จากเหตุอื้อฉาวหลังม่านบอลชอย ถึง X-Men ภาคใหม่

จากเหตุอื้อฉาวหลังม่านบอลชอย ถึง X-Men ภาคใหม่

Bolshoi Babylon

Bolshoi Babylon

“ม่านมืดบอลชอย” เป็นหนังสารคดีที่ Documentary Club นำเข้ามาฉาย หนังตีแผ่ด้านมืดเบื้องหลังเวทีโรงละครบอลชอย ที่เปรียบเสมือนเพชรยอดมงกุฏของรัสเซีย และเป็นศูนย์รวมแห่งความภาคภูมิใจของชาวรัสเซียทุกระดับ

หนังพูดถึงเหตุการณ์ที่อดีตพระเอกบัลเล่ต์และผู้กำกับ เซอร์เก ฟิลิน ถูกสาดน้ำกรด เมื่อวันที 17 มกราคม 2556 เรื่องราวเข้มข้นจนอดคิดไม่ได้ว่า เรื่องจริงบางครั้งก็มีความรุนแรง เต็มไปด้วยความริษยาอาฆาต และแก่งแย่งชิงดีกันไม่ผิดอะไรกับหนังหรือละครที่ถูกสร้างขึ้น

ภาพลักษณ์ของโรงละครบอลชอยที่ปรากฏก่อนหน้านี้ สวยงามยิ่งใหญ่ สะท้อนอารยธรรมและวัฒนธรรมชั้นสูงที่ยาวนานกว่า 200 ปี ทั้งยังเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่เดินทางมาเยือน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเซอร์เก ฟิลิน จึงทำให้โลกตกตะลึง และตั้งข้อสงสัยว่า เบื้องหลังความงดงามอลังการนี้ แท้จริงแล้วแอบซ่อนความเน่าเหม็นอะไรอยู่

Advertisement

“แวดวงละครมันโหดร้าย ภายนอกดูสวยหรู บนเวทีเห็นแต่ท่วงท่างดงาม เห็นความรักและเรื่องชวนฝัน แต่ทุกอย่างมันคุกรุ่นอยู่ข้างใน” นี่เป็นคำกล่าวของนักเต้นบัลเล่ต์คนหนึ่ง

สารคดีเรื่องนี้นำผู้ชมเข้าสู่ “ความคุกรุ่นข้างใน” ผ่านการสัมภาษณ์หลากหลายชีวิตที่อยู่กับโรงละครแห่งนี้ ทั้งนักเต้น ผู้กำกับ ผู้บริหาร ซึ่งได้รับเกียรติในฐานะตัวแทนคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของรัสเซีย และได้รับสิทธิพิเศษเช่นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

จากคำสัมภาษณ์ เราจะเห็นทั้งดราม่าระหว่างนักแสดง ความขัดแย้ง และการกลั่นแกล้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงละครแห่งนี้ ระหว่างนักเต้นและผู้บริหาร ระหว่างนักเต้นด้วยกันเอง หรือแม้แต่ผู้กำกับและผู้อำนวยการคณะบัลเล่ต์ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งเข้ามา

Advertisement

ช็อคซ้ำสองเกิดขึ้น เมื่อการสืบสวนดำเนินไปจนสามารถจับกุมผู้บงการ ปาเวล ดมีตรีเชงโก นักบัลเล่ต์ชายเดี่ยวที่รับบทนำในบัลเล่ต์ดังหลายเรื่อง อะไรดลใจให้ปาเวลตัดสินใจทำสิ่งเลวร้าย ซึ่งดับฝันการเป็นนักเต้นอนาคตไกลของตัวเอง

โรงละครบอยชอยเหมือนภาพจำลองของสังคมประเทศรัสเซีย บุคลากรในโรงละครมีมากถึง 3,000 คน เป็นนักเต้น 200 กว่าชีวิต การเมืองและอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานบริหารจัดการโรงละครบอลชอยอย่างไม่น่าเชื่อ

ผู้จัดการมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการแสดงแค่ประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น การคัดเลือกนักแสดงบทเด่น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถอย่างเดียว ใครมีเส้นสาย มีเครือข่าย หรือมีผู้อุปถัมภ์ที่มีอำนาจ ก็มักได้รับโอกาสที่ดีกว่า

การแทรกแซงเช่นนี้ นำไปสู่ความขัดแย้ง ความหวาดระแวงไม่ไว้ใจกัน ความพร้อมเพรียงสวยงามของลีลาการเต้นมีอยู่แค่หน้าม่าน หลังม่าน แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอิจฉาและกลั่นแกล้งกันทุกรูปแบบ ตั้งแต่กรีดรองเท้า ไปจนถึงเอาเข็มเย็บผ้าใส่ในรองเท้าบัลเล่ต์

ดูหนังสารคดีเรื่องนี้แล้วนึกถึงหนังดราม่าทริลเลอร์เรื่อง Black Swan ที่นาตาลี พอร์ทแมน แสดง และได้รับรางวัลออสการ์นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมปี 2010 เป็นเรื่องของนักบัลเล่ต์สาวที่กดดันตัวเองขนาดหนัก ยอมสละกระทั่งชีวิต เพี่อจะให้เข้าถึงบทที่ตนต้องแสดงคือบท White Swan และ Black Swan ในบัลเล่ต์เรื่อง Swan Lake

หนังเรื่องนี้สอดคล้องกับทัศนคติของนักบัลเล่ย์บอลชอยส่วนใหญ่ที่พร้อมจะ “สังเวยชีวิตเพื่อศิลปะ” เพราะ “เวทีคือพระเจ้า คือศาสนาของพวกเขา”

มาเรีย อเล็กซานโดรวานักบัลเล่ต์นำหญิง ให้สัมภาษณ์ทีมทำสารคดีว่า “ตอนอยู่บนเวที ฉันเกิดเอ็นร้อยหวายฉีก นาทีระทึกสุดขั้ว มีตา 2,000 คู่จับจ้องอยู่ ฉันรู้ว่ามีอะไรผิดปรกติ ก้าวขาก็ไม่ได้ ดีนะที่ไม่ล้มหงายหลัง ฉันฝืนทรงตัวอยู่ได้…”

หลังม่านอาจเจ็บปวดสาหัส แต่ก็ต้องกัดฟันเต้นสุดพลังหน้าม่าน เพื่อมอบความสุขให้แก่ผู้ชม และเพื่อรังสรรค์ความงดงามอลังการให้บอลชอย

Bolshoi Babylone ปอกเปลือกเรื่องราวคณะบัลเล่ต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างชวนให้ติดตาม เหมือนหนังน้ำเน่าที่มีครบทุกรส รัก ริษยา และสลดหดหู่ ถ้าสนใจจะดู ควรเช็ครอบและโรงภาพยนตร์ให้แน่ๆ เสียก่อน เพราะหนังแนวนี้ไม่ใช่หนังที่คนส่วนใหญ่ชอบดู จึงฉายอย่างจำกัดโรง อยากให้ไปดู เป็นหนังสารคดีที่น่าสนใจและมีภาพการแสดงบัลเล่ต์ที่สวยงามมากหลายฉากหลายตอน

X-Men: Apocalypse

X-Men: Apocalypse

X-Men เป็นหนังเกี่ยวกับมนุษย์กลายพันธุ์หรือมิวแทนท์ที่มีผู้รอชมมากที่สุด หนังเปิดตัวครั้งแรกปี 2000 ฝีมือกำกับของไบรอัน ซิงเกอร์ หลังจากนั้นมีหนังตระกูล X-Men ออกมาอีกหลายตอน มีผู้กำกับมากกว่าสี่คน ขนาดมีการตั้งกระทู้ถามว่า ใครเป็นผู้กำกับหนังตระกูล X – Men ที่ดีที่สุด คำตอบก็ต่างจิตต่างใจ

แต่ไบรอัน ซิงเกอร์เป็นผู้กำกับที่กำกับหนังเรื่องนี้มากที่สุด เริ่มจาก X-Men (2000) X2 (2003) X-Men: Day of Future Past (2014) และมาถึง X-Men ภาคนี้ ซึ่งได้ทีมเขียนบทจาก X2 ไมค์ โดเฮอร์ตี้ และ แดน แฮริส กลับมาร่วมงานด้วย

X-Men: Apocalypse เป็นเรื่องของธรรมะปะทะอธรรม เอ็นซามาห์นูร์ หรืออะพอคคาลิปส์ (ออสการ์ ไอแซค) เป็นมนุษย์กลายพันธุ์คนแรกของโลกที่ถือกำเนิดตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาล มีพลังครอบงำมนุษย์ ที่เมื่อร่างกายจะแตกดับเขาสามารถโอนถ่ายพลังสู่ร่างใหม่ เพื่อเป็นอมตะตลอดกาล ระหว่างดำเนินการ เขาถูกทรยศและถูกฝังอยู่ภายใต้ปิระมิดเป็นเวลาหลายพันปี

อะพอคคาลิปล์ตื่นจากการหลับใหลปี 1983 ที่กรุงไคโร และพบว่าอารยธรรมของโลกได้เปลี่ยนไป สำหรับเขาผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่สมควรมีชีวิต ฉะนั้นต้องชำระล้างโลก และปลดปล่อยมิวแทนท์ไม่ให้ถูกมนุษย์กดขี่

อะพอคคาลิปส์จึงรวบรวมสมุนทั้งสี่ เรียกว่าสี่จตุรอาชา เข้าต่อกรกับชาร์ลส์ ซาเวียร์ (เจมส์ แมคเอวอย) ผู้เปิดโรงเรียนสอนมนุษย์กลายพันธุ์ให้ควบคุมพลังและมองโลกในแง่ดี รวมทั้งปกป้องมนุษย์จากมิวแทนท์ที่ชั่วร้าย ซาเวียร์ มิสทีค (เจนนิเฟอร์ ลอเรนซ์) ผู้สามารถแปลงกายเป็นใครก็ได้ และ บีสต์ (นิโคลัส ฮอลท์) อัจฉริยะนักประดิษฐ์ ต้องรวมพลังมิวแทนท์วัยใส เพื่อต่อสู้กับมนุษย์กลายพันธ์ยุคเก่าที่คิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้า

Day of Future Past จากฝีมือการสร้างของไบรอัน ซิงเกอร์ประสบความสำเร็จทั้งในแง่รายได้และชื่อเสียง อะพอคคาลิปส์จึงต้องสร้างให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง มีการระดมนักแสดงมากความสามารถ ทั้งระดับได้รางวัออสการ์และเข้าชิงออสการ์หลายคนมาร่วมทีม แต่โดยหลักๆ ยังคงใช้นักแสดงจากชุด First Class แต่เสริมด้วยนักแสดงหนุ่มสาวอีกหลายคนที่จะเปลี่ยนผ่านจากมิวแทนท์รุ่นเด็กที่ยังไม่สามารถควบคุมพลัง ไปสู่การเป็น X-Man รุ่นเดอะ

การออกแบบการก่อสร้างฉากและการกำกับศิลป์ในหนังเรื่องนี้ยิ่งใหญ่และตระการตา ตั้งแต่ฉากเปิดตัวเรื่องที่ผู้ชมจะได้เห็นอียิปต์ยุคโบราณที่มีการทำพิธีโอนถ่ายร่างอะพอคคาลิปส์ในปิระมิด มาถึงอียิปต์ยุค 1983 ในตลาดกลางกรุงไคโรที่สตอร์มปรากฎตัวหาเลี้ยงชีพด้วยการขโมย

ฉากค่ายเอาชวิตซ์ ที่ของจริงอยู่ในโปแลนด์ การต่อสู้ในกรงไฟฟ้าใต้ดินที่เยอรมันตะวันออกระหว่าแองเจิลกับมิวแทนท์อื่นๆ และคฤหาสน์ซาเวียร์ที่ใช้เป็นโรงเรียนฝึกมนุษย์กลายพันธุ์ที่สหรัฐอเมริกา ความสมจริงของฉากเหล่านี้ สร้างในสตูดิโอพื้นที่กว่า 27 เอเคอร์ที่มอนทรีออล รัฐควิเบก แคนาดา

พลังการต่อสู้ระหว่างธรรมะและธรรมครั้งนี้ ไม่ใช่การต่อสู้แบบประชิดตัวโชว์ความสามารถในการต่อสู้แบบหนังซุปเปอร์ฮีโรหลายเรื่องที่อาศัยฝีมือหมัดมวย คาราเต้ หรือฟันดาบ แต่เป็นการปล่อยพลังแสงทำลายล้างทั้งจากดวงตา ฝ่ามือ การย้ายตัวเคลื่อนที่ เหาะเหิน ลอยตัวอยู่บนอากาศ หรือบทของควิกซิลเวอร์ที่เด่นมากในภาคนี้คือ การเคลื่อนตัวทำภารกิจช่วยชีวิตทุกคนในคฤหาสน์ซาเวียร์เมื่อคฤหาสน์ถูกถล่ม เป็นฉากเอฟเฟ็กต์หยุดโลกที่มีงานภาพสะกดทุกสายตา ถึงได้มีคำกล่าวว่า “ซุปเปอร์ฮีโร่ทำอะไรไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีวิชวลเอฟเฟ็กต์”

หนังเรื่องนี้ยาวมากเกือบสองชั่วโมงครึ่ง เพราะมีตัวแสดงใหม่ที่ต้องแนะนำให้ผู้ชมรู้จักหลายคน เป็นหนังดูสนุกที่แม้จะยาวก็ไม่ถึงกับน่าเบื่อ แต่ไม่ได้ให้ข้อคิดหรือมีประเด็นที่จะนำมาถกต่อ ส่วนตัวรู้สึกว่าสู้ภาค Days of Future Past ไม่ได้ แต่ก็ยังอยู่ในมาตรฐานของหนังตระกูล X-Men

และที่น่าไปดูอีกประเด็นคือ มีข่าวว่า ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ เจมส์ แม็กเอวอย และเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ สิ้นสุดสัญญากับทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ที่จะแสดงหนังชุดนี้สามภาค จึงน่าเสียดายมากหากจะมีการเปลี่ยนตัว แม้ภาคนี้จะมีการนำเสนอดาราวัยใสหลายคน

แต่นักแสดงทั้งสามคนก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของหนัง X–Men ที่ติดตาติดใจคนดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image