นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย – ไทยพร้อมร่วมมือทุกมิติ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย สมัยพิเศษ ที่ศูนย์การประชุมโรงแรม Radisson Blu and Congress Centre โดยก่อนการประชุมนายกรัฐมนตรีได้ร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุม โดย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย นายกรัฐมนตรียินดีที่จะสนับสนุนการรับรองปฏิญญาโซชิ ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ก้าวหน้า มีความเข้าใจและเคารพในหลักการสำคัญของแต่ละฝ่าย รวมทั้งพร้อมที่จะเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และความเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันบนพื้นฐานของความมั่นคงและมั่งคั่ง และการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย ปี2559 – 2563 รวมทั้งสนับสนุนการนำข้อเสนอแนะจากรายงานกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิอาเซียน-รัสเซียมาใช้เป็นแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯ ยืนยันว่าไทยสนับสนุนให้รัสเซียมีความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติที่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับอาเซียนไทยอยากเห็นรัสเซียมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อให้ภูมิภาคนี้มีความมั่นคงและก้าวหน้า และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสนับสนุนสถาปัตยกรรมทางภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) หากรัสเซียมีบทบาทที่สร้างสรรค์และพร้อมที่จะสนับสนุนอาเซียน รัสเซียจะสามารถช่วยสร้างความสมดุลมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการนี้ ไทยสนับสนุนการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียสู่ระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในอนาคต โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่รัสเซียมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียนและนโยบายของอาเซียนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

“ด้านการเมืองและความมั่นคง ไทยและอาเซียนให้ความสำคัญกับการป้องกันและรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และมองรัสเซียเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่จะช่วยอาเซียนเผชิญหน้ากับภัยคุกคามดังกล่าว ไทยสนับสนุนความร่วมมือในการแก้ไขประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการต่อต้านการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง โดยปีที่แล้ว อาเซียนได้ออกปฏิญญาว่าด้วยขบวนการผู้ยึดถือทางสายกลางระดับโลก และในกรอบของ EAS ได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยการต่อต้านลัทธิสุดโต่งที่มีความรุนแรง เพื่อเน้นย้ำว่าการก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้”

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯ ย้ำว่าไทยสนับสนุนหลักขันติธรรมและแนวคิดสายกลางเพื่อต่อต้านลัทธิสุดโต่งที่เป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรม นอกจากนี้ ไทยเห็นว่า การขยายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองอย่างรวดเร็วและเป็นระบบจะเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันเหตุความรุนแรง โดยอาจดำเนินการภายใต้กลไกเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกับรัสเซียด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งนี้การแก้ไขปัญหายาเสพติดยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ไทยและอาเซียนให้ความสำคัญ โดยไทยสนับสนุนให้อาเซียนและรัสเซียขยายความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด รวมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัสเซียขยายความร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. อาเซียน (ASEAN Narcotics Cooperation Centre – ASEAN-NARCO) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตปลอดยาเสพติดอาเซียนในอนาคตนายกรัฐมนตรีเห็นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการต่อต้าน ป้องกัน และปราบปรามภัยคุกคามทางไซเบอร์จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถมีผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านการเมืองและสังคม และการดำเนินการค้าและธุรกิจที่อาศัยผ่านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทั้งอาเซียนและรัสเซียควรส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องนี้ เช่น การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ชนิดต่าง ๆ

Advertisement

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ในด้านเศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการเชื่อมโยงเข้ากับภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิก และสนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยงทางคมนาคม เศรษฐกิจ และระหว่างประชาชน ไทยยินดีที่รัสเซียแสดงความสนใจต่อการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างความเชื่อมโยงของอาเซียน และพร้อมที่จะสนับสนุนและขยายแนวทางความร่วมมือในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ ความร่วมมือควรนำไปสู่ผลที่เป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง โดยเฉพาะระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และระบบโลจิสติกส์ที่ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางตะวันออกของรัสเซียด้วย แม้ว่ามูลค่าทางการค้าระหว่างอาเซียนกับรัสเซียในปัจจุบันยังไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ดีเชื่อว่า มูลค่าการค้าและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นได้ หากเราร่วมกันขยายความร่วมมือในการขจัดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี ใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคการธนาคารและการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่มีหลักประกันและต้นทุนต่ำของภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย

รองโฆษกฯ ระบุว่า นอกจากนี้ นายกฯเห็นว่า เราควรสนับสนุนความร่วมมือด้านการเกษตร โดยเฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยทางอาหาร และโภชนาการ รวมทั้งการบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความมั่นคงอาหารและการปรับตัวของภาคการเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อคำนึงถึงแนวโน้มที่ทรัพยากรธรรมชาติจะขาดแคลนมากขึ้น กอปรกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นอีกประเด็นความร่วมมือที่อาเซียนและรัสเซียควรส่งเสริม ไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ที่นครนิวยอร์ก และในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 กับการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) มาปฏิบัติ หวังว่า รัสเซียจะสามารถมีความร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของมนุษย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image