ระวัง! ดื่มน้ำจากกระป๋อง-สัมผัสปากโดยตรง เสี่ยงรับเชื้อ “ฉี่หนู” ไม่รู้ตัว

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนนี้มีความเป็นห่วงประชาชนป่วยเป็นโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ซึ่งปัจจุบันพบได้ทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยในฤดูฝนประชาชนจะมีความเสี่ยงป่วยจากโรคนี้ง่าย เนื่องจากทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่า หนูท่อ ที่เป็นตัวพาหะสำคัญของโรคนี้จะหนีน้ำเข้ามาอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนรวมทั้งสำนักงานต่างๆ เชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนูที่ติดเชื้อได้เป็นเวลานานหลายเดือน และแพร่เชื้อโรคมาสู่คน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทางคือ ทางปาก จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไปและไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปาก หรือตา หรือรอยถลอกของผิวหนัง รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนเป็นเวลานานเชื้อก็สามารถไชผ่านเข้าไปได้ โดยไม่รู้สึกคันหรือเจ็บปวดแต่อย่างใด และไม่มีรอยแผลปรากฏให้เห็น

นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า สำหรับโรคฉี่หนูนั้นยังมีกลุ่มที่น่าห่วงคือผู้นิยมดื่มเครื่องดื่มกระป๋องที่เปิดฝาแล้วเทน้ำใส่ปากโดยตรง จะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อโรคฉี่หนู เนื่องจากลักษณะของการเก็บเครื่องดื่มโดยทั่วไปจะวางกระป๋องในแนวตั้ง ฝาเปิดจะอยู่ด้านบนอยู่แล้ว หากเก็บไม่มิดชิดอาจมีหนูไปฉี่รดบนฝากระป๋องไว้ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ล้างฝากระป๋องให้สะอาดก่อนเปิดทุกครั้ง

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 2 มิถุนายน 2559 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศจำนวน 644 ราย ในพื้นที่ 49 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 14 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคืออายุ 45-54 ปี รองลงมาอายุ 35-44 ปี และอายุ 25-34 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบสูงสุดคือเกษตรกร ร้อยละ 46.3 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 20.5 โดยโรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ทั่วโลก ขณะนี้พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ถือเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อโรคนี้แล้ว เชื้อโรคนี้อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ ได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าหนู โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน

นพ.อำนวยกล่าวอีกว่า การป้องกันโรคฉี่หนู อาทิ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล การใช้ปลาสเตอร์ปิดแผลไม่สามารถกันน้ำได้ 100% และหากปลาสเตอร์ปิดแผลเปียกน้ำต้องรีบล้างแผลให้สะอาดและเปลี่ยนพลาสเตอร์ชิ้นใหม่ปิดแทนทันที กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image