จับสัญญาณปลดล็อก ‘คสช.’ ลดปัจจัยเสี่ยงมุ่งประชามติ’ร่างรธน.’

ถือเป็นสัญญาณผ่อนคลายทางการเมืองที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่งบริหารประเทศครบ 2 ปี นับตั้งแต่ คสช.เข้ามาควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

สัญญาณปลดล็อกทางการเมืองที่ว่านั้น นั่นคือ มติจากที่ประชุม คสช.และหน่วยงานความมั่นคงวาระพิเศษ ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม โดยมีการติดตามสถานการณ์โดยทั่วไปของประเทศ ทั้งจากการรายงาน คสช.,สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยทุกหน่วยเห็นตรงกันว่าสถานการณ์โดยรวมอยู่ในสภาวะเรียบร้อย อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้างแต่เป็นเรื่องปกติ

นำมาซึ่งผลสรุปออกมาแบบต้องขีดเส้นใต้ เมื่อที่ประชุม คสช.มีมติให้บุคคลที่เคยมีรายชื่อที่ คสช.เคยมีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยอนุญาตให้บุคคลเหล่านี้สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ยกเว้นบุคคลที่มีหมายจับหรือมีคดีความกับศาล ที่จะต้องขออนุญาตหน่วยงานนั้นๆ หรือศาลก่อน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ เหตุผลที่ คสช.ยอมปลดล็อก ผ่อนคลายกฎเหล็กให้นักการเมืองและนักธุรกิจเดินทางไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาต คสช.อีกแล้วนั้น เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับข้อมูลจากทีมงาน นักวิชาการ ทีมกฎหมายมาประกอบการพิจารณา ร่วมกับการติดตามงานด้านการข่าวและสถานการณ์โดยรวม ก่อนจะเสนอต่อที่ประชุม คสช.ออกคำสั่งให้ปลดล็อกให้บุคคลที่เคยถูกคำสั่งห้ามเดินทางไปต่างประเทศสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย สร้างบรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารแผ่นดิน

Advertisement

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญของการผ่อนคลายกฎเหล็กเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศของนักการเมืองและนักธุรกิจ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากท่าทีและแรงกดดันในเวทีของต่างประเทศ อย่างข้อเสนอของเวทีการประชุมคณะทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตามกระบวนการ (ยูพีอาร์) ซึ่งมีการติดตามเหตุการณ์ในประเทศไทยมาตลอด

รวมทั้งท่าทีของผู้แทนจากรัฐสภายุโรปที่เดินทางมาติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วย ย่อมทำให้รัฐบาลต้องปรับท่าทีตามคำแนะนำของต่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ทางรัฐบาลยังยอมรับด้วยว่า การปลดล็อกให้นักการเมืองและนักธุรกิจสามารถเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาต คสช.นั้น เพื่อเป็นการผ่อนคลายสถานการณ์การเมือง เพื่อนำไปสู่เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญทางการเมืองในห้วงเวลานี้

ขณะเดียวกันยังเป็นการทำให้สังคมเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลและ คสช.เข้าใจความรู้สึกของสังคม พร้อมรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จึงได้พิจารณาว่าอะไรที่พอผ่อนคลายได้เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ไม่เกิดความรู้สึกว่าตึงเกินไป และนายกฯยังได้เน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตามงานที่ได้รับมอบหมาย สร้างศรัทธาต่อประชาชนให้ได้ เพราะการสร้างศรัทธานั้นเป็นการสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติทุกภารกิจ และเห็นควรตอบโต้ทางการเมืองให้น้อยลง เน้นการทำงานบริหารราชการ ดูแลประชาชนเป็นหลัก

ทั้งนี้ หากจะย้อนดูคำสั่ง คสช.ไล่ตั้งแต่คำสั่งฉบับที่ 1/2557 จนถึงคำสั่งที่ 86/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัว จากการรวบรวมข้อมูลของไอลอว์ จะพบว่าบุคคลที่ถูกเรียกรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคตินั้นส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมือง นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ สื่อมวลชน ประชาชน และนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสะท้อนปัญหาภายหลังการรัฐประหาร หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร ตลอดสองปีในยุค คสช.มีคนถูกเรียกรายงานตัวอย่างน้อย 992 คน ในจำนวนนี้ถูกเรียกโดยวิธีการประกาศเป็นคำสั่ง คสช.ผ่านทางโทรทัศน์ อย่างน้อย 480 คน ขณะที่ 200 กว่าคนหลบหนีไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.

นอกจากนี้ยังมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 21/2557 ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เรื่อง ห้ามบุคคลเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยระบุให้บุคคลที่ถูก คสช.เรียกให้มารายงานตัวนั้น ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากหัวหน้า คสช. สำหรับบุคคลใดที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งจะถูกติดตามจับกุมและดำเนินคดีด้วย

ไม่เพียงแค่คำสั่งจากที่ประชุม คสช.ที่ปลดล็อกให้นักการเมืองและนักธุรกิจสามารถเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาต คสช. ที่นับเป็นสัญญาณในการผ่อนคลายทางการเมืองให้ดีขึ้นนั้น

ก่อนหน้านั้นสัญญาณผ่อนคลายทางการเมืองที่ คสช.ส่งผ่านมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเวที “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” โดยมีตัวแทนของพรรคการเมือง 50 พรรคเข้าร่วมรับฟัง อภิปรายและซักถามในข้อสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบรรยากาศการเปิดเวทีรับฟังและชี้แจงต่อพรรคการเมืองเวทีแรกนั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ในครั้งต่อไป

โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาระบุว่ามีความพอใจในภาพรวมการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายการเมืองต่อการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับส่งสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการและฝ่ายต่างๆ ให้ครบทุกภาคของประเทศด้วย

สอดรับกับสัญญาณที่หลายฝ่ายตีความว่าเป็นการผ่อนคลายของ “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกมาระบุเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า “จะไม่เรียกพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวายมาปรับทัศนคติอีกแล้ว เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่จะให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หากบุคคลใดกระทำการที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง”

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจัยที่หลายฝ่ายติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อโรดแมปทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คือ การพิจารณาคำร้องของนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 หรือไม่

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เพื่อหามติว่าจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งมีการวิเคราะห์ถึงแนวทางในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไว้เบื้องต้นว่า หากผู้ตรวจมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลฯวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่ขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีผลให้กฎหมายประชามติทั้งฉบับเสียไป แต่จะทำให้มาตรา 61 วรรคสองและวรรคสี่นำมาใช้บังคับไม่ได้

หากจะจับสัญญาณและปัจจัยที่ทุกฝ่ายพยายามส่งผ่านมายังภาคสังคมและประชาชนในขณะนี้ล้วนแต่มีนัยต่อทางการเมืองในการที่จะผลักดันให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ปฏิรูปและปราบโกง” เกิดขึ้นให้ได้

ส่วนผลการทำประชามติจะออกมาอย่างไรนั้น รอชี้ขาดในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image