฏตั้วเหี่ย

พ.ศ. 2391 พระอินทรอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวยกไปทางบกปราบกบฏจีนตั้วเหี่ยเมืองฉะเชิงเทรา (ที่อยู่ต่อแดนกัน)
มีพรรณนาในพระราชพงศาวดารฯ เรื่อง เจ้าพระยาพระคลัง กับเจ้าพระยาบดินทร เดชา ปราบจีนตั้วเหี่ย เมืองฉะเชิงเทรา จะคัดมาโดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวก ดังนี้
“เจ้าพระยาบดินทรเดชา ยกมาถึงเมืองฉะเชิงเทราวันจันทร์เดือน 5 ขึ้น 14 ค่ำ ตั้งอยู่เหนือเมือง
เจ้าพระยาพระคลังยกขึ้นไปทางเรือ ให้จมื่นไวยวรนารถเข้าตีพวกตั้วเหี่ยอยู่ที่นอกกำแพงเมือง ซึ่งตั้งอยู่ตามโรงหีบ
พวกลาวเมืองพนัศนิคมยกมาทางบก พวกจีนตั้วเหี่ยหลบหลีกอยู่ในโรงไม่เห็นตัว พระอินทรอาสาให้เอาไฟจุดเผาโรงเสียเป็นหลายโรง พวกจีนทนอยู่ไม่ได้ก็ออกมาสู้รบกับพวกลาว พวกจีนแตกหนีไป
อ้ายจีนเชียงทองเห็นว่าจะสู้มิได้ก็ให้ท่านผู้หญิงหุ่น ภรรยาพระยาศรีราชอากร มากราบเรียนท่านเจ้าพระยาพระคลัง ว่าจีนเชียงทองหาได้รู้เห็นเป็นตั้วเหี่ยด้วยไม่ อ้ายจีนบู๊และพวกตั้วเหี่ยทั้งปวงยกย่องให้เป็นเจ้านาย ครั้นไม่ยอมก็จะฆ่าเสีย กลัวตายก็ต้องยอม บัดนี้จีนเชียงทองจะจับตัวอ้ายจีนบู๊มาลุแก่โทษ เจ้าพระยาพระคลังก็รับยอมให้เกลี้ยกล่อม จีนเชียงทองคุมสมัครพรรคพวกไปจับอ้ายจีนบู๊ที่ในกำแพงเมือง เอามาส่งท่านเจ้าพระยาพระคลังๆ จึ่งให้จมื่นไวยวรนารถคุมตัวอ้ายจีนบู๊ อ้ายจีนเชียงทอง อ้ายจีนขุนพัฒน์ (ลัก) อ้ายจีนหลงจู๊ชี หลงจู๊ยี่ หลงจู๊ตัด เข้ามากรุงเทพมหานคร
ฝ่ายพวกตั้วเหี่ยหานายใหญ่มิได้แล้วก็ระส่ำระสาย ครั้น ณ เดือน 5 แรม 5 ค่ำ ก็ทิ้งเมืองเสียหนีเอาตัวรอด
พวกกองทัพไทยจับได้ตัวนายจีนห้วยเสี้ยวตั้วเหี่ย จีนเอี้ยงยี่เหี่ย จีนเน่าซาเหี่ย จีนโปยี่เหี่ย จีนเสงซาเหี่ย จีนตูยี่เหี่ย จีนเกา จีนกีเฉาเอย จีนโผ จีนหลงจู๊อะ จีนกีเถ้าแก่สวนอ้อย จีนลก นายทัพนายกองไทยฆ่าตายเสียก็มาก
พวกชาวบ้านซึ่งหนีจีนตั้วเหี่ยอยู่ในป่า รู้ว่าพวกตั้วเหี่ยแตกแล้วก็พากันออกมา พบเจ๊กจีนที่ใดก็ฆ่าเสียสิ้น ไม่รู้ว่าจะเป็นจีนตั้วเหี่ยหรือมิใช่ตั้วเหี่ย
ครั้งนั้นพวกจีนไม่มีที่พึ่ง หาผู้ใดจะช่วยธุระมิได้ ก็พากันผูกคอตายเสียเป็นอันมาก ที่ไม่ฆ่าตัวเสียก็โกนผม เอาผ้าเหลืองห่มโพธิ์ห่มพระพุทธรูปเอามานุ่งห่ม ด้วยเป็นธรรมเนียมจีนโทษผิดถึงตายแล้ว ถ้าโกนผมบวชเสียได้ก่อนแล้วก็ไม่มีโทษ ถึงเป็นข้าศึกกันก็ไม่ทำอันตราย
ธรรมเนียมไทยไม่ถือดังนั้นก็ฆ่าฟันเสียสิ้น
พวกจีนก็หนีเดินบกมาเมืองชลบุรี ลาวเมืองพนัศนิคมอยู่ต้นทางก็สกัดฆ่าพวกจีนอยู่ที่นั่น ศพกองอยู่แห่งละ 9 คน 20 คน 30 คน เรี่ยรายอยู่ที่ทุ่งนาป่ารกก็เป็นอันมาก ฆ่าแล้วก็ถอดเอาเสื้อกางเกงตัดเอาไถ้ แล้วผ่าท้องค้นเอาเงินในไส้พุง ลางคนก็ได้บ้าง เกิดเป็นผลประโยชน์ขึ้นพิเศษ ที่รอดหนีลงมาถึงเมืองชลบุรีได้ พระยาชลบุรีก็ให้จับฆ่าเสีย
พวกจีนตายครั้งนั้นหลายพัน ศพลอยในลำน้ำเมืองฉะเชิงเทราติดเนื่องกันไปทุกคุ้งน้ำ จะนับประมาณมิได้”

ลาวพนัสนิคม อารักขาเจ้าฟ้ามงกุฎ

พ.ศ. 2394 พระอินทรอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม คุมลาวเป็นกองกำลังอารักขาเจ้าฟ้ามงกุฎ วัดบวรนิเวศฯ เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็น ร.4 หลัง ร.3 สวรรคต มีพรรณนาในพระราชพงศาวดารฯ จะคัดมาโดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านสะดวก ดังนี้
“ครั้นมาถึง ณ วันพุธเดือน 4 แรม 8 ค่ำ ท่านเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม ให้จมื่นราชามาตยพลขันธ์ไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์พงศ์อดิศรกษัตริย์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จครองศิริราชสมบัติ จะโปรดรับหรือมิโปรดขอให้ทราบด้วย
จึ่งมีรับสั่งว่า ท่านผู้หลักผู้ใหญ่พร้อมใจกันอัญเชิญแล้วก็จะต้องรับ
เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบกระแสรับสั่งแล้ว จึงสั่งขุนอักษรสมบัติ เสมียนตรากรมท่า คุมทหารปืนปากน้ำนาย 1 พระนนทบุรี คุมเลขทหารปืนปากน้ำนาย 1 พระอินทรอาษา คุมลาวเมืองพนัศนิคมนาย 1 รวม 3 นาย ไปตั้งกองจุกช่องล้อมวงนั่งยามตามเพลิงรักษาอยู่รอบวัด มิให้ผู้คนแปลกปลอมเข้าไปได้”

อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
สมัย ร.5 เมืองพนัสนิคม เปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอพนัสนิคม ขึ้นกับจังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. 2441 สืบจนทุกวันนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image