2ปีคสช.ยึดอำนาจ ถึงเวลาดีเดย์ กรุยทางลง’หลังเสือ’

จังหวะเวลาการเมืองนับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเป็นวันครบ 2 ปี การยึดอำนาจ

เป็นจังหวะการเมืองที่ต้องรอผลวันที่ 7 สิงหาคม 2559

และรอผลการเลือกตั้งวันที่เท่าไร่มิอาจทราบ แต่จะจัดขึ้นในปี 2560 ตามคำสัญญาของ คสช.

ตามคำมั่นสัญญาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ให้ไว้

Advertisement

ทั้งนี้หากทุกอย่างเป็นไปตามนั้น ย่อมหมายความว่า นับแต่วันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง คสช.มีการบ้านสุดท้ายที่ต้องคิด นั่นคือการก้าวย่างลงจากหลังเสือ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจ ผบ.ทบ.ประกาศใช้กฎอัยการศึก และเข้ายึดอำนาจหลังจากนั้น

ประกาศคำมั่นสัญญาจะคืนความสุขให้คนไทย

Advertisement

ความสุขแรกคือ การสลายการปิดเมือง และหยุดเหตุการณ์ยิงเอ็ม 79 ขว้างระเบิดในกรุงเทพฯ

เคลียร์พื้นที่ให้กลับสู่ความปกติสุขอีกครั้ง

ความสุขต่อมาคือ การเปิดทางระบายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา และเร่งรัดกระบวนการงบประมาณจนแล้วเสร็จ

ความสุขอีกอย่างคือ การเริ่มต้นจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง คิวรถตู้

คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ก้าวเข้ามาด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าเก่า

ดีกว่าเศรษฐกิจในปีที่มี “ชัตดาวน์ กทม.”

รัฐบาลได้รับแรงหนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมธนาคารไทย

สังคมไทยได้รับข้อมูลเชิงบวก..การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง สังคมจัดระเบียบ

พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้เกิด คสช. คัดเลือก สนช.และ ครม. สรรหา สปช. สุดท้ายคือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

รวมกันเป็นแม่น้ำ 5 สาย มีภารกิจสำคัญ 2 ประการคือ ร่างรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปประเทศ

วันนั้นปี 2557 วันนี้ปี 2559 เหตุการณ์ผ่านไป 2 ปี

คสช.แถลงผลงานล่าสุด…ยังคงจะทำตามสัญญา

เลือกตั้งปี 2560

2ปีที่ผ่านมา แม้ คสช.จะวางแผนการยึดอำนาจมาดีเช่นไร แต่ปัจจัยสำคัญที่คอยขัดขวางคือกระแสจากต่างประเทศเมื่อ คสช. ยึดอำนาจ และจัดระเบียบประเทศ ความเคลื่อนไหวของโลกประชาธิปไตยก็เริ่มขยับ

มีการแถลงประณาม มีการแสดงความเป็นห่วง แต่ที่น่ากลัวสุดคือการกีดกันการค้า

แม้ คสช.จะพยายามชี้แจงว่า ปัจจัยเศรษฐกิจไทยได้รับ

ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ไม่รุ่งเรืองเหมือนฝัน

แต่ คสช.ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปัจจัยการเมืองก็มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลง

แล้วการส่งออกของไทยก็เป็นหัวใจสำคัญของรายได้ประเทศเสียด้วย

เมื่อการส่งออกลดลง รายได้ประเทศน้อยลง การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็หดตัว

ประกอบกับไทยต้องเผชิญหน้ากับภัยแล้ง ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรไม่ดี ชาวนาและเกษตรกรไม่มีรายได้

เงินใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภคจึงลดลง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใช้จ่ายจึงได้ผลไม่เต็มกำลัง

แม้รัฐบาลจะแสวงหามาตรการกระตุ้นด้วยโปรโมชั่นพิเศษ แต่พอหมดโปรฯ ทุกอย่างก็กลับมาฝืดเหมือนเดิม

จะมีก็แต่งบประมาณแผ่นดินที่อัดฉีดลงสู่ระบบ เพื่อให้ทุกอย่างเคลื่อนไหวได้

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยนับแต่ปฏิวัติจึง “สาละวันเตี้ยลง”

เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งแม้ คสช.จะคุมฝ่ายต่อต้านได้อย่างอยู่หมัด

แต่บรรดานักการเมืองซึ่งได้รับผลกระทบจากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เริ่มออกมาแสดงความเห็นมากขึ้น

หลายปมหลายประเด็น ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีจุดยืนไม่เหมือนกัน กลับมีความเห็นตรงกัน

นักการเมืองหลายคนเริ่ม “ไม่กลัวน้ำร้อน” ส่วนทางรัฐบาลก็ใช้ “ค้อน” เข้ากำกับ

สุดท้ายต่างชาติก็ออกมาเคลื่อนไหวในรูปแบบนานัปการ

ปัญหาสิทธิเสรีภาพ ปัญหาสิทธิมนุษยชน กลายเป็นประเด็นที่ต่างชาติเฝ้ามอง

ล่าสุด ความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกา ความเคลื่อนไหวของสหภาพยุโรป ทยอยออกมากดดัน

แรงกดดันทำให้เกิด “วิวาท” กันเป็นระยะ

กระทั่งล่าสุดเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่าง กลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ กับ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ

แรงปะทุนั้นเลยเถิดมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่ให้สัมภาษณ์ตำหนิ

ถึงขั้นเอ่ยปากว่า “ทำให้คนไทยเขาเกลียดขี้หน้า”

ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองโดยทั่วไปถือว่ายังสงบ ไม่มีม็อบ ไม่มียิงกันกลางเมือง ไม่มีปิดถนน ไม่มีการเผาทำลาย

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่เห็นชอบกับรัฐบาล แม้จะชุมนุมกันบ่อยขึ้น แต่ไม่มีความรุนแรง

แม้กระทั่งการดำเนินการกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัด

พระธรรมกาย เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการอย่างระมัดระวัง

แต่อารมณ์ของสังคมยังมีความเก็บกดจากการใช้อำนาจรัฐและความเหลื่อมล้ำ

เป็นความเก็บกดที่สั่งสมไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม คสช.เองก็ได้ปูทางลงจากหลังเสือเอาไว้แล้ว

อย่างน้อยวันที่ 7 สิงหาคม ประชาชนก็จะได้ไปใช้สิทธิกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ในวาระการลง

ประชามติ

ประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน รัฐบาลก็เตรียมแผนการเอาไว้เพื่อผลักดันให้การเลือกตั้งมีขึ้นตามโรดแมป

อย่างน้อยเมื่อถึงปี 2560 การเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ย่อมหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำตามสัญญาแล้ว

พอถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ย่อมมีโอกาสลงจากหลังเสือ

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ลงจากหลังเสือ ย่อมขึ้นอยู่กับผลงานที่ทำไว้

ผลงาน 2 ปีที่ผ่านมา บวกกับผลงานอีก 1 ปีที่จะถึง

วันนี้หากการเลือกตั้งปี 2560 จะเกิดขึ้นจริง คงได้สัมผัสกับความเคลื่อนไหวของ คสช.

เคลื่อนไหวเพื่อหาจุดแลนดิ้ง

เคลื่อนไหวเพื่อกรุยทาง..ลงจากเสือตัวที่กำลังขี่หลังอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image