คุยเจน 3 นันยาง ทุกก้าว คือ ตำนาน เปิดตัว “ชูก้าร์” ถีบยอดจำหน่ายพุ่งกระฉูด

คุยเจน 3 นันยาง ทุกก้าว คือ ตำนาน เปิดตัว "ชูก้าร์" ถีบยอดจำหน่ายพุ่งกระฉูด

คุยเจน 3 นันยาง ทุกก้าว คือ ตำนาน เปิดตัว “ชูก้าร์” ถีบยอดจำหน่ายพุ่งกระฉูด

กระแสตอบรับรองเท้าผ้าใบ “นันยาง ชูก้าร์” สินค้ารองเท้าผ้าใบนักเรียนหญิงตัวใหม่ของนันยางพุ่งกระฉูด จนโรงงานต้องเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

เรียกว่าเป็นการแตกไลน์สินค้าจากรองเท้านันยางต้นตำรับพื้นเขียวของเด็กผู้ชายในเวลาที่เหมาะเจาะ เพราะนอกจากกลุ่มเป้าหมายหลักอย่างนักเรียนหญิงแล้ว ยังถูกใจสาวๆ อีกมาก เพราะนันยาง ชูก้าร์ ตัวนี้เข้ากันได้ดีกับเทรนด์แฟชั่นสไตล์มินิมอลที่กำลังฮ็อตฮิตในเวลานี้

“จั๊ก” จักรพล จันทวิมล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นเจน 3 ที่มาสานต่อธุรกิจ เล่าว่า คอนเซ็ปต์ของนันยาง คือ ความเป็น Functional Shoes หรือ รองเท้าใช้งาน ใส่ทน ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้ใช้ โดยนานๆ ทีถึงจะมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ออกมา ล่าสุด นันยาง ชูก้าร์ รองเท้าผ้าใบผู้หญิง ตอบรับช่วงแบ็ก ทู สคูล พอดี ซึ่งยังคงเป็นพื้นยางพาราธรรมชาติ 100%

แต่ด้วยเชือกริบบิ้นหลากสีของนันยาง ชูก้าร์ เลยทำให้ปีนี้เป็นแบ็ก ทู สคูล ที่มีสีสันจี๊ดจ๊าดขึ้น

Advertisement

“เราไม่อยากทำแฟชั่น เพราะว่าแฟชั่นเราตามไม่ทัน และถ้าตามทัน 3 เดือนเราก็ต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะแฟชั่นมันคัมแอนด์โก พอ 3 เดือนปุ๊บต้องลด 30% เพราะของใหม่ต้องออก เราก็คิดว่าขายไปเรื่อยๆ ดีกว่า ไม่ต้องเอากำไรเยอะ”

คุณจั๊ก เล่าอีกว่า จุดเด่นของนันยาง คือ ไม่มีใครเหมือน และไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนเลียนแบบ เพราะด้วยคุณสมบัติแบบนี้ และราคาเท่านี้หาคนเลียนแบบยาก

“ผมเคยไปเดินงานโอเพ่น เฮ้าส์ เกี่ยวกับรองเท้าโดยเฉพาะที่กวางเจา ลองเอารองเท้าแตะคีบช้างดาวไปให้เขาผลิต เขาจับดูเขาก็รู้เลยว่าเป็นยางพารา 100% เขาบอกว่าทำให้ไม่ได้ในคุณภาพและราคาแบบที่เราบอก หรือ ทำได้คุณภาพ แต่ราคาต้องสูงขึ้น เพราะยางพาราเขาต้องนำเข้าจากประเทศไทย เราก็ยังดีใจว่าจีนทำราคาและคุณภาพนี้ไม่ได้”

Advertisement

สําหรับบริษัทนันยางฯ เปิดมาในประเทศไทย 63 ปีแล้ว มีความโดดเด่นคือ การใช้ยางธรรมชาติแท้ 100% ของประเทศไทย ในการทำพื้นรองเท้า ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียแปซิฟิกที่ทำแบบนี้ ทำให้นันยางมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ ไม่ลื่น ยืดหยุ่น ทน ใส่สบาย และปลอดภัย

มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ รองเท้าผ้าใบพื้นเขียว ซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มนักเรียน คนทั่วไป และคนเล่นกีฬา โดยเฉพาะตะกร้อ ที่ทีมชาติไทยใส่พื้นเขียวแข่งชนะ ทำให้ทั้งคนไทยและต่างชาติหันมาใส่ตาม

“กลุ่มเรา จริงๆ ทั่วไปไม่อยากพูดเจาะจงว่าเป็นผู้ใช้แรงงาน เพราะว่าคนใช้ทั่วไป ไม่ว่าเป็นทหาร ตำรวจ ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร กระเป๋ารถเมล์ แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก ตอนนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ใส่กันไม่น้อย มันเท่ ฮิปสเตอร์ ดูวินเทจ ดาราหลายคนก็ใส่ ดาราฝรั่งยังใส่เลย ฝรั่งใส่มาแล้วเท่ ฉะนั้น มันกว้างมาก เพราะมันไม่แพง 300 บาท ส่วนทำไมต้องพื้นเขียว เพราะว่าสมัยนั้นไม่มีรองเท้าพื้นเขียว เราก็เลยอยากทำดู พื้นเขียวเป็นธรรมชาติ ดูเป็นป่าๆ ยางพารา ปรากฏว่าฮิต ก็เลยเขียวยาวไปเป็นซิกเนเจอร์ของเรา”

และผลิตภัณฑ์ที่ฮิตอีกอย่างคือ รองเท้าแตะหูคีบ ภายใต้ชื่อช้างดาว ไม่เพียงคนไทยเท่านั้น แต่ไปฮิตสุดๆ ที่พม่า โดยนันยางมียอดขายปีละหลายล้านคู่

“รองเท้าแตะเหมาะกับชีวิตคนไทย และต่างชาติก็ชอบ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังมาคุยเลยว่า จริงๆ รองเท้าแตะหูคีบช้างดาวมันก็เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยเหมือนกันนะ เราก็บอกว่าถ้าทำอะไรได้ก็ลองดู แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอะไร”

จักรพล เล่าว่า ขณะนี้สัดส่วนการจำหน่ายนันยางต่างประเทศประมาณ 15% โดยเฉพาะพม่าจะชอบรองเท้าแตะหูคีบช้างดาวมาก ตอนนี้ก็พยายามดูตลาดอื่นๆ อาทิ ลาว กัมพูชา คือ จะดูที่ที่มีลักษณะวัฒนธรรมคล้ายไทย เนื่องจากสินค้าเรายังไม่ปรับเปลี่ยน เพราะเราเป็นโรงงานดั้งเดิม ปรับเปลี่ยนยาก ฉะนั้นก็จะดูสินค้าที่เราเก่ง และเป็นสินค้าหลักไปขยายตลาด ทุกวันนี้ตลาดที่รองจากพม่า ก็เป็นลาว กัมพูชา แต่ที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซีย เราก็ขยายไปไม่น้อย ปีหนึ่งขายถึง 2-3 แสนคู่

“เราขายมา 30 กว่าปีแล้ว ถือเป็นเจ้าตลาดในพม่า คนพม่าจะเรียกว่าซินเจ แปลว่า ช้างดาว คนพม่าใส่โสร่งแล้วเขาชอบใส่แตะหูคีบ อย่างนายพลเต็ง เส่ง หรือ ออง ซาน ซูจี เขาก็ใส่หูคีบนะ แต่จะเป็นสีดำ ผ้ากำมะหยี่ ซึ่งใส่ทางการ แต่ถ้าคู่ที่ 2 ก็ต้องซินเจนี่แหละที่ต้องมีติดบ้านกันไว้”

ขณะที่ตลาดในประเทศ เฉพาะรองเท้าผ้าใบนักเรียนชาย นันยางคือเบอร์หนึ่ง สัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ 40% มาร์เก็ตแค็ปประมาณ 5,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตวันละ 50,000 คู่ แต่ผลิตจริงประมาณ 2-3 หมื่นคู่ ส่วนรองเท้าแตะไม่มีมาร์เก็ตแค็ปที่จะมาคุยกันได้ เพราะว่าตลาดมหาศาล แต่สำหรับช้างดาวก็ผลิตหลักล้านคู่ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละปี

แม้วันนี้ตลาดจะมีคู่แข่งมากขึ้น แต่เจน 3 อย่างจักรพล มั่นใจว่า การผลิตโดยการใช้ยางพารา 100% ยังมีข้อจำกัดเยอะ ตั้งแต่วิธีการผลิตยาก ต้องนำไปนึ่งที่ต้องโดนความร้อนแล้วจะขยายตัวถึง 200% และต้องรออีกเกือบเดือนเพื่อให้ยางหดกลับ ถึงจะนำมาปั๊มเป็นพื้นรองเท้า ประกอบแล้วนำไปจำหน่าย

“ฉะนั้น ความยากคือเงินทุน ไม่ได้บอกว่าเรารวยนะ แต่เรามานาน สำหรับคนที่คิดจะมาทำเดี๋ยวนี้เลยจะยาก เพราะทุกวันนี้เราต้องรอกระบวนการนี้ 20 กว่าวันถึงจะขายได้ แต่นี่คือเคล็ดลับ 63 ปีที่เรายังอยู่ตรงนี้ ก็คือยางพารา”

เมื่อถามว่าสีสันใหม่ๆ แง้มได้ไหม จักรพล กล่าวว่า พยายามมีมาเรื่อยๆ อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้วเรามีรองเท้าแตะสีดำ ล่าสุดเรามีรองเท้าแตะสีเหลืองสำหรับให้คนถวายพระสงฆ์ เพราะพระชอบใส่ช้างดาวมานานแล้ว เราเลยดูให้ท่านเหมาะสม

นอกจากนั้น ใช้วิธีถามในเพจเฟซบุ๊กของนันยาง ที่จะทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ จากผู้บริโภคที่แท้จริง

จักรพล บอกว่า ที่เก๋ที่สุดคือ มีคนโพสต์ภาพรองเท้ามาอวด บางคนขาดแหว่งมาก ก็เอามาโชว์กันสนุกๆ คือ นันยางจะไม่เหมือนสินค้าอื่น ที่อื่นจะโปรโมตสินค้าใหม่ แต่เราโพสต์ความคงทน

“เราบอกว่านันยางใส่เดินได้ 1 ล้านก้าว ตอบโจทย์นักเรียนได้ เรามีงานวิจัยนะ เด็กนักเรียนชายจะเดินประมาณวันละ 8,000 ก้าว นักเรียนหญิง 7,000 ก้าว แล้วปีหนึ่งนักเรียนเรียนประมาณ 200 วัน นอกนั้นปิดเทอม กับเสาร์-อาทิตย์ เราก็บอกว่าคู่นี้อยู่ แต่จริงๆ เรามีการวิจัย เพราะรองเท้าจะมีเครื่องวัดการพับงอว่ากี่ครั้งถึงขาด จริงๆ เราทดลองถึง 2 ล้านครั้ง เราก็เลยเคลม 1 ล้านก้าว”

ฟังแล้วสมกับสโลแกน ทุกก้าว คือ ตำนาน จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image