แพทยสภาฟอร์มทีมแพทย์ราชวิทยาลัย 5 คนเข้าตรวจอาพาธ “ธัมมชโย”ป่วยจริง-ไม่จริง(คลิป)

ตามที่ร.ท.นพ.ชูชัย พรพัฒนาพันธุ์ หนึ่งในคณะแพทย์ผู้รักษาพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภา เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาตรวจและวินิจฉัยโรค เพื่อไขข้อสงสัยให้สังคมนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงข่าวภายหลังการประชุมอนุกรรมการบริหาร พิจารณา วาระที่หน่วยราชการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งหนังสือที่ ยธ.0804/1789 ขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ในการออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ กรณีของวัดพระธรรมกาย ว่า มี ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งหนังสือมายังแพทยสภาเพื่อให้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของแพทย์ในการออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ ร่วมกับการร้องขอของทีมแพทย์ที่ให้การดูแลพระเทพญาณมหามุนี เพื่อส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจอาการอาพาธของพระเทพญาณมหามุนีที่วัดพระธรรมกาย นั้น

ศ.นพ.สมศักดิ์ แถลงว่า คณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภาได้พิจารณา และมีมติเบื้องต้น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารแพทยสภา ในวันที่ 9 มิถุนายน ว่า 1. เห็นควรส่งเรื่องใบรับรองแพทย์ให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมชุดเฉพาะกิจ เพื่อพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ในการออกใบสำคัญความเห็นแพทย์ โดยมีนพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา เป็นอนุกรรมการฯ และนพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เป็นอนุกรรมการฯ และเลขานุการ ซึ่งกรณีการตรวจสอบใบรับรอง จะต้องเชิญแพทย์ผู้ถูกร้องว่าออกใบรับรองมาถูกต้อง หรือเป็นเท็จ

Advertisement

ศ.นพ.สมศักดิ์ แถลงต่อว่า 2. กรณีหนังสือขอความอนุเคราะห์ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางไปตรวจและวินิจฉัยโรคพระเทพญาณมหามุนี ตามหนังสือร้องขอของคณะแพทย์ผู้รักษา คณะอนุกรรมการบริหารแพทยสภา ได้พิจารณาตามพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 (4) แพทยสภามีวัตถุประสงค์ “ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ และการสาธารณสุข” จากกรณีดังกล่าวเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนของสังคม จึงเห็นชอบที่จะดำเนินการตามคำร้องขอในการส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจอาการอาพาธของพระเทพญาณมหามุนีที่วัดพระธรรมกาย เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการตรวจสอบแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์นั้น จะตรวจสอบอย่างไรบ้าง ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องเชิญมาให้ข้อมูล พร้อมทั้งขอดูเวชระเบียน ซึ่งกรณีนี้จะนำข้อมูลจากการลงไปตรวจอาการอาพาธของพระธัมมชโยด้วย ว่า หากไม่ได้ป่วยตามใบรับรองแพทย์ ก็ถือว่าเป็นการออกใบรับรองเท็จ ซึ่งแพทย์ก็จะมีความผิด อย่างไรก็ตาม ส่วนกรณีการใช้ต้นขั้วของใบรับรองแพทย์เป็นของรพ.ค่ายภานุรังษี จ.ราชบุรี นั้น เป็นเรื่องของภายในรพ. ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาในการตรวจสอบ

“ไม่ว่าอย่างไรก็ตามจะต้องรอการลงไปตรวจสอบอาการอาพาธของพระเทพญาณมหามุนี ก่อน ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะนำข้อมูลนี้มาประกอบกัน แต่สิ่งสำคัญการจะลงไปตรวจอาการได้ จะต้องได้รับการยินยอมจากพระเทพญาณมหามุนี ก่อน รวมทั้งยินยอมให้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงจากการตรวจ ต่อสาธารณชนหากไม่ยินยอม ก็จะถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย โดยภายในวันนี้ได้ทำหนังสือเพื่อขออนุญาตเข้าตรวจอาการอาพาธแล้ว หากยินยอมก็จะส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแพทยสภา และคาดว่าจะลงพื้นที่ไปยังวัดพระธรรมกายภายในสัปดาห์หน้า” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นายกแพทยสภา กล่าวอีกว่า โดยจะเชิญแพทย์ผู้แทนจากราชวิทยาลัย 3 สาขา คือ ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์ และรังสีแพทย์ โดย 1 ทีม จะมีประมาณ 5 คน เป็นแพทย์ทั้งด้านโรคหัวใจ ปอด โลหิตวิทยา ศัลยแพทย์เส้นเลือด และรังสีแพทย์ ในเรื่องเอ็กซเรย์เข้าไป รวมทั้งจะมีกรรมการแพทยสภาไปร่วมด้วยอีก 2 ท่าน เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปแพทยสภาจะตรวจสอบอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า 1. ป่วยจริงหรือไม่ หากป่วยจริง มีอาการป่วย หรือมีรอยโรคของกลุ่มโรคชนิดใด และ2. ใบรับรองแพทย์ เป็นไปตามอาการป่วยหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะทำให้ทราบว่าใบรับรองแพทย์เป็นจริงหรือเป็นเท็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image