ครูอุบลฯ ร้องคสช.จี้เอาผิด “กก.อ่านผลงาน” ไม่โปร่งใส

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นางจันทรา ไมถึง ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบ้านหนองช้าง จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากกรณีศาลปกครองมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ให้ยกเลิกคำสั่งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 ที่มีมติไม่ให้ผลงานทางวิชาการขอเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษของตนผ่านการประเมิน ตามที่คณะกรรมการอ่านผลงาน 3 คนเสนอ พร้อมทั้งมีคำสั่งให้เขตพื้นที่ฯตั้งคณะกรรมการอ่านผลงานชุดใหม่ โดยคำวินิจฉัยของศาลระบุว่าการตั้งข้อสังเกตของคณะกรรมการฯที่ให้ผลงานของตนไม่ผ่านนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในเรื่องการให้คะแนน ซึ่งตนอยากรู้ว่าการดำเนินการของคณะกรรมการอ่านผลงานทั้ง 3 คนดังกล่าว ผิดและควรต้องถูกลงโทษทางวินัยหรือไม่ เนื่องจากจนถึงขณะนี้ทางเขตพื้นที่ฯก็ยังไม่ได้ดำเนินการลงโทษใดๆ ทั้งที่ผ่านมาตนได้ร้องเรียน ศธ.และ ก.ค.ศ. มาโดยตลอด แต่เรื่องก็เงียบ จึงได้มาร้องเรียนสื่อและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“ดิฉันทำผลงานทางวิชาการขอเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษครั้งแรกในปี พ.ศ.2553 แต่ไม่ผ่านการประเมินของคณะกรรมการอ่านผลงาน ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่มีโทรศัพท์มาหาดิฉันเพื่อสอบถามว่าจะจ่ายเงิน 90,000 บาทหรือไม่ ถ้าจ่ายก็จะผ่านประเมิน แต่ดิฉันก็ปฏิเสธไป หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าคณะกรรมการฯระบุให้ผลงานไม่ผ่าน โดยตั้งข้อสังเกตที่ไม่สอดคล้องกับหัวข้อที่ดิฉันทำเสนอ ซึ่งสะท้อนถึงการไม่มีความรู้ในหัวข้อที่ดิฉันทำผลงาน เช่น คณะกรรมการฯยกตัวอย่างเอกสารอ้างอิงจากต่างประเทศ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเด็กปฐมวัยที่ดิฉันทำเสนอ, คณะกรรมการฯตั้งข้อสังเกตว่าทักษะกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ยากเกินไปสำหรับเด็กอนุบาล 2 ทั้งที่ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2546 ระบุเองว่าเด็กอนุบาลจะต้องเรียนรู้ทักษะกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และเมื่อทักท้วงไปยังอ.ก.ค.ศ.และ อ.ก.ค.ศ.ให้คณะกรรมการฯทบทวน กลับเพิ่มข้อสังเกตให้ดิฉันไม่ผ่าน โดยระบุเพิ่มเติมว่าเน้นแบบฝึกกับเด็กเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน ทั้งที่ในผลงานได้ระบุถึงแผนการสอนด้วย ไม่ใช่แค่ใช้แบบฝึกอย่างเดียว ยิ่งกว่านั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาของ ก.ค.ศ. โดย ก.ค.ศ.จะให้โอกาสผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินรอบแรกสามารถยื่นขอทำผลงานใหม่ได้นั้น เมื่อดิฉันยื่นใหม่ครั้งที่ 2 ในปี 2554 กลับปรากฏว่าผลงานผ่านการประเมินโดยที่ดิฉันใช้ผลงานเล่มเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ แถมยังไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท” นางจันทรากล่าว

นางจันทรากล่าวต่อว่า การที่เขตพื้นที่ฯขอให้ตนยุติการร้องเรียนโดยระบุว่าได้เยียวยาโดยตั้งคณะกรรมการอ่านผลงานชุดใหม่แล้วนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นคนละเรื่องกัน การเยียวยาดังกล่าวเป็นขั้นตอนปกติของ ก.ค.ศ.ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำผลงานยื่นเข้าไปใหม่ได้ถ้าไม่ผ่านการประเมินรอบแรก ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเยียวยาใดๆ ของเขตพื้นที่ฯ

ด้านนายวิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 1 กล่าวว่า ได้สั่งให้คณะกรรมการชุดเก่าทั้ง 3 คน หยุดทำหน้าที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับการประเมินวิทยฐานะของ อ.ก.ค.ศ. พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน ซึ่งที่ผ่านมาตนได้พยายามแก้ไขปัญหาและหาทางเยียวยาตามกระบวนการที่ถูกต้องแล้ว จึงอยากให้นางจันทราคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของครูเป็นหลัก เพราะหากมัวแต่ฟ้องร้องไปเรื่อยๆ เรื่องก็จะไม่มีทางจบ และสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนักเรียน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image