สุจิตต์ วงษ์เทศ : เจ้าจอมมารดาอำภา ใน ร.2เล่นตัวนางกาญจหนา ในละครอิเหนา

เจ้าจอมมารดาอำภา ใน ร.2 (จากหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พิมพ์ครั้งแรก 20 เมษายน 2514)

ท่านป้าฉวีวาด ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ขนละครไทยโรงใหญ่ของเจ้าจอมมารดาอำภาไปเขมร
ไม่ได้ไปสอนเขมรเล่นโขน (ท่านป้าฉวีวาดไม่เคยหัดโขน) แต่ไปหลบราชภัย แล้วสอนละครในบางเรื่อง เช่น อิเหนา, ไกรทอง
เพราะท่านป้าฉวีวาด เป็นหลานย่าของเจ้าจอมมารดาอำภา (ใน ร.2) เล่นตัวนางกาญจหนาในละครเรื่องอิเหนา

เจ้าจอมมารดาอำภามีละครผู้หญิงโรงใหญ่ของท่านเองโรงหนึ่ง ท่านเป็นครูผู้ฝึกสอนเอง เมื่อถึงอนิจกรรม ละครผู้หญิงของเจ้าจอมมารดาอำภาก็ตกอยู่กับท่านป้าฉวีวาด ที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เล่าว่ายกทั้งโรงลงเรือไปเขมร

คำบอกเล่าอย่างละเอียดเกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาอำภา มีในหนังสือโครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จะคัดมาแบ่งปันอ่านกัน ดังต่อไปนี้ จะได้ไม่เหมาว่าท่านป้าฉวีวาดไปสอนเขมรเล่นโขน

เจ้าจอมมารดาอำภา
จากโครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

เจ้าจอมมารดาอำภาบุตรพระยาอินทรอากรนั้น ญาติผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่าท่านเกิดที่เมืองจีน มีมารดาเป็นจีน เพราะเป็นธรรมเนียมของผู้ชายจีนที่อพยพมาเมืองไทยนั้นจะต้องมีภรรยาไว้ที่เมืองจีนคนหนึ่งอยู่ในตำแหน่งภรรยาหลวง เมื่อพระยาอินทรอากรเติบโตเป็นหนุ่มก็กลับไปแต่งงานกับภรรยาจีนที่บ้านเดิมตามธรรมเนียม เมื่อเจ้าจอมอำภาเกิดแล้ว ก็ได้มัดเท้าให้เล็กตามธรรมเนียมจีนสมัยนั้น เมื่ออายุประมาณได้ 8 ขวบ บิดาจึงได้พามาเมืองไทย และเมื่อถึงเมืองไทยแล้วจึงได้แก้เท้าออกและอบรมเลี้ยงดูอย่างกุลสตรีไทยต่อมา

Advertisement

เมื่อท่านอายุได้ 9 หรือ 10 ขวบ บิดาได้นำท่านเข้าถวายตัวเป็นละครรุ่นเล็กในรัชกาลที่ 1 ท่านได้หัดรำละครได้งดงาม เริ่มแสดงละครในเป็นตัวนางกาญจหนาในละครเรื่องอิเหนา จึงมีชื่อเรียกว่าอำภากาญจหนา และมีชื่อนั้นติดอยู่ในทำเนียบครูโขนละครจนถึงทุกวันนี้ เพราะต่อมาท่านได้เป็นครูละครของหลวง และได้หัดละครเป็นส่วนตัวของท่านขึ้นอีกโรงหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

“สายหยุดพุดจีบจีน เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์
คนทั้งวังเขาชังเจ้านัก แต่พี่รักเจ้าคนเดียว

คำกาพย์นี้ในปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่คนในสกุลปราโมชแต่ก่อนยืนยันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานให้แก่เจ้าจอมมารดาอำภา ความจริงพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งและพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โดยเฉพาะที่เป็นกาพย์เห่เรือนั้นปะปนกันอยู่มาก เช่น กาพย์เห่เรือชมเครื่องเสวยแต่ก่อนก็นึกกันว่าเป็นพระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้ง เพิ่งมาทราบกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้าฯ ในภายหลัง

Advertisement

กาพย์ข้างต้นนี้ถ้าถือว่าเป็นพระราชนิพนธ์พระราชทานให้แก่เจ้าจอมมารดาอำภาก็ดูจะเข้าเค้ามากกว่า
“สายหยุดพุดจีบจีน” นั้นตรง เพราะเจ้าจอมมารดารอำภาเป็นจีน
“เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์” ก็ตรงอีก เพราะเจ้าจอมมารดาอำภาเป็นลูกเจ้าสัวเตากระทะร่ำรวยมาก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงมีพระราชศักดิ์เป็นล้นพ้น
“คนทั้งวังเขาชังเจ้านัก” นั้นก็น่าจะตรง เพราะความเป็นเจ้าจอมที่โปรดปราน ความมีทรัพย์ และความเป็นเจ๊กเป็นจีนน่าจะทำให้คนทั้งวังอิจฉาริษยาและเกลียดชังได้มาก
“แต่พี่รักเจ้าคนเดียว” นั้นตรงทีเดียว เพราะในบรรดาเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 2 นั้น ปรากฏว่าเจ้าจอมมารดาอำภาประสูติพระโอรสธิดาถึง 6 พระองค์ มากกว่าเจ้าจอมมารดาใดๆ ทั้งหมด ถ้ามิใช่เพราะ “แต่พี่รักเจ้าคนเดียว” แล้วก็คงจะไม่มีมากพระองค์ถึงเพียงนั้น

พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่ 2 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดารอำภานั้นมีพระนามดังต่อไปนี้
1. พระองค์เจ้าชายกปิตถา ทรงกรมเป็นกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ในรัชกาลที่ 4 ได้ว่ากรมพระอาลักษณ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2415 พระชันษา 60 ปี เป็นต้นราชสกุล กปิตถา
2. พระองค์เจ้าชายปราโมช ทรงกรมเป็นกรมหมื่นวรจักรธรานุภาพในรัชกาลที่ 4 เลื่อนกรมเป็นกรมขุนในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงกำกับกรมพระนครหรือกรมเมืองในรัชกาลที่ 4 และทรงได้ว่ากรมหมอ กรมช่างเคลือบ กรมช่างหุงกระจก กรมญวนหก ได้ชำระความรับสั่ง และได้ว่ากรมท่า สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกันกับกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2415 พระชันษา 57 ปี เป็นต้นราชสกุล ปราโมช
3. พระองค์เจ้าชายเกยูร สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 ไม่มีโอรสธิดา
4. พระองค์เจ้าหญิงกัณฐา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 3
5. พระองค์เจ้าหญิงกัลยาณี สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2
6. พระองค์เจ้าหญิงกนิษฐาน้อยนารี สิ้นพระชนม์ในรักชาลที่ 4 เป็นพระราชธิดาองค์สุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เจ้าจอมมารดาอำภานั้นผู้ใหญ่ที่เคยรู้จักท่านเล่าให้ฟังว่าท่านเป็นคนเจ้าระเบียบเรียบร้อย การแต่งกายของท่านนั้นแต่งแบบนางในตลอดมาจนสิ้นชีวิต คือนุ่งผ้าจีบและห่มสไบสีตามวันตลอดมา แม้แต่เมื่อชาววังจะนุ่งโจงเป็นสมัยนิยมขึ้นมาท่านก็มิได้นุ่งตาม ขณะเดียวกันท่านก็มิได้ลืมภาษาจีนอันเป็นภาษาเดิมของท่าน หากมีญาติพี่น้องที่เป็นจีนเข้าไปพบปะท่านก็พูดภาษาจีนด้วย นอกจากนั้นก็ยังได้สอนภาษาจีนให้เจ้านายผู้หญิงในกรมขุนวรจักรฯ ซึ่งเป็นหลานย่าของท่านและได้เคยเข้าไปอยู่กับท่านในวังให้พูดภาษาจีนได้หลายองค์ ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยตามเสด็จท่านป้าองค์หนึ่งคือหม่อมเจ้าหญิงคอยท่าไปซื้อของที่ตลาดเก่า ได้ยินท่านรับสั่งภาษาจีนกับคนจีนผู้ขายของ ก็แปลกใจ ทูลถามท่าน ท่านก็บอกว่าคุณย่าของท่านเป็นผู้สอนให้ท่านพูดภาษาจีนได้

ธรรมเนียมจีนเล็กๆ น้อยๆ นั้นถือกันมาในวังกรมขุนวรจักรฯ เป็นเรื่องขบขัน เช่นหม่อมเจ้าหญิงในกรมขุนวรจักรฯ องค์หนึ่งมีพระนามว่าหม่อมเจ้าหญิงมารศรี ได้สมรสกับหม่อมเจ้าชายกรมอื่น มีพระนามว่าหม่อมเจ้าชายวิทยา เจ้าพี่เจ้าน้องในกรมขุนวังวรจักรฯ ก็พากันเรียกหม่อมเจ้าวิทยาว่า อากู๋ หรือท่านกู๋ เพราะคำว่ากู๋ในภาษาจีนนั้นแปลว่าเขย และเรียกกันดังนั้นจนแพร่หลายไปถึงเจ้าในกรมอื่นๆ พากันเรียกหม่อมเจ้าวิทยาว่าท่านกู๋หรือเจ้ากู๋กันทั่วไป จนลืมพระนามเดิมว่าวิทยา แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และที่ 6 ก็ตรัสเรียกหม่อมเจ้าวิทยาว่า เจ้ากู๋ทั้งสองพระองค์ หม่อมเจ้าวิทยาทรงมีฝีมือในทางผัดหมี่กรอบ ผัดอร่อยจนเป็นที่เลื่องลือและถึงกับตั้งร้านขายหมี่กรอบมีคนไปซื้อกินกันมาก ชาวบ้านทั่วไปก็เรียกกันว่า “หมี่เจ้ากู๋” พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็โปรดเสวยหมี่เจ้ากู๋ และมีพระกระแสรับสั่งให้เข้าไปผัดหมี่ตั้งเครื่องเสวยอยู่บ่อยๆ วันใดผัดหมี่ได้ถูกพระโอษฐ์ก็ตรัสชมเชยว่า “วันนี้เจ้ากู๋ผัดหมี่อร่อย” แต่ถ้าวันไหนผัดหมี่ไม่ถูกพระโอษฐ์ ก็ตรัสบริภาษว่า “วันนี้ไอ้เจ้ากู๋ผัดหมี่ไม่เป็นรส”
เจ้าจอมมารดาอำภานั้นถึงแม้ว่าพระยาอินทรอากร บิดาของท่านจะเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตาม แต่รู้สึกว่าท่านจะมีความเคารพนับถือและจงรักภักดีในทูลกระหม่อมใหญ่ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยูหัวเป็นพิเศษมาโดยตลอด เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น ท่านก็ทำเครื่องเสวยส่งออกมาจากในวังให้ตั้งเครื่องเช้าเครื่องเพลเป็นครั้งคราวตลอดมามิได้ขาด ถึงหน้าผลไม้ใดๆ ท่านก็เลือกซื้อหาแต่อย่างดีเอามาทำบุญถวายทูลกระหม่อมพระ พระองค์เจ้าปราโมชอันเป็นบุตรคนเล็กของท่านนั้น ท่านส่งมาถวายให้เป็นศิษย์วัดของทูลกระหม่อมพระที่วัดบวรฯ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทำให้ผู้เขียนเรื่องนี้คุยเขื่องอยู่ได้เสมอว่าปู่ของตนเป็นลูกศิษย์วัดวัดบวรฯ ในเมื่อมีผู้ถามว่าเพราะเหตุใดจึงได้บวชที่วัดบวรนิเวศ
ด้วยความจงรักภักดีอันแน่นแฟ้นที่เจ้าจอมมารดาอำภามีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงตรัสเรียกเจ้าจอมมารดาอำภาว่า “แม่ภา” แต่เพียงคนเดียวในบรรดาเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 2 นับว่าทรงยกย่องเป็นพิเศษ ท่านผู้อื่นนั้นตรัสเรียกหรือตรัสถึงแต่นามเฉยๆ มิได้ทรงใช้คำว่า แม่ นำหน้านาม

สมัยนี้เป็นสมัยที่ผู้มีทรัพย์ที่ต้องการจะบริจาคเงินเพื่อการกุศลเป็นจำนวนมากเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะหรือตามพระราชอัธยาศัย เจ้าจอมมารดาอำภาดูเหมือนจะเป็นคนแรกที่ทูลเกล้าฯ ถวายเงินในลักษณะเช่นนี้หรือใกล้เคียงกันนี้ ท่านปรารภกับพระองค์เจ้าหญิงชายบุตรท่านว่า “ในหลวงแผ่นดินนี้ (รัชกาลที่ 4) ท่านยากจน ทรงผนวชมาแต่ทรงพระเยาว์และลาผนวชมาเสวยพราชสมบัติ ไม่มีเวลาที่จะสะสมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เงินแผ่นดินนั้นต้องทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน จะใช้สอยส่วนพระองค์ก็อัตคัด” เมื่อท่านปรารภดังนี้แล้วท่านก็รวบรวมเงินของท่านใส่ถุงตีตราครั้งละมากๆ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานรับไว้เพื่อเอาใจท่าน มิได้ทรงถือว่าท่านละลาบละล้วงล่วงเกินแต่อย่างไร

การละครนั้นมิได้ทอดทิ้งจนตลอดดอายุของท่าน ท่านได้หัดละครผู้หญิงโรงใหญ่ขึ้นไว้โรงหนึ่ง และท่านเป็นครูผู้ฝึกสอนเอง แม้แต่อายุท่านเข้าปูนชราแล้วก็ยังมิได้เลิก ละครของท่านคนหนึ่งซึ่งถึงแก่กรรมไปนานแล้วได้เล่าว่าครั้งหนึ่งท่านกำลังสอนให้ละครหลายสิบคนรำเพลง ท่านออกรำข้างหน้าแล้วให้ละครรำตาม เนื่องด้วยเท้าท่านเล็ก เพราะเคยมัดมาแต่ครั้งอยู่เมืองจีน และประกอบกับที่ขณะนั้นอายุท่านมากแล้ว พอถึงท่าที่จะต้องยกเท้าข้างหนึ่งท่านก็ยืนขาเดียวไม่อยู่ ล้มลงกับพื้น ฝ่ายพวกละครทั้งหมดนั้นนับถือว่าท่านเป็นครูใหญ่ คอยรำตามที่ท่านออกท่าทุกอย่าง ตั้งใจมิให้พลาด พอเห็นท่านล้มลงก็นึกว่าอยู่ในท่า พากันล้มทั้งโรง ท่านเห็นเข้าท่านก็โกรธหาว่าล้อท่าน ใช้ไม้เรียวที่ท่านใช้เคาะจังหวะนั้นตีละครทั้งโรงในคราวนั้น ละครของเจ้าจอมมารดาอำภานั้น เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมแล้วได้ตกมาอยู่กับหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ผู้เป็นหลานย่าของท่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image