สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชฎา, มงกุฎ โขนละคร ได้จาก “ลอมพอก” ของเปอร์เซีย (อิหร่าน)

โขนเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ มีส่วนผสมของวัฒนธรรมต่างๆ หลากหลาย
มีทั้งส่วนที่เป็นพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ และส่วนที่รับจากอินโด-เปอร์เซีย รับจากอินเดีย ได้แก่ เรื่องรามายณะ แล้วไทยเรียกรามเกียรติ์
รับจากเปอร์เซีย ได้แก่ ชฎา, มงกุฎ, และผ้า มีคำอธิบายละเอียด ดังนี้

โขนละครในราชสํานักสุวรรณภูมิยุคแรกๆ สวมลอมพอก เมื่อนานเข้าก็มีพัฒนาการเป็นชฎา, มงกุฎ
ลา ลูแบร์ เมื่อดูโขนละครของราชสํานักอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ราชอาณาจักรสยาม โดย มร. เดอ ลา ลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สํานักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) จึงมีบันทึกว่า

โขนละคร “สวมชฎาทําด้วยกระดาษทองน้ำตะโก ทรงสูงปลายแหลมเกือบเหมือนลอมพอกของพวกขุนนาง แต่ครอบลงมาข้างล่างจนปรกใบหู”
ที่ลาลูแบร์เห็นอย่างนั้นเป็นเพราะเมื่อเล่นเรื่องรามเกียรติ์ก็พรางหน้าจริงโดยสวมหน้ากากเป็นตัวต่างๆ แล้วสวมลอมพอกไว้บนหัวเมื่อเป็นตัวพระ, นาง และยักษ์
ลอมพอกสวมหัวค่อยๆ ประดิดประดอยประดับประดาจนถึงสมัยหลังๆ ก็เป็นชฎาตัวพระ และ มงกุฎตัวนาง

ชฎา, มงกุฎ หมายถึงเครื่องสวมศีรษะ มียอดแหลม และมีหลายแบบ

Advertisement

นักปราชญ์ราชบัณฑิตสยามอธิบายสอดคล้องกันว่าชฎามีต้นแบบจากลอมพอกที่เป็นเครื่องสวมศีรษะของเปอร์เซีย (อิหร่าน) อาจารย์ประภัสสร์ ชูวิเชียร (ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) กรุณาหาภาพและเขียนคําอธิบายอย่างละเอียดที่เอามาลงพิมพ์ประกอบอยู่ในล้อมกรอบนี้แล้ว

ลอมพอก เครื่องสวมศีรษะรูปยาว ยอดแหลม หรืออาจมนๆ ไม่แหลมนักก็ได้ ล้วนได้
แบบจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา แล้วใช้เป็นเครื่องทรงพระเจ้าแผ่นดินกับเครื่องแบบขุนนางสยามยุคอยุธยา ต่อมามีพัฒนาการเป็นชฎาและมงกุฎ ใช้แต่งตัวโขนละครด้วย

ลอมพอก มาจาก ลอม กับ พอก

Advertisement

ลอม หมายถึง กองเรียงกันขึ้นไปให้สูงเป็นจอม เช่น ลอมฟาง วางท่อนไม้ให้ปลายด้านบนรวบกันเป็นจอม เช่น ลอมฟืน
พอก หมายถึง เพิ่ม, พูน, โพก เช่น โพกหัว, โพกผ้าขะม้า, ฯลฯ
ลอมพอกของพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งหลาย มีคําพรรณนาอธิบายของ ลา ลูแบร์ ที่เห็นด้วยตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2230 ไว้ในจดหมายเหตุฯ ยุคสมเด็จพระนารายณ์ว่า

“พระลอมพอกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ประดับขอบ หรือเสวียนเกล้าด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์”
ลอมพอก “ของพวกขุนนางนั้นประดับเสวียนทองคําา, เงิน, หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ ลางคนก็ไม่มีเสวียนเลย
พวกขุนนางจะใช้ลอมพอกนี้ชั่วเวลาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ หรือเพลาประชุมคณะขุนศาลตุลาการ หรือในพิธีลางอย่างเท่านั้น
เขาใช้แถบผูกโยงยึดไว้ใต้คาง และเมื่อแสดงการเคารพก็มิได้ถอดออก”
นอกจากลอมพอกแล้ว เครื่องแต่งตัวโขนละครยังใช้ผ้าของเปอร์เซียด้วย
ดังนั้น ที่อวดกันว่าโขนละครเป็นของไทยแท้ๆ จึงไม่จริง เพราะมีทั้งส่วนที่เป็น “วัฒนธรรมร่วม” พื้นเมืองสุวรรณภูมิ แล้วยังมีส่วนที่ได้จากอินเดียกับเปอร์เซียด้วย
ถ้านาฏศิลป์โขนละครสะท้อนความเป็นไทยแท้ๆ ก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่าความเป็นไทยแท้ๆ ไม่มีจริง
แต่ความเป็นไทยที่มีจริงประกอบด้วยวัฒนธรรมหลากหลายจนจําแนกไม่ได้ทั้งหมด
ว่ามีอะไรผสมปนเปอยู่บ้าง

ลอมพอก01

ลอมพอก02

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image