รายงานพิเศษ : มองจากมุม ‘จีน’ กรณีปัญหาทะเลจีนใต้

ทะเลจีนใต้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างยิ่งในช่วงหลังมานี้ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าคาดว่าศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ จะมีคำตัดสินเรื่องที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนกรณีข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งแม้ว่าจีนจะประกาศไม่รับคำตัดสินไว้ล่วงหน้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวกำลังจะกลายเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งที่จะลุกลามบานปลายต่อไปในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้สถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ได้เชิญคณะนักวิชาการจากสถาบันทะเลจีนใต้ศึกษาของจีน ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการที่มีนักวิชาการและนักวิจัยจากหลากหลายประเทศ เยือนไทยในฐานะแขกของสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ พร้อมกับเปิดแถลงข่าวและให้ผู้สื่อข่าวได้ซักถามในประเด็นทะเลจีนใต้ที่ถือว่าอยู่ในความสนใจของประชาคมโลกอย่างยิ่งในปัจจุบัน

นายวู่ ซีกัน ประธานสถาบันทะเลจีนใต้ศึกษา กล่าวว่า นโยบายของจีนต่อทะเลจีนใต้คือต้องการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้เพราะตระหนักดีว่าเรื่องดังกล่าวส่งผลต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกซึ่งจีนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้จีนยังปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงผลประโยชน์ของประชาคมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยืนยันได้ว่าเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ไม่ใช่ปัญหาและจะไม่เป็นปัญหา เพราะจีนและประเทศที่มีการอ้างสิทธิในพื้นที่ต่างก็ย้ำจุดยืนเดียวกันที่จะปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จีนจะเข้าไปแทรกแซงเสรีภาพในการเดินเรือที่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายทะเล

วู่ ซีกัน
วู่ ซีกัน

ภาพรวมของสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ในปัจจุบันถือว่ามีความมั่นคง สงบ และควบคุมได้ แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้ามาเกี่ยวข้องของมหาอำนาจนอกภูมิภาค และประเทศบางประเทศที่อ้างสิทธิในพื้นที่ดังกล่าวนำเรื่องเข้าสู่การดำเนินการตามกระบวนการกฎหมาย ประเทศที่เกี่ยวข้องต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายเกี่ยวกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งรวมถึงกระบวนการตามกฎหมายผ่านศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และความคืบหน้าของการร่างแนวปฏิบัติในทะลจีนใต้ (ซีโอซี) โดยสิ่งที่ถือเป็นประเด็นท้าทายหลักคือการเผชิญหน้าในพื้นที่ และการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลอนุญาโตตุลาการของฟิลิปปินส์ ขณะที่การหารือเพื่อจัดทำซีโอซีก็ยังเป็นกระบวนการที่เดินหน้าต่อไป โดยทั้งจีนและอาเซียนต่างก็เร่งให้กระบวนการหารือเพื่อจัดทำซีโอซีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะได้ข้อยุติในการยกร่างซีโอซี

Advertisement

 

“สาเหตุของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้มาจากการเข้ามาเกี่ยวข้องของประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาค แต่เชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาความขัดแย้งคือการเจรจาผ่านช่องทางทวิภาคี” นายวู่กล่าว

นายวู่กล่าวอีกว่า จีนยืนยันว่าปัญหาทะเลจีนใต้ควรต้องหาทางออกโดยสันติวิธีผ่านการเจรจาทวิภาคีของประเทศที่อ้างสิทธิ พร้อมทั้งยืนยันสิทธิตามประวัติศาสตร์และตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย อย่างไรก็ดีหากเอาประเด็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างออกไป ทะเลจีนใต้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอ่อนไหว การหาทางออกจากปัญหานี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งความหวัง ความร่วมมือ และสันติภาพ

Advertisement

เมื่อถามว่าทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาทะเลจีนใต้คืออะไรเมื่อแต่ละประเทศยังคงยืนยันในจุดยืนที่แตกต่างกัน นายวู่กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ถูกนำไปเป็นเกมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ อาทิ ประเด็นเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือ เพราะมหาอำนาจนอกภูมิภาคได้นำประเด็นเหล่านี้ไปขยายความให้เป็นปัญหาในทะเลจีนใต้ ดังนั้นการหาทางออกจึงเป็นเรื่องซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหาทางออกสำหรับปัญหานี้ในเวลาอันใกล้

อย่างไรก็ดีนายวู่มองว่า ทางออกที่ดีที่สุดและเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้คือการทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์ในขณะนี้ไม่เอื้ออำนวยให้ประเทศที่เกี่ยวข้องสามารถเจรจาหรือปรึกษาหารือเรื่องนี้ต่อไปได้ อย่างไรก็ดียอมรับว่าการทำพื้นที่พัฒนาร่วมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะยากที่จะระบุให้ชัดเจนว่าพื้นที่ใดที่ควรจะทำพื้นที่พัฒนาร่วม ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือจากการอ้างสิทธิทับซ้อนและการหาทางที่จะทำให้ฝ่ายที่อ้างสิทธิทับซ้อนตกลงกันได้

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงแนวโน้มของสถานการณ์ภายใต้การมีผู้นำใหม่ของฟิลิปปินส์ว่าจะส่งผลต่อความขัดแย้งกับจีนหรือไม่อย่างไร นายวู่รับว่า ก่อนหน้านี้จีนและฟิลิปปินส์มีปัญหาในความสัมพันธ์ทวิภาคีหลังฟิลิปปินส์ได้หันไปหาศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ แต่ขณะนี้ฟิลิปปินส์กำลังจะมีผู้นำประเทศคนใหม่ และว่าที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ได้เชิญเอกอัครราชทูตจีนประจำฟิลิปปินส์ไปพบที่เมืองดาเวา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งในมุมมองของตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณในทางบวกและปูทางไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ และยังเป็นสัญญาณที่ดีต่อการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ร่วมกันด้วย

ประธานสถาบันทะเลจีนใต้ศึกษามองว่า การนำข้อขัดแย้งไปสู่ศาลอนุญาโตตุลาการของฟิลิปปินส์เป็นการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวและไม่สามารถที่จะหาข้อยุติให้กับปัญหามีอยู่ได้ พร้อมกับย้ำว่าประเด็นเรื่องเสรีภาพในการเดินเรือไม่ใช่ปัญหาในทะเลจีนใต้อย่างแน่นอนแต่ปัญหาทะเลจีนใต้ทวีความตึงเครียดมากขึ้นหลังปี 2552 เมื่อสหรัฐประกาศนโยบายหันกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียอีกครั้งหนึ่ง ประเด็นทะเลจีนใต้ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐในภูมิภาค

ด้าน น.ส.หง หนง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของสถาบันทะเลจีนใต้ศึกษา กล่าวว่า จีนให้ความเคารพและดำเนินการตามความตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ เห็นได้จากกรณีการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าผ่านกลไกองค์การการค้าโลก ดังนั้นจึงไม่อาจพูดได้ว่าจีนไม่ให้ความสำคัญกับกลไกแก้ไขปัญหาที่มี แต่กรณีการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องทวิภาคีซึ่งจีนไม่ต้องการให้บุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง และมองว่าการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เพราะการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ควรทำผ่านแนวทางทวิภาคีก่อนที่จะส่งเรื่องไปยังฝ่ายที่ 3

น.ส.หงกล่าวอีกว่า ในกรณีนี้กลไกทวิภาคีก็ยังไม่ได้ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น เพราะในอดีตที่ผ่านมาจีนและประเทศเพื่อนบ้านก็สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดนผ่านการเจรจา แม้จะใช้เวลาแต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีกลไกความร่วมมือที่จีนและอาเซียนมีอยู่คือปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (ดีโอซี) ที่ได้ลงนามไปเมื่อปี 2545 ซึ่งควรจะเป็นกรอบที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคร่วมกัน จีนเชื่อว่าเรามีกรอบแก้ไขปัญหาระหว่างกันอยู่แล้ว ดังนั้นด้วยพื้นฐานดังกล่าวจีนจึงมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะไม่ยอมรับผลการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใดๆ ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเพราะเห็นว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ได้อย่างแท้จริง

ขณะที่นายสูราป คุปตะ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสถาบันทะเลจีนใต้ศึกษาระบุว่า สนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea-UNCLOS) ที่ฟิลิปปินส์ใช้เป็นพื้นฐานในการฟ้องร้องจีนต่อศาลอนุญาโตตุลาการนั้นไม่สามารถบังคับใช้กับกรณีข้อขัดแย้งเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนได้ และจีนมีความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์และกฎหมายจารีตประเพณีในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ พร้อมย้ำว่าจีนไม่ได้อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทั้งหมดในทะเลจีนใต้อย่างที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ใครบางคนอาจมองว่าทะเลจีนใต้เป็นเรื่องไกลตัว แต่หากพิจารณาให้ดีความขัดแย้งในกรณีนี้ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ด้วยโลกที่เชื่อมโยงใกล้กันมากขึ้น แม้แต่เรื่องที่เกิดในภูมิภาคอื่นๆ ยังส่งผลกระทบกับเราได้ ประสาอะไรกับเรื่องทะเลจีนใต้ที่หลายประเทศที่อ้างสิทธิทับซ้อนกับจีนก็เป็นประเทศสมาชิกที่อยู่ร่วมประชาคมอาเซียนกับไทย ขณะที่จีนก็เป็นมหาอำนาจในภูมิภาคที่มีความใกล้ชิดกับไทยในหลายมิติ ความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้จึงช่วยให้เรามองโลกได้อย่างรู้เท่าทันมากขึ้น

กระทั่งการประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการค้าอาวุธกับเวียดนามของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระหว่างเดินทางเยือนเวียดนามในสัปดาห์ก่อนยังถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจภายใต้แรงจูงใจที่สหรัฐต้องการเพิ่มแสนยานุภาพให้กับกองทัพเวียดนามซึ่งมีการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ทับซ้อนกับจีน แล้วผลการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรณีทะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนที่คาดว่าจะได้ข้อยุติในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะไม่เป็นเรื่องที่น่าติดตามได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image