สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนจากลุ่มน้ำโขงและบ้านเชียงเคลื่อนย้ายลงลุ่มน้ำน่าน 2,500 ปีมาแล้ว

ลายสลักเป็นรูปเรขาคณิตที่ถ้ำกาใหญ่ เขาช้างล้วง อ. นครไทย จ. พิษณุโลก แบบเดียวกับลายสลักที่แอ่งสกลนคร แสดงว่ามีการเคลื่อนย้ายจากอีสานเหนือ ลงลุ่มน้ำน่าน

บริเวณตะวันออกลุ่มน้ำน่าน เป็นเส้นทางสำคัญของการเคลื่อนไหวย้ายถิ่นระหว่างกลุ่มชนทางสองฝั่งโขงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยผ่านลุ่มน้ำน่าน แล้วเลยเข้าไปถึงเขตลุ่มน้ำยมกับลุ่มน้ำปิง ออกสู่ทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอลได้ ทางมอญ-พม่า

เครื่องมือเครื่องใช้ที่ชนเผ่ากลุ่มต่างๆ นำติดตัวเข้ามาบริเวณนี้ด้วย ยังมีอีกหลายอย่าง ล้วนทำด้วยสำริด เช่น มีด ขวาน ใบหอก หม้อ กาน้ำ ทัพพี และภาชนะทรงกระบอก ฯลฯ
พบบริเวณสองฝั่งแม่น้ำน่าน ตั้งแต่ อ. เมือง ถึง อ. ทองแสนขัน จ. อุตรดิตถ์ แล้วยังพบขวานสำริดที่เขาเข็น อ. ศรีนคร จ. สุโขทัย กับบรรดาเครื่องมือ-เครื่องประดับทำด้วยสำริดที่ อ. นครไทย จ. พิษณุโลก ทางฝั่งลำน้ำแควน้อยที่ไหลลงแม่น้ำน่าน

แผนที่แสดงบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กับเส้นทางคมนาคม เชื่อมโยงถึงแม่น้ำโขง
แผนที่แสดงบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน กับเส้นทางคมนาคม เชื่อมโยงถึงแม่น้ำโขง

ร่องรอยและหลักฐานทั้งหมดเหล่านี้ ย่อมยืนยันว่ามีผู้คนชนเผ่าเหล่ากอหลากหลายเคลื่อนไหวย้ายถิ่นจากดินแดนสองฝั่งโขง โดยเฉพาะจากอีสานเหนือ เช่น บ้านเชียง (จ. อุดรธานี) ไปตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณลุ่มน้ำน่านทางเขตอุตรดิตถ์มาถึงพิษณุโลก เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว

คนพวกนี้ล้วนเป็นบรรพชนยุคแรกๆ ที่จะก่อเป็นบ้าน แล้วสร้างเป็นเมืองยุคต่อๆ ไป

Advertisement

ยังไม่พบหลักฐานจะบอกได้ขณะนี้ว่าคนพวกนี้เป็นใคร? แต่ถ้าเทียบลักษณะชาติพันธุ์ดั้งเดิมจะพบว่ามีหลายตระกูล และพูดภาษาต่างกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่คนพวกนี้มีเหมือนกันคือความรู้และความชำนาญการถลุงโลหะ เช่น สำริด เหล็ก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อไปข้างหน้าในการหล่อรูปเคารพต่างๆ แบบสุโขทัย เช่น พระพุทธรูป และเทวรูป ฯลฯ

ชุมชนถลุงเหล็ก 2,500 ปีมาแล้ว ต้นประวัติศาสตร์รัฐสุโขทัย

บริเวณทางลุ่มน้ำปิงกับลุ่มน้ำยม (เขตต่อเนื่อง จ. ตาก กับ จ. สุโขทัย) มีชุมชนถลุงโลหะ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

Advertisement

แต่ที่สำคัญมากอยู่ที่บ้านวังหาด ต. ตลิ่งชัน อ. บ้านด่านลานหอย จ. สุโขทัย อันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่ลำพัน ที่ไหลผ่านบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย ไปลงแม่น้ำยม ถือเป็นชุมชนถลุงเหล็กยุคแรกเริ่ม และเป็นต้นประวัติศาสตร์รัฐสุโขทัย

ชุมชนถลุงเหล็กบ้านวังหาด เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่บ้านวังหาดไปถึงดอยผาขัดห้าง จ. ลำปาง
เครื่องมือเหล็กที่พบจำนวนมากถูกนำไปใช้สกัดแร่ หรือใช้สลักหิน (ดังที่พบภาพสลักบนหินตามถ้ำบางแห่งบริเวณลุ่มแม่น้ำน่าน และในภาคอีสาน) ชาวบ้านเรียกเครื่องมือดังกล่าวนี้ว่า “เหล็กสกัด”

ลายสลักสกลนคร

ลายสลักเป็นรูปเรขาคณิตที่ถ้ำกาใหญ่ เขาช้างล้วง อ. นครไทย จ. พิษณุโลก แบบเดียวกับลายสลักที่แอ่งสกลนคร แสดงว่ามีการเคลื่อนย้ายจากอีสานเหนือ ลงลุ่มน้ำน่าน
ลายสลักเป็นรูปเรขาคณิตที่ถ้ำกาใหญ่ เขาช้างล้วง อ. นครไทย จ. พิษณุโลก แบบเดียวกับลายสลักที่แอ่งสกลนคร แสดงว่ามีการเคลื่อนย้ายจากอีสานเหนือ ลงลุ่มน้ำน่าน

แล้วยังพบก้อนโลหะจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสื่อในการแลกเปลี่ยนแทนเงินตรา หรือเป็นตุ้มหูประดับ

ในบรรดาวัตถุโลหะที่พบ นักวิชาการอธิบายว่ามีเครื่องประดับเงินกับทองจำนวนหนึ่ง และดาบโบราณลักษณะคล้ายที่พบในเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้ เครื่องประดับสำริดคล้ายกำไลตกแต่งด้วยกระพรวนรูปตัว S ซึ่งอาจเป็นได้ว่าเป็นวัตถุในกระแสวัฒนธรรมดองซอนจากเวียดนาม

กำไลสำริดจำนวนหนึ่งเนื้อบางเฉียบ แสดงถึงฝีมือการหล่อที่ชำนาญ หรือไม่ก็มนุษย์ในชุมชนแห่งนี้ได้รับรู้และสัมผัสกับความรู้และเทคโนโลยีทางการผลิตหล่อสำริดขั้นสูง อันแสดงถึงการมิได้เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นและอยู่อย่างโดดเดี่ยว ทว่าอยู่ในวงจรของการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมของกลุ่มคนในยุคเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์

สภาพการเป็นแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่ของแหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ได้ดึงดูดคนกลุ่มหนึ่งให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แถบนี้ และอาจกล่าวได้ว่าชุมชนในลุ่มน้ำยม มีพัฒนาการทางด้านโลหกรรมเช่นเดียวกับชุมชนในภาคอีสาน และชุมชนเขตลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักในภาคกลาง

เงื่อนไขดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสุโขทัยสมัยเริ่มแรก เชื่อได้ว่ากระแสวัฒนธรรมทางเทคโนโลยีและการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ส่งผลเปลี่ยนแปรทางด้านเศรษฐกิจ-วัฒนธรรมให้แก่ชุมชน เช่น มีความรู้พัฒนาการทางเทคโนโลยีเฉพาะด้านชำนาญขึ้น

ผลได้ทางเศรษฐกิจย่อมดึงดูดประชากรให้มาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น และน่าจะได้มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในขอบข่ายกว้างขวาง เห็นได้จากปริมาณของลูกปัดที่คงใช้เป็นสื่อแลกเปลี่ยนจำนวนมาก วัตถุบางชิ้น เหรียญตรา คล้ายกับที่อื่นๆ

ลายสลักเป็นรูปเรขาคณิตที่ถ้ำกาใหญ่ เขาช้างล้วง อ. นครไทย จ. พิษณุโลก แบบเดียวกับลายสลักที่แอ่งสกลนคร แสดงว่ามีการเคลื่อนย้ายจากอีสานเหนือ ลงลุ่มน้ำน่าน
ลายสลักเป็นรูปเรขาคณิตที่ถ้ำกาใหญ่ เขาช้างล้วง อ. นครไทย จ. พิษณุโลก แบบเดียวกับลายสลักที่แอ่งสกลนคร แสดงว่ามีการเคลื่อนย้ายจากอีสานเหนือ ลงลุ่มน้ำน่าน
กำไลข้อมือสำริดเนื้อบาง ซึ่งต้องใช้เทคนิคขั้นสูงในการหล่อ พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ต. ตลิ่งชัน อ. บ้านด่านลานหอย จ. สุโขทัย
กำไลข้อมือสำริดเนื้อบาง ซึ่งต้องใช้เทคนิคขั้นสูงในการหล่อ พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด ต. ตลิ่งชัน อ. บ้านด่านลานหอย จ. สุโขทัย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image