อัคราฯพาสื่อชมเหมืองทอง ดูบ่อเก็บกากแร่ระบุไซยาไนด์เพียง 1 ในล้าน ยันข่าวปนเปื้อนลงน้ำไม่จริง

วันที่ 26 พฤษภาคม  ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังรัฐบาลมีคำสั่งปิดเหมืองทองชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ล่าสุด ชุดสืบสวนของดีเอสไอ ลงพื้นที่พิสูจน์ตามคำร้องเรียนว่าบริษัททำเหมืองโดยระเมิดกฎหมาย อาทิ ที่ตั้งเหมือง  และบ่อเก็บกากแร่ ที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ หรือ การทำเหมืองรุกที่ป่าถาวร รวมไปถึงการรั่วซึมของสารพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติและบรรยากาศและการทำลายเส้นทางสาธารณะ

ล่าสุดเวลา 09.00 น. นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าดูพื้นที่จริงในโรงงานถลุงทองคำชาตรี โดยได้นำไปดูจุดที่มีการขุดทองคำ ซึ่งมีความลึกกว่า 40 เมตร ยังมีเครื่องจักรทำงานอยู่ ลำเลียงหินที่มีทองคำไปยังโรงงานแยกแร่ และหินที่ไม่มีทองคำไปยังจุดทิ้งหิน จากนั้นได้นำไปสู่บริเวณบ่อเก็บกากแร่ ซึ่งผ่านการถลุงแร่แล้วโดยมีการเติมสารไซยาไนด์เพื่อแยกทองออกจากหินทั่วไป ทำให้ในการเก็บกากแร่นี้มีส่วนของสารไซยาไนด์ปนเปื้อนอยู่ มีอยู่จำนวน 2 บ่อ แต่ละบ่อมีความใหญ่ราว 600 ไร่  บ่อหนึ่งเต็มแล้วอยู่ระหว่างการกลบและฟื้นฟูเป็นพื้นที่ป่าปกติ อีกบ่อกำลังใช้งาน ซึ่งยังมีการสูบน้ำที่มากับกากแร่นำกลับไปใช้ใหม่

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอกกล่าวว่า ในโรงงานเหมืองทองคำ ประกอบด้วย บ่อขุดแร่ทองตามเขตสัมปทาน   ลำเลียงหินที่มีทองไปสู่โรงงานย่อยหินลำเข้าสู่กระบวนการแยกทองออกจากหินโดยใช้สารละลายไซยาไนด์ และจับโลหะที่ได้คือทองกับเงินด้วยระบบไฟฟ้า จากนั้นนำโลหะทองและเงินไปหลอมเป็นแท่งส่งไปแยกเป็นทองบริสุทธิ์ที่ต่างประเทศ จุดนี้ที่ถือว่าเป็นจุดที่ใช้สารเคมี ซึ่งอยู่ในห้องควบคุม  หลังแยกทองเสร็จแล้วได้นำกากมาเข้าสู่กระบวนการดึงเอาไซยาไนดฺ์ออกโดยน้ำ ซึ่งสารไซยาไนดฺ์เป็นสารเคมีที่มีราคาสูงบริษัทจะทำการใช้ให้คุ้มค่าที่สุด  ดังนั้นกากที่นำไปตามท่อเพื่อทิ้งในบ่อเก็บกากแร่ จะมีไซยาไนด์ปนเปื้อนอยู่เพียง 1 ในล้านส่วนเท่านั้น  ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีการดูดกลับไปใช้อีก และบ่อเก็บกากแร่มีการออกแบบไม่ให้มีการรั่วซึมโดยมีการบดอัดดินเหนียวและผ้าพลาสติกรองพื้น ดังนั้นข่าวที่ออกว่ามีสารไซยาไนด์ปนเปื้อนไปในแหล่งน้ำธรรมชาติจึงเป็นไปไม่ได้เลย

201605261458355-20021028190207

Advertisement

นายสุรชาติ หมุนสมัน ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัทอัคราฯ กล่าวว่า  เราพบว่าข้อมูลทางสุขภาพบริษัทได้ทำการสำรวจอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบเป็นระยะๆ เช่น กรมอนามัย ตรวจน้ำประปารอบเหมืองจำนวน 47 บ่อ พบธาตุเหล็ก และแมงกานีสอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่อันตรายแล้ว ยังมีหน่วยงานที่ดำเนินการตามข้อกล่าวหา เช่น ผู้เชี่ยวชาญศาลปกครองพิษณุโลกซึ่งศาลได้ตั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามาทำงานตรวจสุขภาพ มีการเก็บตัวอย่างพืชผัก และปัสสาวะประชาชนตรวจสอบ โดยมีการเก็บตัวอย่างจากประชาชนรอบๆ เหมือง และเก็บที่ อ.โพธิ์ทะเล เป็นการเปรียบเทียบพบว่า ประชาชนที่มีสารไซยาไนด์ในร่างกายเกินมาตรฐาน แต่ทั้ง 2 พื้นที่มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานแต่ไม่แตกต่างกันและยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

201605261458313-20021028190207

ล่าสุดมาจากมหาวิทยาลัยรังสิตมาตรวจตามคำร้องเรียนชาวบ้าน ในช่วงเดือนสิงหาคม – พฤศจิกายน 2557 พบมีสารหนูหรือ ไซยาไนด์ เกินมาตรฐานร้อยละ 10 การตรวจพบไซยาไนด์ในร่างกายประชาชนเกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น การรับประทานอาหารทะเล  การสูบบุหรี่ หรือการดื่มยาต้มสมุนไพร ก็สามารถทำให้มีสารไซยาไนด์ในปริมาณสูงได้ ด้วยเหตุนี้เองมีการตรวจบริเวณชุมชนชายฝั่งทะเลจะพบว่ามีปริมาณสารหนูหรือไซยาไนด์มากกว่าบริเวณเหมืองเสียอีก ในจุดที่โรงงานใช้สารไซยาไนด์จะมีเครื่องวัดเพื่อความปลอดภัย โดยทั้งโรงงานจะมีค่าสารไซยาไนด์ที่ฟุ้งในอากาศน้อยกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ทางราชการทราบดี แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐจึงสั่งปิดเหมืองทอง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเหมืองทองชาตรียังคงขออุทธรณ์คำสั่ง เพื่อให้การทำเหมืองดำเนินการต่อไปได้  เนื่องจากเหมืองทองสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาลและทำให้คนกว่า 5,000 คนที่เป็นครอบครัวของพนักงานได้รับโอกาสในการทำงานใกล้บ้านไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image