เคาะไฮสปีดไทย-จีนทุ่ม 500 ล้าน ปักหมุดกลางดง

แฟ้มภาพ

“ไทย-จีน” เคาะราคาสุดท้ายไฮสปีดเทรน “กทม.-โคราช” เงินลงทุน 189,999 ล้านบาท ทุ่ม 500 ล้าน ปักหมุด “กลางดง-ปางอโศก” ระยะทาง 3 กม. เป็นจุดคิกออฟโครงการให้ทัน ก.ย.นี้ตามข้อตกลง MOU หลังเลื่อนตอกเข็ม 2 ครั้ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มิ.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 11 ที่ประเทศไทย จะหารือถึงข้อสรุปจากการประชุมครั้งที่ 10 ที่ปรับรายละเอียดกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ซึ่งจะต้องมีการลงนาม FOC (Framework of Cooperation) กันใหม่

เบื้องต้นได้ข้อสรุปร่วมกับจีนถึงกรอบเงินลงทุนในเฟสแรกกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. จะใช้เงินลงทุน 189,999 ล้านบาท ลดจากเดิมที่จีนเสนอ 220,000 ล้านบาท ส่วนราคา 1.7 แสนล้านบาทที่เคยระบุกันก่อนหน้านี้เป็นวงเงินที่ยังไม่รวมช่วงภาชี

“เงินปรับลดไป 3 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากที่ไทยเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างทั้งหมด จึงต้องอ้างอิงราคาก่อสร้างของไทยเป็นหลัก อีกทั้งตัดงานก่อสร้างไม่จำเป็นออก คือ สถานี 3 แห่งที่ภาชี แก่งคอย และโคกสะอาด เหลือ 5 สถานีมี กรุงเทพฯ อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และโคราช เพราะเมื่อปรับเป็นไฮสปีดเทรนแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างสถานีถี่เกินไป เพราะรถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. พร้อมกับปรับขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีเชียงรากน้อย และขยับแนวใหม่ช่วงกรุงเทพฯ-ภาชีประมาณ 80 กม. เลี่ยงท่อก๊าซของ ปตท. และช่วงลำตะคอง” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

Advertisement

นอกจากนี้ ยังได้ข้อสรุปร่วมกับจีนจะสร้างบางช่วงให้เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเริ่มต้นโครงการตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน จะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ก.ย. 2559 นี้ โดยจะตัดงานก่อสร้างช่วงสถานีกลางดง-สถานีปางอโศกมาดำเนินการก่อนเป็นลำดับแรก มีระยะทางประมาณ 3 กม. คาดว่าจะใช้ค่าก่อสร้างประมาณ 500 ล้านบาท หลังจากนี้ จะเสนอให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป

“การที่ตัดบางช่วงมาสร้างก่อน เพื่อให้เห็นว่าโครงการที่ทั้ง 2 รัฐบาลลงนามใน MOU ร่วมกันมีการเริ่มต้นได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ หลังจากที่เลื่อนการก่อสร้างมาแล้วหลายครั้งนับจากครั้งแรกในเดือน ก.ย. 2558 ครั้งที่ 2 เป็นเดือน พ.ค. 2559 และล่าสุดเป็นเดือน ส.ค.-ก.ย. 2559” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ผลประชุมครั้งที่ 10 ที่ผ่านมาประกอบด้วย รูปแบบโครงการเป็นความร่วมมือรูปแบบจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ วงเงินลงทุนโครงการทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องหาข้อสรุปโดยเร็ว และทำแบบรายละเอียดก่อสร้างให้เสร็จใน 60 วัน รูปแบบการก่อสร้างโครงการแยกเป็น 2 ส่วน คือ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยเข้าร่วมโครงการ จะแบ่งเป็น 4-5 ตอนเพื่อให้ก่อสร้างได้เร็วที่สุด

ส่วนงานระบบและรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายจีนจะคัดเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีผลงานให้ไทยพิจารณา ขณะที่การให้บริการเดินรถนั้นฝ่ายไทยจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ โดยตั้งบริษัทเดินรถ และฝ่ายจีนให้ความช่วยเหลือในช่วงเริ่มต้นด้านการบริหารจัดการ ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร

สำหรับแหล่งเงินลงทุน ฝ่ายไทยจะเป็นผู้จัดหา ขณะเดียวกัน จะพิจารณาใช้เงินกู้จากจีนด้วยในส่วนของงานระบบ หากจีนมีข้อเสนอทางการเงินที่ดีที่สุดให้ โดยไทยขออัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% อีกทั้งยังมีความเห็นรวมกันจะเริ่มการก่อสร้างในส่วนแรกภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2559

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image