กรณี’วัดพระธรรมกาย’ โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

การพยายามดำเนินการทางกฎหมายกับ “พระเทพญาณมหามุนี” หรือ “พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มิใช่ “เรื่องใหม่”

ไม่ว่าจะพิจารณาจากข้อกล่าวหาเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง

หรือจะพิจารณาจากวิธีคิด-วิถีปฏิบัติของวัดพระธรรมกาย ที่ถูกฆราวาสและพระสงฆ์บางส่วนตั้งแง่วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า ตีความหลักธรรมคำสอนอย่าง “ผิดเพี้ยน”

เพราะอย่างน้อยที่สุด แค่ลองย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เราก็จะพบเหตุการณ์ลดยศ-สึกพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ที่ถูกตัดสินว่าประพฤติตนไม่เหมาะไม่ควร (ทั้งเพราะมีแนวปฏิบัติสวนทางกับอาณาจักร และเพราะละเมิดพระธรรมวินัย) เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

Advertisement

บางกรณี ก็ถึงกับมีการปลด-ลดยศสมเด็จพระสังฆราช

บางกรณี ก็ลามไปถึงการลงทัณฑ์เจ้านายทรงกรม ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินลงโทษพระเถระผู้เป็นอาจารย์ กระทั่งเจ้านายองค์นั้นต้องถึงแก่ชีวิต

บางกรณี ก็มีการถอดยศพระราชาคณะ ที่กำลังจะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช และเนรเทศออกจากวัดมหาธาตุ อันเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในยุคนั้น

Advertisement

“ธรรมยุติกนิกาย” คล้ายจะอาจถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาเหล่านี้

เช่น ทำอย่างไร ศาสนจักรและอาณาจักรจึงจะสามารถดำรงอยู่และประสานงานร่วมกันได้โดยราบรื่นกลมกลืน ปราศจากความปริแยกขัดแย้ง

หรือ ทำอย่างไร วิถีปฏิบัติของพระสงฆ์จึงจะหวนกลับมา “เคร่งครัด (กว่าเดิม)” เป็น “ของแท้ (กว่าเดิม)” จนสามารถรื้อฟื้นกอบกู้ศรัทธาจากผู้คนจำนวนหนึ่งคืนมาได้

ดังนั้น การ “ลงไม้” จึงจำเป็นจะต้องตามติดมาด้วยการปรับเปลี่ยนปฏิรูปฐานคิด/ภูมิปัญญากันขนานใหญ่

โดยภาระหน้าที่สองประการดังกล่าวล้วนอยู่ใน “กระบวนการ” เดียวกัน แม้ผู้รับผิดชอบงานสองส่วนอาจสังกัดอยู่ใน “กลุ่มก้อน” หรือ “ขบวนการ” ซึ่งแตกต่างกันก็ตาม

ย้อนกลับมาที่กรณี “วัดพระธรรมกาย” ในยุคปัจจุบัน

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า การเล่นงานวัดพระธรรมกาย ผ่านข้อกล่าวหาเรื่องการบิดผันหลักธรรมคำสอน ซึ่งดำเนินมาราวสองทศวรรษนั้น

ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

หากประเมินจากฐานมวลชนที่ศรัทธาและให้การสนับสนุนวัด ซึ่งขยายตัวกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและนอกประเทศ

การจัดการกับวัดพระธรรมกายด้วยกฎหมายบ้านเมือง ด้วยฐานความผิดในแบบฆราวาส จึงเคลื่อนที่เข้ามาแสดงบทบาทอย่างมีนัยสำคัญและน่าสนใจ

แต่หากการใช้ “ไม้แข็ง” คราวนี้ ประสบผลสำเร็จ คำถามที่ตามมาก็คือ อำนาจรัฐจะจัดการอย่างไรกับศรัทธาที่มวลชนมหาศาลมีต่อวัดพระธรรมกาย

ถ้าคำสอนของวัดพระธรรมกายถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อ “ตอบโจทย์” ให้แก่ผู้นับถือศาสนาพุทธในสังคมไทยร่วมสมัย อย่างที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทซึ่งมีอยู่แต่เดิม ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ไม่สามารถให้คำตอบได้

การกระหน่ำตีผู้นำวัดจึงอาจเป็นความพยายามทำงานหนักเพียงด้านเดียว โดยยังมิได้มีการผลิตคำสอน-ฐานคิด ที่ใหม่กว่า ร่วมสมัยกว่า เป็นเหตุเป็นผลกว่า (ไม่ใช่ถูกต้องกว่าหรือเที่ยงแท้กว่า) เพื่อจะเข้ามาช่วยประคับประคองศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ผู้เชื่อมั่นในวัดพระธรรมกาย

ปัญหา คือ ใครกันจะเข้ามารับภาระหนักอึ้งตรงส่วนนี้?

และที่สำคัญ การบัญญัติให้รัฐส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนาเถรวาทในรัฐธรรมนูญ ก็คงมิใช่การแก้ปัญหาอันถูกจุดเสียทีเดียว

เพราะทั้ง “หยาบ” เกินไป และ “เข้าใจ-ใส่ใจ” ผู้คนน้อยเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image