สถาบันโภชนาการเสนอมาตรการทางภาษี ลดราคาอาหารสุขภาพ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายกิตติ สรณเจริญพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าเด็กไทยมีภาวะอ้วน และน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นเยอะ ขณะเดียวกันก็พบว่ามีป่วยเบาหวานในกลุ่มอายุน้อยลงเรื่อยๆ 15-16 ปี ก็เริ่มเป็นเบาหวานมากขึ้น และจากการวิเคราะห์พบว่าน้ำหนักเกินกับภาวะอ้วนมีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการสำรวจการขายอาหารรอบโรงเรียนในระยะ 100 เมตรในโรงเรียนทุกระดับของจังหวัดเชียงใหม่ 100 แห่ง นนทบุรี 54 แห่ง อุบลราชธานี 100 แห่ง สงขลา 100 แห่ง พบว่า มีการขายอาหารที่ไม่เป็นมิตรกับสุขภาพ ทั้งขนมกรุบกรอบ ของทอด เป็นต้น ส่วนร้านผลไม้ที่ควรจัดให้มีการจำหน่ายมากที่สุดกลับพบว่ามีไม่ถึงร้อยละ 5 บางโรงเรียนไม่พบว่ามีการจำหน่ายเลยด้วยซ้ำ ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาครัฐมีนโยบายห้ามจำหน่ายน้ำหวาน น้ำอัดลมในโรงเรียน แต่กลับพบว่าครูเป็นคนแอบเอามาขายให้นักเรียนเสียเอง

นายกิตติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า ในส่วนของโครงการอาหารกลางวันเท่าที่มีการสังเกตด้วยสายตาพบว่าผักไม่เพียงพอ บางครั้งไม่มีผลไม้ เพราะอาหารที่ทำทำเป็นหม้อใหญ่ บางวันมีกับข้าวอย่างเดียว หากเงินเหลือก็จะมีกับข้าว 2 อย่างในบางวัน ซึ่งไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แต่อยากให้มีการวางแผนก่อนจ่ายตลาด ดูว่าทั้งสัปดาห์นั้นเฉลี่ยแล้วได้สารอาหารครบหรือไม่ ทั้งนี้ หลายโรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการห้ามร้านค้าขายขนมไม่มีประโยชน์มากมาย แต่หากทำในภาพรวมทั้งประเทศก็จะช่วยได้มากขึ้น เห็นได้จากปัจจุบันมีแนวคิดการเพิ่มภาษีน้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการขึ้นภาษีอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และให้อาหารเพื่อสุขภาพราคาถูกลง เพื่อให้คนหันมาทานอาหารเหล่านี้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image