2ปี’คสช.’ สัญญาณ’ปรองดอง’เออร์เร่อ

การรัฐประหารและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ สร้างกติกา ลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองให้คนในชาติ

จากวันนั้นถึงวันนี้ การใช้กฎหมายเข้มข้นเช่นมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวควบคุมสถานการณ์บ้านเมือง

กระนั้นรัฐบาลและ คสช.ถูกท้วงติงอยู่ร่ำไป ต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากผู้เห็นต่างถูกปิดกั้น และบ่อยครั้งที่ คสช.เรียกผู้เห็นต่างมาพูดคุย ปรับทัศนคติ ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งมิตรประเทศอย่างสหรัฐต้องออกมาแอ๊กชั่นกดดันอยู่เรื่อยๆ เพราะสิ่งที่ประชาชนคนไทยคาดหวังมากหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็คือ การสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน แต่รัฐบาลก็ยืนยันถึงความจำเป็นในช่วงจัดระเบียบเปลี่ยนผ่าน

โพลหลายสำนักระบุตรงกันว่า นอกจากประชาชนจะต้องการให้รัฐบาลและ คสช.ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจเรื่องปากท้องให้ดีขึ้นแล้ว การสร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง เป็นอีกเรื่องหลักที่ประชาชนอยากเห็นหลังรัฐประหาร เพราะนั่นหมายถึงการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างยั่งยืน

Advertisement

นับตั้งแต่ คสช.เข้ามา มีผู้เสนอแนวทางการปรองดองหลากหลาย เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นายวันชัย สอนศิริ เมื่อครั้งยังเป็นสมาชิก สปช. ได้เสนอทางออกประเทศ โดยแนะนำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เจรจากับคนแดนไกลอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะเชื่อว่า หากไม่พูดคุยกับ “ทักษิณ” ปัญหาบ้านเมืองไม่มีทางจบสิ้น

ขณะที่ “ทักษิณ” ก็มีข่าวออกมาหนาหูว่าต้องการเจรจาเช่นเดียวกัน แต่การพูดคุยต้องมีเงื่อนไข 1.ขอให้คนที่มาเจรจามีอำนาจในการพูดคุย และมีอำนาจในการตัดสินใจทุกเรื่อง สามารถเห็นผลได้ในเชิงปฏิบัติ 2.ต้องดูเงื่อนไขในการพูดคุยว่าเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ 3.หากเจรจาได้ ต้องดูระยะเวลาในการดำเนินการด้วย

ต่อมาแนวคิดการเจรจาพูดคุยกับ “ทักษิณ” ได้รับความสนใจในวงกว้าง มีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้านหลากหลาย จนถึงที่สุด “วันชัย” ต้องยอมถอย พับเก็บไอเดียอันบรรเจิดนี้ไป เมื่อ “บิ๊กตู่” ประกาศจะไม่ยอมพูดคุยกับนักโทษหนีคดี หาก “ทักษิณ” ต้องการให้พิสูจน์ความจริง จะต้องเข้ามาพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม

Advertisement

ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2558 นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สปช. เสนอแนวทางซึ่งค่อนข้างมีแบบแผนขั้นตอนและมีเหตุผลที่สุด โดยได้เสนอผลการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง 6 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุความขัดแย้ง 2.การแสวงหาและเผยแพร่ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง 3.การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดชอบและการอภัย เช่น การนิรโทษกรรม 4.การเยียวยาดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ 5.การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน 6.มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 6 แนวทาง จะอยู่ในช่วงปี 2548-2557 แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ระดับผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งต้องมีการแบ่งแยกผู้กระทำผิดเป็น 3 ประเภทคือ 1.ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 2.ผู้กระทำผิดในคดีอาญาโดยเนื้อแท้ เช่น ฆ่าคนตาย การมีอาวุธในครอบครอง 3.ผู้กระทำผิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และคดีอาญาโดยเนื้อแท้

ส่วนการนิรโทษกรรมระดับแกนนำและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสั่งการ ควรกระทำหลังจากที่นิรโทษกรรมในระดับประชาชนและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไปแล้ว 1 ปี และจะทำได้ก็ต่อเมื่อแกนนำแสดงความสำนึกผิด และมีข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคมแล้ว เหยื่อต้องให้อภัย และการนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงคดีทุจริต คดีอาญา คดีมาตรา 112 และคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรในเวลานั้น ทำให้เจ้าของไอเดียต้องเก็บแผนพับกลับบ้านไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ “เอนก” และชาวคณะ นำผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองมาเคาะสนิม ปัดฝุ่น ปรับปรุง แก้ไข เพื่อเตรียมเสนอภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้

2 ปีที่ผ่านมา แนวทางยุติปัญหาการเมืองไทยที่มีมายาวนาน มีผู้เสนอทางออกจำนวนมาก ทั้งฝ่ายนักการเมือง กลุ่มการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ฯลฯ แต่การดำเนินการไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมและไม่มีทีท่าว่าจะมีวิธีการใดมาสร้างความปรองดอง

และล่าสุดเดือนพฤษภาคมนี้เอง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ได้มีข้อเสนอแนวทางปรองดองต่อรัฐบาล 2 ระดับ

1.การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายรัฐ เช่น คดีความผิดเล็กน้อยหรือมีเจตนาไม่ร้ายแรง อาจมีนโยบายของรัฐไม่ดำเนินคดีต่อ เช่น การใช้มาตรา 44 การถอนฟ้อง

2.การแก้ปัญหาโดยตัวกฎหมาย จะใช้วิธีการออก พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.รอการกำหนดโทษ เพื่อความปรองดอง เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสินคดีหรือฟังคำพิพากษา จะใช้กับคดีที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีแกนนำบุกยึดสถานที่ราชการ การปิดสนามบินหรือสี่แยกต่างๆ ที่เป็นอุดมการณ์ต่อสู้ทางการเมือง แต่ทำเลยเถิด ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมตามมา

แต่เงื่อนไขดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ต้องเอ่ยปาก เพราะฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย (พท.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) นปช. กปปส. ต่างออกมารุมสวดยับ พร้อมใจไม่รับข้อเสนอ เพราะเงื่อนไขการเข้าสู่กฎหมายรอการกำหนดโทษนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับสารภาพว่าตัวเองกระทำผิดในชั้นศาลก่อน หลังจากได้รับการรอการกำหนดโทษแล้ว จะมีมาตรการอื่นๆ มาควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก

อาทิ การห้ามชุมนุมการเมือง การห้ามปลุกปั่นก่อความวุ่นวาย รวมถึงอาจตัดสิทธิการเมืองตลอดไป ข้อห้ามเหล่านี้จะกำหนดไปตลอดชีวิต ไม่มีอายุความ หมายความว่าจะถูกคาดโทษติดตัวไปตลอดชีวิต หากใครฝ่าฝืนข้อห้ามรอการกำหนดโทษจะถูกเรียกตัวมาฟังคำพิพากษาในคดีเดิมเพื่อลงโทษทันที มาตรการรอการกำหนดโทษจึงแตกต่างจากการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมไม่มีข้อห้ามต่างๆ มาควบคุมหลังจากได้รับการนิรโทษกรรมแล้ว

ตลอด 2 ปีภายหลังยึดอำนาจ แม้มีหลายฝ่ายเสนอแนวทางการศึกษาวิจัย หรือแนวทางที่คาดคิดว่าจะนำไปสู่ความปรองดอง แต่รัฐบาลยังไม่มีการตัดสินใจเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือเสนอแนวทางใหม่ เพราะเห็นว่าทุกปัญหาต้องได้รับการแก้ไขโดยกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงได้เรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ข้างเดียวหรือคนละฝั่งกับรัฐบาลเดินหน้าต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

ในความเห็นของนักวิชาการอย่าง รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการจะสร้างความปรองดองไม่สามารถสั่งให้คนคิดเหมือนกันได้ เพราะสังคมย่อมมีทางเลือก สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรที่จะป้องกันการนำความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรง ซึ่งการรักษากฎหมาย ไม่ให้ร้ายกัน คือจุดเริ่มต้นของการปรองดอง ทั้งนี้ เมื่อ คสช.สามารถรักษากฎหมายได้ ความสงบจึงเกิดขึ้น ทำให้สังคมปราศจากความรุนแรงได้ แต่ตอบไม่ได้ว่าหลังจากนี้บรรยากาศความปรองดองจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลและ คสช.

“อย่างที่ กกต.เชิญนักการเมืองมาฟังคำชี้แจง เขาก็มาร่วม แต่มันต้องไม่ใช่แค่เอาเขามาฟังเฉยๆ แต่ต้องมีการตอบสนอง เพื่อให้เขารับรู้ว่าที่พูดคุยกันนั้นมีค่า ถ้าคุยแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น วันหลังนักการเมืองคงไม่ไป” รศ.สุขุมย้อนไปถึงสโมสรกองทัพบกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

คงต้องรอดูหลังจากนี้ว่า คสช.จะสร้างสันติสุขด้วยวิธีการใด ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ย้ำหลายรอบแล้วว่า ความปรองดองต้องเกิดขึ้นภายในปี 2560 หรือก่อนการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image