ผุดไอเดีย บ.เอกชน จ้างคนเกษียณทำงาน ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าแพคเกจดูแลสังคมผู้สูงอายุนั้น ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังศึกษาแนวทาง ยังไม่สรุป เรื่องนี้ไม่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องสรุปให้ได้โดยเร็ว แนวทางกำลังศึกษามีทั้งจำกัดผู้จะรับเบี้ยยังชีพคนชราว่าต้องมีรายได้ 9 พันบาท มีทรัพย์สินไม่เกิน 3 ล้านบาท ตรงนี้เป็นแนวคิด ยังไม่สรุปว่าจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านพอสมควร รวมถึงยังมีแนวคิดจะให้เอกชนว่าจ้างผู้สูงอายุ แทนที่จะให้เกษียณ 60 ปี รัฐจะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทเอกชนจ้างผู้สูงอายุทำงาน รวมถึงการใช้ที่ดินราชพัสดุมาสร้างบ้านให้ผู้สูงอายุอยู่ และให้ผู้สูงอายุนำบ้านมาเปลี่ยนเป็นเงินรายเดือน เพื่อนำไปใช้ช่วงบั้นปลายของชีวิต แนวทางทั้งหมดนั้นยังเป็นเพียงแค่วุ้นไม่เป็นรูปเป็นร่าง แนวทางดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดข้างต้นเป็นโจทย์ที่ สศค.ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษา มีเป้าหมายคือลดภาระรัฐในอนาคต เพราะคาดว่าจะต้องใช้เงินดูแลคนชรามากขึ้น เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนชรา คาดว่าจะต้องใช้เวลาพิจารณาอีกสักระยะหนึ่ง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการดูแลผู้สูงอายุนั้น จะมีโครงการเสนอเป็นแพคเกจ ทั้งสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ หรือรีเวิร์ส มอร์ทเกจ (Reverse Mortgage) จูงใจให้บริษัทเอกชนจ้างผู้สูงอายุให้ทำงานนำมาหักภาษีได้ บ้านคนชรา ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างลงรายละเอียดในระดับปฏิบัติงาน และยังไม่ได้เสนอมายังฝ่ายนโยบาย แต่เพียงได้มีการคุยเรื่องไอเดียให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปบ้างแล้ว

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรพร้อมดูแลผู้สูงอายุตามนโยบายของกระทรวงการคลัง ด้วยการเปิดทางให้องค์กรที่จ้างผู้สูงอายุนำค่าใช้จ่ายสำหรับจ้างผู้สูงอายุเข้าทำงานหลังเกษียณอายุทำงาน 60 ปี มาหักลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมยกร่างกฎหมายเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือสังคม เพราะคนอายุ 60 ปีในปัจจุบันยังแข็งแรง และทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคมได้อีกมาก แทนที่จะปล่อยให้ออกจากงาน และรับเบี้ยชราอย่างเดียว เมื่อนำกลับมาใช้งานจะเป็นโยชน์ต่อองค์กร โดยในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

นายประสงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมสรรพากรเตรียมแยกกลุ่มธุรกิจออกเป็น 10-12 กลุ่ม เพื่อสะดวกในการแยกประเภทการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล เบื้องต้นนำร่องจัดกลุ่ม 5 กลุ่ม โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาวิชาชีพทางบัญชี เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการบริการ เพื่อต้องการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เช่น กลุ่มผลิตสินค้า มีรายจ่ายบางรายการไม่มีหลักฐานใบเสร็จ ต้องให้คำแนะนำว่าต้องลงบัญชีอย่างไร การกู้เงินจากสถาบันการเงินในนามส่วนตัว แต่ได้นำเงินมาใช้ในธุรกิจของบริษัท จึงต้องแนะนำให้ลงบัญชีอย่างถูกต้อง กรมสรรพากรเตรียมนำมาใช้กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านทองในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ แต่การนำร่อง 5 กลุ่ม จะเริ่มในเดือนมิถุนายนนี้ เนื่องจากในเดือนพฤษภาคมปีนี้ เป็นปีที่ผู้สอบบัญชีต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านระบบมาใช้ระบบบัญชีเดียวตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งทรัพย์สินเป็นสินค้าไม่เคยลงบัญชีต้องนำมาลงให้หมด ทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ หรือบัญชีธนาคารนำมารวมทั้งหมด เมื่อแนวโน้มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลถูกลงเรื่อย และหากลงบัญชีอย่างถูกต้อง ทำตรงไปตรงมา จะประหยัดภาษีมากกว่าในปัจจุบัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image