บทเรียนจาก “อดีต” พฤษภาคม 35 พฤษภาคม 53 เหตุการณ์ ไม่เปลี่ยน

บทเรียนจาก "อดีต" พฤษภาคม 35 พฤษภาคม 53 เหตุการณ์ ไม่เปลี่ยน

บทเรียนจาก “อดีต” พฤษภาคม 35 พฤษภาคม 53 เหตุการณ์ ไม่เปลี่ยน

ไม่ว่าสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ไม่ว่าสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ล้วนมากด้วย “บทเรียน”

ประเด็นอยู่ที่ว่าจะ “ศึกษา” อย่างไร

คำว่าศึกษาอย่างไร ไม่เพียงแต่จะเป็นการศึกษาบนพื้นฐานแห่ง “วิธีวิทยา” แบบใดเท่านั้น หากแต่ยังขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการศึกษาเพื่ออะไร

1 ต้องทำความเข้าใจในเรื่องของ “สาเหตุ”

Advertisement

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดก็คือ จะต้องหาบทสรุป ประมวล วิเคราะห์และชี้ให้เห็นถึง “ผล” ว่าดำเนินไปอย่างไร

อย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่า “ศึกษาเป็น ใช้เป็น”

กระบวนการของ “การศึกษาเป็น” นำไปสู่ความเข้าใจอย่างใกล้เคียงกับสภาพ “ความเป็นจริง” กระบวนการของ “การใช้เป็น” เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า แท้จริงแล้ว ในการศึกษามิได้เป็นการศึกษาเพื่อศึกษา หากเป้าหมายอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ อยู่ที่เป็นการศึกษาเพื่อเก็บรับเอามาเป็น “บทเรียน” เพื่อมิให้ต้องทำความผิดพลาด ซ้ำซาก

Advertisement

ประวัติศาสตร์อาจ “ซ้ำรอย” ได้ แต่หากซ้ำรอยหลายรอบก็น่าสงสัยอย่างยิ่ง

พฤษภาคม 2535

อะไรคือ สาเหตุ

คล้ายกับสาเหตุ 1 มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่าง และสาเหตุ 1 มาจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

แท้จริงแล้วสาเหตุนี้เสมอเป็นเพียง “ปลายเหตุ”

ต้นเหตุอย่างแท้จริงมาจากการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารโดย รสช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 มากกว่า

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 เสมอเป็นเพียง “มูลเชื้อ”

เป็นมูลเชื้อเพราะเท่ากับยืนยันว่าเป็นการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาประกาศและบังคับใช้เพื่อการสืบทอดอำนาจ

เมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ก็ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่น

ความไม่พอใจต่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 จึงแสดงออกอย่างรวมศูนย์ในเหตุการณ์อันเริ่มจากเดือนเมษายนและปะทุเป็นความรุนแรง เหี้ยมโหด ในเดือนพฤษภาคม 2535 จากหลากหลายกลุ่มในทางการเมือง

มิได้ทำเพื่อล้างแค้นให้กับการถูกโค่นล้มของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หากแต่เป็นผลจากความไม่พอใจที่พัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตยสะดุดอย่างไม่ควรจะสะดุด

เป็นปฏิกิริยาโดยตรงต่อ “กองทัพ” ที่เข้ามาเล่นนอกบทกับ “ประชาธิปไตย”

พฤษภาคม 2553

อะไรคือ สาเหตุ

คล้ายกับสาเหตุแห่งสถานการณ์ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนเมษายนและจบลงในเดือนพฤษภาคม 2553 จะเป็นการปะทะกันระหว่าง 2 กลุ่มพลังในทางการเมือง

1 คือพรรคประชาธิปัตย์ และ 1 คือพรรคเพื่อไทย

แต่หากสาวลึกลงไปอย่างถึงแก่นทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นสำคัญ

รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต้องการกำจัดพรรคไทยรักไทย

ไม่ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตหรือที่เรียกว่า “คตส.” ไม่ว่าการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป้าหมายก็เพื่อกำจัดและขจัดอิทธิพลของพรรคไทยรักไทยเป็นสำคัญ

การเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนอันเป็นอวตารพรรคไทยรักไทยกำชัย

จึงต้องมีปฏิบัติการ 1 การยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบิน โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1 การยุบพรรคพลังประชาชน

แล้วจากนั้นจึงจัดตั้งรัฐบาลใน “ค่ายทหาร” ให้พรรคประชาธิปัตย์

การเคลื่อนไหวในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ของ นปช.คนเสื้อแดงก็เพื่อเป็นการตีโต้ต่อรัฐบาลอันเป็น “นอมินี” ให้กับขบวนการรัฐประหาร แต่เมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ผนึกพลังการเมือง การทหารเข้ากับขบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

สถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 จึงแตกต่างไปจากสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535

บทเรียน การเมือง

จาก 2535 ถึง 2553

สถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 พลังของพรรคการเมืองกับพลังของขบวนการรัฐประหารมิได้ผนึกอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

เมื่อการเคลื่อนไหวของประชาชนเติบใหญ่ก็นำไปสู่ความแตกแยก

กลุ่มการเมืองอันเคยเป็นฝ่ายเดียวกับขบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก็เริ่มแยกและแตกตัวออกมา

ปัจจัยม็อบประสานเข้ากับปัจจัย “ภายใน” กลุ่มอำนาจนำไปสู่การบีบให้คณะรัฐประหาร รสช. ที่แม้จะยึดกุมกำลังในกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก ไม่ว่าจะเป็นกองทัพเรือ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพอากาศ จำเป็นต้องถอย

เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลภายใน “กองทัพ” ระดับหนึ่ง

สถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยังสามารถรักษาอำนาจต่อไปได้โดยการค้ำยันของกองทัพ แต่เมื่อเข้าสู่สถานการณ์เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยก็กำชัยเหนือพรรคประชาธิปัตย์

สะท้อนว่า “ประชาชน” เชื่อมั่นต่อพรรคเพื่อไทย และให้ “บทเรียน” แก่พรรคประชาธิปัตย์

บทสรุป การเมือง

พฤษภาคม 2559

แท้จริงแล้ว รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

การปะทะและต่อสู้ในทางการเมืองอย่างคงเหมือนเดิม เพราะว่าเป้าหมายของรัฐประหารก็ยังเป็นเป้าหมายเดิม เพราะพรรคเพื่อไทย คืออวตารพรรคพลังประชาชน คืออวตารพรรคไทยรักไทย

กลุ่มที่ยึดกุมอำนาจจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ยังเป็นกลุ่มที่ทะยานขึ้นมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และมีส่วนอย่างสำคัญในสถานการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 เพียงแต่ปัจจุบันได้มาอยู่ในจุดอันเป็นรัฐบาล

แนวรบเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับแนวรบในเดือนพฤษภาคม 2559 เหตุการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image