‘กล้านรงค์’ แจง 3 คีย์เวิร์ด ‘คำถามพ่วง’

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดย นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 พร้อมด้วยสมาชิก สนช. ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ตามโครงการสนช.พบประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงประชาสัมพันธ์คำถามพ่วงประชามติให้กับตัวแทนจากทั้งส่วนราชการรวมไปถึงประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสนช.ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการมีคำถามพ่วงประชามติ ว่า วันที่ 7 สิงหาคม เป็นวันสำคัญที่ประชาชนท่ีมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ จะลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ส่วนเหตุที่ต้องมีคำถามพ่วง เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ดำเนินการเสร็จก็ให้สนช. พิจารณาเพื่อเสนอประเด็นคำถามอื่นได้ไม่เกิน 1 ประเด็น ซึ่งสนช.มีมติเห็นชอบให้ตั้งคำถามพ่วงว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดในบทเฉพาะกาล ว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

นายกล้านรงค์ กล่าวต่อว่า ซึ่งในคำถามมีคำหลักอยู่ 3 คำ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ชาติ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นไปตามวาระรัฐบาลแต่ละชุด 2.ระยะเวลา 5 ปี เพราะอายุของวุฒิสภา กำหนดไว้ 5 ปี จึงเอามาเป็นตัวหลัก และ 3.รัฐสภาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เพราะตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 270 เขียนอำนาจหน้าที่ส.ว.ที่มีมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมา นั่นคือหน้าที่ในการติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานความคืบหน้างานปฏิรูปทุก 3 เดือน ดังนั้น บุคคลที่เป็นนายกฯจึงมีความสำคัญในการทำยุทธศาสตร์ชาติให้เดินหน้า ทั้งนี้ ยืนยันว่าทั้ง 2 คำถามไม่เกี่ยวพันกัน ประชาชนมีสิทธิที่จะเห็นชอบทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ไม่เห็นชอบร่างแต่เห็นชอบคำถามพ่วง หรือไม่เห็นชอบทั้ง 2 คำถามก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image