แอมเนสตี้ยื่นสนช. วอนแก้กฎหมายคอมพ์ หวั่นปิดกั้นสิทธิเสรีภาพแสดงออก

แอมเนสตี้ฯ ยื่นหนังสือ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายคอมพ์ สนช. วอนแก้เนื้อหาบางมาตรา หวั่นปิดกั้นสิทธิเสรีภาพแสดงออก-สิทธิส่วนบุคคล

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่รัฐสภา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายพลเมืองเน็ต และไพรแวซี อินเตอร์เนชั่นแนล นำโดย น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ รองประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยื่นหนังสือต่อพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่) พ.ศ…. ขอให้มีการแก้ไขเนื้อหาบางมาตราของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกทางอิเล็กทรอนิกส์ และสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน ได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

ทั้งนี้ องค์กรทั้งสามมีความกังวลต่อบางมาตราในร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่) พ.ศ…. ที่อาจปิดกั้นสิทธิในเสรีภาพ และสิทธิความเป็นส่วนตัว อาทิ มาตรา 14 อาจถูกตีความเพื่อใช้ลงโทษความผิดฐานหมิ่นประมาท และดำเนินคดีอาญากับผู้โพสต์ข้อมูลออนไลน์ที่ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง อาจทำให้การแสดงความเห็นที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงปลอดภัยของประเทศก็อาจมีความผิดอาญาได้ มาตรา 15 กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Providers) ต้องรับโทษเท่ากับผู้กระทำผิดตามมาตรา 14 หากผู้ให้บริการไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ให้ความร่วมมือหรือรู้เห็นเป็นใจให้กระทำผิด ซึ่งเป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่ผู้ให้บริการ และอาจทำให้ผู้ให้บริการเซ็นเซอร์ตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการรับโทษปรับ

น.ส.เพ็ญพรกล่าวต่อว่า มาตรา 20 เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าไม่ได้ขัดต่อกฎหมายใดก็ตาม นอกจากนี้ ยังเสนอให้ สนช.พิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว ให้มีการยุติการเอาผิดกับประชาชน และองค์กรที่รับโทษ และต้องคำพิพากษาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการการะทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างสงบ อันเป็นการละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยตกลงไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image