พบหลักฐาน ดาวเคราะห์น้อย ขนาด 30 กิโลเมตร เคยพุ่งชนโลก เมื่อ 3.4 พันล้านปี

1.ภาพในจินตนาการการชนของดาวเคราะห์น้อยขนาด 10 กิโลเมตรเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ดาวเคราะห์น้อยที่ชนโลกที่ออสเตรเลียตามหลักฐานที่พบล่าสุดมีขนาดใหญ่กว่านี้ 2-3 เท่า (จาก Don Davis/Southw)

พบหลักฐานดาวเคราะห์น้อยขนาด 30 กิโลเมตรชนโลกเมื่อ 3.4 พันล้าน

รายงานข่าวแจ้งวว่า พบหลักฐานของดาวเคราะห์น้อยขนาด 20-30 กิโลเมตร พุ่งชนโลกเมื่อ 3.5 พันล้านปีก่อน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย พลังงานจากการชนรุนแรงยิ่งกว่าระเบิดนิวเคลียร์เป็นล้านลูก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ที่รุนแรงในระดับที่พลิกโฉมธรณีวิทยาของโลกเลยทีเดียว

หลักฐานนี้ค้นพบโดย แอนดรู กลิกสัน และอาร์เทอร์ ฮิกแมน จากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียนเนชันนัลหรือเอเอ็นยูในขณะที่ขุดสำรวจอยู่ในในออสเตรเลีย ทั้งสองได้พบตะกอนที่เก่าแก่ที่สุดตัวอย่างหนึ่งในโลกที่ประกบด้วยชั้นของละอองแก้วที่เรียกว่าเม็ดกลมเล็ก ซึ่งเป็นแก้วที่เกิดจากไอระเหยของวัสดุที่กระเด็นออกมาจากการพุ่งชน

“พลังงานจากการพุ่งชนทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงยิ่งกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเองบนโลกหลายเท่า” ดร.กลิกสัน จากสถาบันดาวเคราะห์ของเอเอ็นยูกล่าว

Advertisement

โดยหลักฐานการชนที่พบในครั้งนี้เป็นหลักฐานที่เก่าแก่เป็นอันดับสองเท่าที่เรารู้จัก และเป็นการชนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งด้วย คาดว่าดาวเคราะห์น้อยที่ชนโลกในครั้งนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20-30 กิโลเมตร นั่นหมายความว่ามีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์น้อยที่ชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อนที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ถึง 2-3 เท่า

เม็ดกลมเล็กที่ฝังอยู่ในชั้นตะกอน เกิดขึ้นจากการชนของดาวเคราะห์น้อย (จาก A. Glikson/Australian National University)
เม็ดกลมเล็กที่ฝังอยู่ในชั้นตะกอน เกิดขึ้นจากการชนของดาวเคราะห์น้อย (จาก A. Glikson/Australian National University)

การชนในครั้งนั้นย่อมทำให้เกิดหลุมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายร้อยกิโลเมตร แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะพบหลุมนั้นในปัจจุบัน ร่องรอยของหลุมที่มีอายุมากขนาดนั้นย่อมเลือนหายไปนานแล้ว ดังนั้นการจะหาจุดถูกชนที่แน่นอนจึงทำไม่ได้ แต่การชนทำให้วัสดุสาดกระเด็นออกไปทั่วโลก มีการพบเม็ดกลมเล็กปะปนอยู่กับตะกอนที่ก้นทะเลที่มีระบุอายุได้ว่าเก่าแก่ถึง 3.46 พันล้านปี

ตัวเลข 3.46 พันล้านปีมีนัยสำคัญ เนื่องจากใกล้เคียงกับยุคที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ยุคชนกระหน่ำครั้งหลัง” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง 4.1 ถึง 3.8 พันล้านปีที่แล้ว ช่วงเวลานี้คือยุคที่โลก ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะชั้นในถูกชนกระหน่ำด้วยดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ดาวเคราะห์ยักษ์ที่อยู่รอบนอกมีการเคลื่อนย้ายวงโคจร ส่งแรงดึงดูดรบกวนให้วัตถุในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักและแถบไคเปอร์เสียสมดุลและเบี่ยงทิศทางการเคลื่อนที่เข้ามายังระบบสุริยะชั้นในซึ่งโลกอาศัยอยู่

ภาพถ่ายของคาบสมุทรยูกาตันจากดาวเทียม แสดงหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบอันเลือนลางที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อยชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน หลุมที่มีอายุนับพันล้านปีย่อมถูกลบเลือนไปโดยกาลเวลาไปนานแล้ว (จาก NASA/JPL)
ภาพถ่ายของคาบสมุทรยูกาตันจากดาวเทียม แสดงหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบอันเลือนลางที่เกิดจากดาวเคราะห์น้อยชนโลกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน หลุมที่มีอายุนับพันล้านปีย่อมถูกลบเลือนไปโดยกาลเวลาไปนานแล้ว (จาก NASA/JPL)

หลักฐานของยุคชนกระหน่ำครั้งหลังมาจากการสำรวจอายุของหินที่พบบนดวงจันทร์ที่นำกลับมายังโลกโดยนักบินอวกาศในโครงการอะพอลโล นักวิทยาศาสตร์พบว่าหินจากดวงจันทร์ส่วนใหญ่มีอายุไล่เลี่ยกันอยู่ในช่วงแคบ ๆ จึงชื่อว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ดวงจันทร์ถูกชนจากดาวเคราะห์น้อยถี่กว่าปกติ จึงเรียกกันว่า “ยุคชนกระหน่ำครั้งหลัง”

โลกเราซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันก็ย่อมพบกับชะตากรรมเดียวกัน แต่บนโลกมีกิจกรรมทางธรณีวิทยาเช่นภูเขาไฟและการเลื่อนของแผ่นทวีปที่คอยลบเลือนรอยถูกชนให้หายไปตามกาลเวลา มีเพียงตะกอนจากวัสดุที่เป็นผลพวงจากการชนนั้นที่ยังเหลือเป็นหลักฐาน

เป็นเวลา 20 ปีมาแล้วที่คณะของกลิกสันและฮิกแมนเฝ้าค้นหาหลักฐานของการพุ่งชนดึกดำบรรพ์ คณะนี้ได้พบการชนที่มีอายุมากกว่า 2.5 พันล้านปีมาแล้ว 17 ครั้ง แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตัวเลขนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมีอยู่ถึงหลายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image