หยั่งกระแสประชามติ เฮอริเคน-ปัจจัยที่แตกต่าง

ครบ 2 ปีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย่างเข้าสู่ปีที่ 3

หัวใจของสถานการณ์ในระยะนี้ ได้แก่ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

รัฐบาล คสช.และ กรธ.คาดหวังให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ 7 ส.ค. นี้ให้ได้ จึงใช้ช่องทางต่างๆ ผลักดันเต็มที่

การใช้พลังเยาวชน นักศึกษาวิชาทหาร หรือ รด. ลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนและเชิญชวนให้ไปออกเสียงประชามติ

Advertisement

การอบรมวิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย หรือ ครู ก. ครู ข. ครู ค. หลังจากที่ กรธ.ได้เปิดอบรมครู ก.ที่เป็นตัวแทนจากแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 5 คนไปแล้ว

จากนั้น ครู ก.จะทำหน้าที่ในการทำความเข้าใจกับครู ข.และครู ข.ทำความเข้าใจกับครู ค. เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ

และครู ค.จะทำหน้าที่เดินตามบ้าน เคาะประตูบ้านทำความเข้าใจกับประชาชนในแต่ละพื้นที่

Advertisement

กรธ.เอง แบ่งเป็น 9 กลุ่มจังหวัด และแบ่ง กรธ.ลงพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำแก่ ครู ก. กลุ่มจังหวัดละ 2-3 คน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม

เพื่อลงพื้นที่ร่วมกับ กรธ.ด้วยเช่นกัน เพื่อไปชี้แจง ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับคำถามพ่วงที่ สนช.เป็นผู้เสนอ กับคำถามที่ว่า ให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเห็นชอบร่วมกันของรัฐสภาหรือไม่

ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงใหญ่ที่ใกล้ชิดประชาชน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ต่างเข้ามามีบทบาท

นอกจากระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนแล้ว ยังออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

เป็นกฎเหล็กสกัดไม่ให้มีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดโทษอีกด้วย

มาตรา 61 ของ พ.ร.บ.นี้ระบุว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่

โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

โทษสำหรับผู้ก่อความวุ่นวาย มีทั้งปรับ จำคุก และตัดสิทธิทางการเมือง

ปมสำคัญอยู่ที่ข้อกำหนดต่างๆ ไม่ชัดเจน ว่าการกระทำอย่างไรเป็นความผิด

ใช้ความกำกวมมาเบรกการเคลื่อนไหวของกลุ่มเห็นต่าง

และเชื่อกันว่า จะทำให้เกิดการร้องเรียนอย่างถล่มทลาย ราวกับพายุเฮอริเคนกระหน่ำ

จะกระทบต่อการลงประชามติ หรือผลประชามติอย่างไร

ประกอบกับก่อนหน้านี้ คสช.ออกคำสั่ง คสช.ที่ 13/2559 ให้อำนาจทหารยศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ดำเนินการต่อผู้กระทำผิดได้

เป็นสภาพที่ไม่เอื้อต่อการคิดต่างเท่าไหร่นัก

ขณะที่กลุ่มสนับสนุน ได้แก่ เครือข่ายรัฐบาล แม่น้ำ 3-4 สาย และกลุ่มมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงออกได้อย่างชัดเจน

ที่ประเมินได้ยาก คือ พลังเงียบŽ ยังไม่มีใครคาดเดาได้ออกมาออกเสียงแบบใด

และกลุ่มนี้ สุดท้ายแล้วจะคล้อยตามความเห็นของฝ่ายไหน

กลุ่มไม่เห็นด้วย ที่แสดงออกชัดเจน อย่างพรรคเพื่อไทย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปกติมีน้ำเสียงที่ดีต่อคณะทหาร เที่ยวนี้ออกอาการชัดกับการไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง

กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่เป็นกลุ่มปัญญาชนและนิสิตนักศึกษา ที่เพิ่งมีการจัดกิจกรรมครบ 2 ปี คสช. ก็ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จะไม่ใช่กลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมือง แต่เนื่องจากเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ จึงสร้างผลสะเทือน ทำให้หลายฝ่ายต้องเงี่ยหูฟังว่า พวกเขามีข้อเสนออย่างไร

ใครโน้มน้าวพลังเงียบได้ และพลังเงียบไปทางไหน ย่อมกำหนดชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญมีชัยได้ทันที

ย้อนกลับไปที่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

พรรคประชาธิปัตย์ รณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง

ส่วนพรรคไทยรักไทย หรือพรรค

เพื่อไทยในปัจจุบัน รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ต่างประกาศตัวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และมีการรณรงค์ทั้งโนโหวต (ไม่ไปใช้สิทธิ)

และโหวตโน (ไม่รับ)

ขณะที่รัฐบาลขณะนั้นออกแรงดันเต็มที่

ผลการลงคะแนนประชามติในวันที่ 20 สิงหาคม 2550 ผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 45,092,955 ผู้มาใช้สิทธิ 25,978,954 คิดเป็นร้อยละ 57.61 มีผู้ไม่มาใช้สิทธิ 19,114,001 คิดเป็นร้อยละ 42.39

เห็นชอบ 14,727,306 คิดเป็นร้อยละ 57.81

ไม่เห็นชอบ 10,747,441 คิดเป็นร้อยละ 42.19 รวม 25,474,747

ส่วนบัตรเสีย/คืนบัตร 504,207

คิดเป็นร้อยละ 1.94 ของบัตรทั้งหมด 25,978,954 ใบ

คะแนนเห็นชอบและไม่เห็นชอบ ต่างกันอยู่ 3,979,895 คะแนน

ต่างจากปัจจุบัน พรรคการเมืองหลัก

ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

มีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน

ทำให้มีแนวโน้มว่าฐานเสียงของพรรคการเมือง อาจโหวตไปในทางเดียวกับพรรคที่ตัวเองนิยม

อีกปัจจัยหนึ่ง ก็คือ ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง มากกว่าปี 2549 มาก

ตัวเลขล่าสุด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สัญชาติไทย อายุครบ 18 ปี ในวันออกเสียงประชามติใน

วันที่ 7 สิงหาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 50,585,118 คน

เป็นชาย 24,465,842 คน เป็นหญิง 26,119,276 คน

มากกว่าปี 2549 ถึง 5 ล้านคน

แสดงว่า จะมีคนรุ่นใหม่ ประเดิมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ใช้สิทธิครั้งแรกเป็นจำนวนหลายล้านคน

สภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากประชามติ 2549 หลายประการ

จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

ยังไม่มีใครกล้าให้คำตอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image