17 ปี…แห่งรัก “มาดามติ้ง” พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ในวันที่ ‘ชุชู’ อยู่ในหัวใจ

ใครที่เป็น “คอการเมือง” น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักสุนัขการเมืองพันธุ์ปั๊ก นามว่า “ชูธงไชย” หรือ “ชุชู” สัตว์เลี้ยงแสนรักของครอบครัว “ลิปตพัลลภ” โดยเฉพาะกับ “นายผู้ชาย” สุวัจน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ “นายผู้หญิง” มาดามติ้ง-พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“ชุชู” เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของ “สุวัจน์” ที่มักมีบทบาทในทุกช่วงสำคัญของเขา ถึงขนาดเคยพูดติดตลกว่า ทุกครั้งที่ชุชูโดนสุนัขข้างบ้านรุมกัด ก็มักจะเกิดเหตุทางการเมืองกับเขาเหมือนกัน

ถึงแม้วันนี้ “ชุชู” จะจากโลกนี้ไปนานถึง 3 ปีแล้ว แต่เจ้าของยังยืนยันว่า ไม่มีสุนัขตัวไหนที่รักมากเท่าชุชู

โดยเฉพาะ “มาดามติ้ง” ที่เรียกแทนตัวเองกับชุชูว่า “หม่ามี้” ยังคงคิดถึงตูบตัวเตี้ยหน้าย่นตัวนี้ไม่เสื่อมคลาย…

Advertisement

“ชีวิตที่ผ่านมา นับรวมเป็นนาทีต่อนาที เราถามตัวเองว่า ใช้เวลาในชีวิตกับใครมากที่สุด ไม่ใช่เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง ลูก หรือสามี แต่เป็นชุชู” มาดามติ้งเผยความในใจ ในวันที่เปิดบ้านให้มติชนเข้าสัมภาษณ์ถึงเรื่องราวความรักระหว่างเธอกับสุนัขตัวโปรด

lad01280559p2

ด้วยความ “ผูกพัน” อันลึกซึ้ง จึงเป็นที่มาของหนังสือ “สิบเจ็ดปี…แห่งรัก” ที่มาดามติ้งจรดปลายปากกา “เปิดประตูความอาย” เล่าถึงเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างเธอกับชุชูที่จะทำให้ยิ้มทั้งน้ำตา โดยรายได้จากการจำหน่ายหนังสือทั้งหมดมอบให้กับโรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน และที่โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เพื่อช่วยหมาแมวไร้บ้านและสัตว์อนาถาต่อไป

Advertisement

“หนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องของหมา และคิดว่าจะเป็นเรื่องหมาเรื่องสุดท้ายในชีวิต เพราะจะไม่เลี้ยงอีกแล้ว” มาดามติ้งเล่าถึงหนังสือที่เธอยอมรับว่า เขียนยากมาก เพราะตอนนั้นยังคิดถึงอยู่

“เนื้อหาจะเล่าตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าทำไมเขามาอยู่กับเราได้ ทั้งที่ก็เข็ดไม่อยากเลี้ยงหมาแล้ว” ที่เข็ดเพราะเคยมีประสบการณ์ความเศร้าจากสุนัขตัวก่อน ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่เป็นนาน

“มาตัดสินใจเลี้ยงหมาอีกครั้ง เกิดจากความฝัน ฝันเห็นหมาทุกคืน รู้สึกว่า ถ้าฝันขนาดนี้ ไปซื้อเถอะ ก็ไปซื้อที่โคราช เป็นร้านขายหมูหยอง ไม่ใช่ร้านขายหมา แต่ไปเพราะพี่สาวแนะนำ ไปถึงก็จับอยู่หลายตัว ไม่มีตัวไหนที่รู้สึกใช่ กระทั่ง มีเด็กในร้านมาบอกให้ไปดูอีกกรง ก็ลองจับขึ้นมาตัวหนึ่ง พอจับรู้สึกเหมือนที่ฝันเลย จึงเอาเขากลับมา”

“ชุชู” จึงได้มาอยู่ในอ้อมอก “ลิปตพัลลภแฟมิลี่” และนำพาความสุขมาให้ตลอด 17 ปี

“เขามาทำให้เราชื่นใจ ทำให้เราผูกพัน เหมือนเขาพร้อมจะเป็นเพื่อนเราตลอดเวลา ไปไหนก็ไปกัน และเขาก็ต้องการอะไรคล้ายๆ คน อาจเป็นว่า เราเลี้ยงเขาใกล้ชิดมาก พาไปทุกที่ที่ไปได้ ไปดูหนัง ไปห้างสรรพสินค้า เข้าภัตตาคารหรูๆ พาไปโรงแรม ขึ้นเครื่องบิน เขาจะแอบซ่อนอยู่ในตะกร้า และเขาจะรู้อยู่กับเราตลอดเวลา ไม่เห่าสักแอะ

“มันเป็นความบันเทิงใจทุกวัน บันเทิงใจของคนทั้งบ้าน แม้กระทั่งสามีเอง ตื่นมาก็ทักกับหมาก่อนทักกับเมีย” เล่าจบก็หัวเราะร่วนออกมา

แต่ทุกชีวิตเมื่อเกิดมาก็ต้องพบกับการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก

“ทั้งที่เราเตรียมใจมาเยอะ และเข้าใจว่าชีวิตเป็นยังไง หนังสือเล่มนี้ ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะเขียน เพราะคิดว่า คนที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจมาอ่าน คงจะเวทนา จริงๆ เราก็เป็นศิษย์พระพุทธเจ้า มีธรรมะในหัวใจ หมาตายตั้ง 6 เดือนแล้วยังเศร้าอยู่เลย ก็ไม่ใช่เรื่อง ก็ไม่อยากจะเขียน แต่มีคนแนะนำให้เขียน เพื่อเป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง”

ซึ่งก็ช่วยเยียวยาจิตใจเธอได้มาก แถมยังได้รับความสนใจนำลงตีพิมพ์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” จนในที่สุดได้รวมเล่มเป็นหนังสือเล่มนี้

lad01280559p3

“พอหนังสือพิมพ์เอาไปลง รู้สึกเหมือนได้เปิดประตูความอายไปแล้ว อะไรหมาตายแล้วยังร้องไห้ไม่หยุด เปิดประตูนั้นไปแล้ว รู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องปิดบังใคร (หัวเราะ) เอามาทำเป็นประโยชน์ดีกว่า คิดว่าทำให้ชุชู ทำแค่นี้ก็เป็นกุศลแล้ว เพราะหนังสือพอคนนี้อ่านจบก็สามารถส่งต่อกันอ่านไปได้เรื่อยๆ คนรักหมาก็จะได้เห็นภาพตัวเองข้างหน้า คนไม่รักหมาอ่านแล้วจะเข้าใจว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีจิตใจทั้งนั้น และแก่นของเรื่องก็สอดแทรกให้เห็นว่า ชีวิตก็เป็นเช่นนั้นเอง”

แม้จะ “โศกาอาดูร” ทว่า…การจากไปของชุชู ได้เข้ามา “พลิกชีวิต” มาดามติ้งให้พบเส้นทางใหม่ของชีวิต

“ชุชูทำให้เชื่อเรื่องของกรรมและภพชาติ การจากไปของชุชูเป็นการประเมินเราด้วย ที่คิดว่า ศึกษาธรรมะ และมีธรรมะในหัวใจ จริงๆ แล้วผ่านสักกี่เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่า สอบตก (หัวเราะ)

“สิ่งที่ช่วยได้อย่างเดียว คือ ต้องใส่บาตร ปฏิบัติธรรม เพื่อจะส่งกุศลไปให้ชุชูได้ ทำให้เราพัฒนาขึ้นมาได้เรื่อยๆ จากการปฏิบัติบ่อยๆ เหมือนมาทำให้ชีวิตดีขึ้น ได้เห็นธรรมะมากขึ้น ทำวิกฤตเป็นโอกาส

“อีกสัจธรรมที่ได้เห็นคือ ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ตอนนี้เห็นโลงศพแล้ว ก็รู้ว่าเป็นยังไง และรู้ว่าอะไรคือทางทำให้ทุกข์หมดไป เราก็ถือว่า ได้พบทางที่พ้นทุกข์แล้ว”

ทุกวันนี้ นอกจากเขียนหนังสือ เที่ยวป่า ขี่จักรยาน ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในเส้นทางของมาดามติ้งคือ “เข้าวัด”

“ตอนนี้อยากจะปฏิบัติธรรม ซึ่งก็ยังอยู่ในขั้นอนุบาล แต่ก็ทำให้ตระหนักว่าชีวิตมันสั้น เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่ ฉะนั้น เราควรจะรีบทำในสิ่งที่ควรจะทำ จะได้ไม่ประมาท โอกาสที่จะเกิดมาเป็นคนน้อยมาก เราไม่รู้ว่าชาติหน้าเราจะเกิดเป็นตัวอะไร ที่ไม่มีโอกาสได้ทำความดีเลย ชาตินี้มีโอกาสอยู่ก็รีบทำ อีกอย่างคือ ถ้าเรารู้ว่า การเกิดเป็นทุกข์ ก็ควรหาทางพ้นทุกข์

“พระท่านบอกว่า การปฏิบัติธรรมช่วยลดชาติเกิดได้ ก็เป็นโปรเจ็กต์ที่อยากจะลองว่าไปได้ถึงไหน”

เป็นโปรเจ็กต์ที่มาดามติ้งตั้งใจว่าจะเดิน “สายกลาง” ค่อยๆ ปฏิบัติไปพร้อมๆ กับการใช้ชีวิตอย่างปกติที่ตอนนี้ “มีความสุขดี” กับชุชูที่ยังอยู่ในหัวใจตลอดกาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image