“รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนต้น) โดย เกษียร เตชะพีระ

"รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก" (ตอนต้น) โดย เกษียร เตชะพีระ

“รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนต้น)

ข้อคิดเรื่อง Deep State หรือที่ อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร แปลเป็นไทยอย่างแยบคายว่า “รัฐพันลึก” ซึ่ง อาจารย์เออเชนี เมริโอ นักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสประยุกต์ใช้มาวิเคราะห์การเมืองไทยสองทศวรรษหลังนี้ในบทความ “Thailand”s Deep State, royal power and the Constitutional Court (1997-2015)”, Journal of Contemporary Asia, 2016. ดูจะเป็นที่ถูกตาต้องใจนักวิชาการไทยไม่น้อยจนนำมาเขียนอธิบายขยายความสืบต่อกัน

แต่ก่อนอื่น ขออนุญาตแนะนำผู้เขียนบทความต้นน้ำ อาจารย์เออเชนี เมริโอ หรือ เจนนี่ เพิ่มเติมสักเล็กน้อย โดยอาศัยถ้อยคำของเธอเองที่เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารสารคดีไว้เมื่อศกก่อนว่า :

“ตอนนี้เจนนี่ทำอะไรอยู่?

– ตอนนี้เป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ สอนรัฐศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ หลักสูตรอินเตอร์เนชั่นแนลภาษาอังกฤษ สอนทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท สอนวิชาเกี่ยวกับกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เจนนี่เรียนด้านรัฐศาสตร์ กฎหมาย แล้วก็ภาษาศาสตร์ด้วยที่ปารีส เรียนทั้งสามมหาวิทยาลัย มี Sciences Po, Sorbonne, INALCO มีปริญญาทางกฎหมาย ภาษาศาสตร์ และอีกตัวหนึ่งคือรัฐศาสตร์ เรียนปริญญาเอก อาจเป็นด๊อกเตอร์เร็วๆ นี้ รอมา 5 ปีแล้ว เจนนี่ลาออกจากงานที่สถาบันพระปกเกล้าเพื่อมาทำปริญญาเอก แล้วก็ไปทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ก่อนที่จะไปเป็นอาจารย์ที่ฝรั่งเศสประมาณ 6-7 เดือน ตอนนี้ตัดสินใจมาอยู่เมืองไทย น่าจะยาวเลย ส่วนปริญญาเอกก็จะจบแล้ว หัวข้อตอนแรกเกี่ยวกับเรื่องตุลาการภิวัฒน์ แต่ตอนนี้ก็มาศึกษาให้ใหญ่ขึ้น ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมาย ศาสนา ภาษา และกษัตริย์”

Advertisement

(http://www.sarakadee.com/2015/07/25/eugenie-merieau/#sthash.1D3yEBXN.dpuf)

ในบทความ “รัฐพันลึก” (มติชนรายวัน, 18 มี.ค. 2559, น.20) อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ช่วยนิยามและจับใจความสำคัญของรัฐพันลึกในบทวิเคราะห์ของเจนนี่ให้ว่า :

“ผู้เขียนขอแปล Deep State เป็นไทยว่า รัฐพันลึก ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ

Advertisement

“(รัฐพันลึก) …เป็นอิสระ มีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลำดับชั้นของตนเอง ขนานไปกับรัฐปกติ รัฐพันลึกมีกลไกรัฐทำงานด้านอุดมการณ์เพื่อสร้างวาทกรรมว่าด้วยประชาธิปไตยอันพึงปรารถนา ที่สอดคล้องกับความต้องการของรัฐพันลึก… ก่นสร้างและจัดวางความคิดเห็น ทัศนคติสาธารณะ โดยใช้วิธีการต่างๆ รวมทั้งการสร้างสถานการณ์วิกฤต และภาวะฉุกเฉินเพื่อความมั่นคงของชาติ

“รัฐพันลึกเหมือนกับรัฐปกติ ที่ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียว ภายในรัฐพันลึกก็มีมุ้งต่างๆ แก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ แต่มีข้อต่างคือ รัฐปกติมองเห็นด้วยตา แต่รัฐพันลึกแฝงหลบอยู่ลึกก้นบึ้ง และไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำใดๆ จึงเป็นกรอบโครงแบบไม่เป็นทางการ ในการรักษาหรือคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ด้านสถาบันของกลุ่มบุคคล ที่มีเป้าประสงค์ร่วมกัน ทั้งผู้ที่อยู่ในรัฐปกติ และที่อยู่ในเครือข่ายนอกรัฐที่จะยึดโยงกันไว้ในการกระทำการ เพื่อเป้าประสงค์ในการรักษาผลประโยชน์ที่ว่านั้น

“แนวคิดรัฐพันลึก มักถูกใช้อธิบายกลุ่มอำนาจที่ร่วมกันต่อต้านขบวนการประชาธิปไตย หรือการเมืองเปิดที่ประชาชนในวงกว้างมีส่วนร่วมสูง มักประกอบด้วยกลุ่มทหาร ตำรวจ ตุลาการ ที่มีตำแหน่งหน้าที่บริหารราชการในรัฐปกติอยู่แล้ว แต่ยังร่วมทำกิจกรรมแอบแฝงที่มีอำนาจเหนือรัฐปกติ โดยกระทำการแบบไม่เปิดเผย หรือทำแบบลับๆ รัฐพันลึกสามารถสร้างสถานการณ์ เพื่อสั่นคลอนรัฐปกติ หรือเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร ล้มล้างรัฐปกติ

“แนวคิดรัฐพันลึกเคยถูกใช้อธิบายการเมืองสมัยสงครามเย็นในบางประเทศที่ CIA ของสหรัฐได้เข้าแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนการเมืองด้วยความร่วมมือจากชนชั้นนำบางกลุ่มในพื้นที่ และใช้ในการอธิบายการเมืองที่ตุรกีเมื่อทศวรรษ 2460 สมัย มุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก…”

ในเดือนถัดมา อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็หยิบยกแนวคิด “รัฐพันลึก” จากบทความของเจนนี่มาอภิปรายเชื่อมโยงกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในบทความ “รัฐพันลึกกับร่างรัฐธรรมนูญ” ลงเว็บออนไลน์ ประชาไท เมื่อ 6 เมษายน ศกนี้ (http://prachatai.com/journal/2016/04/65105)

ก่อนอื่น อาจารย์นิธิแยกแยะแนวคิดหลักของบทความให้เห็นชัดถึงลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันของมัน ระหว่าง [รัฐพันลึก, รัฐทางการ และเครือข่ายไม่เป็นทางการ] ว่า :

– เทียบกับเครือข่ายไม่เป็นทางการ, รัฐพันลึกมีความเป็นสถาบันและการจัดองค์กรที่รัดกุมกว่า (institutionalization & organization) และดังนั้นจึงได้ขยายบทบาทเข้ามาทำงานแทนที่เครือข่ายไม่เป็นทางการแต่เดิมในระยะหลังนี้

– และหากเทียบกับรัฐทางการ, รัฐพันลึกไม่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ต้องแสวงหาความชอบธรรม (accountability & legitimacy) และดังนั้นการที่รัฐพันลึกโผล่พ้นผิวน้ำและปรับฐานะบทบาทมาเป็นรัฐทางการจึงเพิ่มภาระปัญหาทางการเมืองให้แก่ตัวมันเอง

อาจารย์นิธิได้อธิบายขยายความต่อโดยเชื่อมโยงกับร่างรัฐธรรมนูญและหน้าฉากประชาธิปไตยและการเลือกตั้งว่า :-

“ความต่างระหว่าง “เครือข่ายฯ” และรัฐพันลึกก็คือ รัฐพันลึกพยายามทำให้ความสัมพันธ์ในเชิง “เครือข่ายฯ” มีลักษณะเป็นสถาบันมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องอาศัยบารมีของบุคคลในการบริหารจัดการเพียงอย่างเดียว และการเมืองไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่การปกครองของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนอีกอย่างหนึ่ง

ดังนั้น อุดมคติที่รัฐพันลึกมุ่งหวังก็คือ รัฐไทยที่อยู่ข้างบนและมองเห็นได้โดยคนทั่วไป มีลักษณะประชาธิปไตย เช่น มีการเลือกตั้ง, มีพรรคการเมือง, มีรัฐสภา, มีเสรีภาพของสื่อ, ฯลฯ แต่การชี้นำและกำกับควบคุมจะอยู่กับรัฐพันลึกซึ่งไม่ต้องปรากฏโฉมให้เห็น หากมีการกำกับควบคุมจากสถาบันที่รัฐธรรมนูญรองรับ ซึ่งที่จริงเป็นสถาบันหรือองค์กรในกำกับของรัฐพันลึกอีกทีหนึ่ง จนดูเหมือนเป็นการทำงานตามกลไกประชาธิปไตยโดยปรกติ การปกครองด้วยเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจึงไม่ได้อยู่ในกำกับควบคุมของเสียงข้างมาก แต่อยู่ในกำกับควบคุมของรัฐพันลึก โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ทันรู้ตัว หรือพอใจให้เป็นอย่างนั้น”

ทว่า รอบสิบปีที่ผ่านมา แผนการของรัฐพันลึกผ่านกลไกตุลาการภิวัฒน์ประสบความล้มเหลว ทำให้ต้องลงเอยด้วยการรัฐประหารถึงสองครั้ง ส่งผลให้รัฐพันลึกไม่อาจจะพันลึกอีกต่อไป “เพราะการรัฐประหารย่อมบังคับให้รัฐพันลึกต้องลอยขึ้นใกล้ผิวน้ำ ทำให้ใครๆ มองเห็นได้หมด”

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น คปค. และ คสช. รวมทั้งบุคลากรพันลึกแห่งแม่น้ำทุกสายผู้ให้ความร่วมมือผลักดันโครงการอุดมคติแห่งรัฐพันลึกในประการต่างๆ จนอาจกล่าวบรรยายได้ว่า :

พันไม่ลึก

ใครต่อใครเป็นใครมีใครบ้าง ปรากฏร่างชุมนุมรุมยกโป้ง

ผุดซ้ายขวาหน้าหลังทั้งเชื่อมโยง รัฐพันลึกยกโรงโผล่ออกมา

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์เรื่องรัฐพันลึกของอาจารย์เจนนี่, ผาสุก และนิธิ ทำให้ผมหวนมองมุมกลับของแนวคิดดังกล่าว และนึกถึงสิ่งที่ผมอยากลองเรียกว่า “สังคมพันลึก” (Deep Society) ที่คู่ขนานกันอยู่ในสังคมการเมืองไทยบ้าง

(ต่อสัปดาห์หน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image