‘ซุปเปอร์แฟลร์’ต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต?

ภาพ-NASA

นักดาราศาสตร์มีข้อขัดแย้งในเชิงทฤษฎีมานานแล้ว เรียกกันว่า “เฟนท์ ยัง ซัน พาราดอกซ์” ซึ่งวลาดิเมียร์ ไอรัปเพเชียน นักวิทยาศาสตร์สุริยะ จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) สหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่า เป็นข้อขัดแย้งเรื่องกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกเมื่อราว 4,000 ล้านปีก่อน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ดวงอาทิตย์มีพลังงานเพียงแค่ 70% ของพลังงานที่มีอยู่ในเวลานี้ แต่ทำไมถึงสร้างความอบอุ่นให้กับโลกได้ดีและนานพอต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตขึ้นได้

งานวิจัยใหม่เกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือ “เอ็กโซแพลเนท” ของทีมวิจัยที่นำโดยไอรัปเพเชียนโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ อาจเป็นคำตอบที่ไขปริศนาขัดแย้งดังกล่าวได้

เคปเลอร์แสดงให้เห็นว่า ดาวฤกษ์ที่เป็นศูนย์กลางของระบบดาวบางระบบ ซึ่งคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์เมื่อหลายพันล้านปีก่อนนี้กล่าวคือยังเป็นดาวอายุยังน้อย เพียงสองสามล้านปี (เทียบกับอายุของดวงอาทิตย์ 4.6 ล้านปี) แต่มีกิจกรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก มีการระเบิดของแฟลร์ หรือการระเบิดรังสี กับการปลดปล่อยมวลโคโรนา (ซีเอ็มอี) หรือกลุ่มก้อนของเมฆพลาสมาที่มีความร้อนจัดเกิดขึ้นถี่ยิบ

ระดับกิจกรรมดังกล่าวเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์อายุมากๆ แล้ว มีมากกว่าหลายเท่า ตัวอย่างเช่น ดวงอาทิตย์ เกิดการระเบิดที่เรียกว่า “ซุปเปอร์แฟลร์” ดังกล่าวนี้ประมาณ 1 ครั้ง ทุกๆ 100 ปี แต่ดาวฤกษ์อายุน้อยที่ตรวจสอบบางครั้งเกิดการระเบิดของมหาพายุสุริยะขึ้นวันละมากถึง 100 ครั้ง เป็นต้น

Advertisement

ซึ่งนำไปสู่แนวคิดตามทฤษฎีกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกแนวใหม่ของทีมวิจัยของไอรัปเพเชียน ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ดวงอาทิตย์เมื่อ 4,000 ล้านปีก่อนก็เกิดการระเบิดของซุปเปอร์แฟลร์บ่อยครั้งเช่นเดียวกับดาวฤกษ์อายุยังน้อยทั้งหลายที่สังเกตพบในเวลานี้ และพายุสุริยะขนาดมหึมาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี่เองที่เป็นหัวใจในการทำให้โลกมีความอบอุ่นเพียงพอ จนกลายเป็นเหตุปัจจัยสำคัญของการเกิดสิ่งมีชีวิตโดยอ้อมในเวลาต่อมา

ตามทฤษฎีดังกล่าว ซุปเปอร์แฟลร์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้โลกอุ่นขึ้นในทางอ้อม เพราะไปเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในบรรยากาศของโลก ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อ 4,000 ล้านปีนั้น 90% ของบรรยากาศโลกคือ โมเลกุลาร์ไนโตรเจน (หรือไนโตรเจนอนินทรีย์ ซึ่งมีไนโตรเจน 2 อะตอมรวมตัวเข้าด้วยกัน ในปัจจุบันโมเลกุลาร์ไนโตรเจนมีสัดส่วนเป็น 78% ของอากาศบนโลก)

มหาพายุสุริยะที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ในเวลานั้นจะส่งอนุภาคมีประจุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงแทรกผ่านบรรยากาศโลกมาได้มากและลึกกว่าทุกวันนี้ เหตุเพราะในเวลานั้นสนามแม่เหล็กโลกที่เป็นตัวสะท้อนอนุภาคเหล่านั้นในทุกวันนี้ยังอ่อนแรงกว่าในเวลานี้มาก อนุภาคเหล่านี้จะทำให้โมเลกุลของไนโตรเจนอะตอมคู่ แตกตัวเป็นไนโตรเจนอะตอมเดี่ยว

Advertisement

“ไนโตรเจนอะตอมเดี่ยว” มีความสำคัญเพราะมันเป็นตัวการทำให้ โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ แตกตัวออกเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ กับอะตอมของออกซิเจน

ไนโตรเจนอะตอมเดี่ยวกับออกซิเจนที่ล่องลอยเป็นอิสระนี้ ในที่สุดจะรวมตัวกันเป็นไนตรัสออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 300 เท่า ทำให้ผิวโลกอุ่นขึ้น น้ำคงสภาพเป็นของเหลวยาวนาน เอื้อต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิต

ทีมวิจัยยังเชื่อว่าอนุภาคที่มีประจุจากดวงอาทิตย์ดังกล่าวอาจเป็นแหล่งที่มาของพลังงานซึ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนโมเลกุลทั่วไปให้กลายเป็นสารประกอบอินทรีย์เชิงซ้อน อาทิ ดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตรวมทั้งตัวเราด้วยนั่นเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image