พบเมืองโบราณ ชี้เหตุนครวัดล่มไม่เกี่ยวสยามรุกราน-‘พิพัฒน์’เชื่อคนเขมรอพยพมาสร้าง ‘อยุธยา’

ภาพถ่ายในปี 2015 ของซากโบราณสถานที่บันทายทอป (Banteay Top) บริเวณเดียวกับบันทายฉมาร์ ซึ่งเอเอฟพีได้รับเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2016, AFP PHOTO / Damian Evans / Cambodian Archaeological Lidar Initiative (CALI)

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ดร.ดาเมียน อีแวนส์ (Damian Evans) นักโบราณคดีชาวออสเตรเลีย เตรียมเผยรายงานการค้นพบเมืองโบราณ อายุราว 900-1,400 ปี หลายแห่งไม่ไกลจากนครวัด ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนป่าของกัมพูชาและมิได้มีการบันทึกมาก่อน หลังทำการสำรวจด้วยเลเซอร์ทางอากาศ ในผืนป่าไม่ไกลจาก “นครวัด” โดยเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับ “พนมเปญ”

“เราพบเมืองทั้งหมดที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผืนป่าที่ไม่มีใครรู้ว่ามีมาก่อน ที่พระขรรค์แห่งกัมปงสวาย มันกลายเป็นว่า เราได้พบเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเมืองมเหนทรบรรพตในพนมกุเลน คราวนี้เราได้เห็นภาพทั้งหมดและมันใหญ่มาก ใหญ่เท่ากับพนมเปญเลย” อีแวนส์กล่าว

อีแวนส์เป็นนักวิจัยจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d’Extrême-Orient) และหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการสำรวจโบราณสถานในกัมพูชาด้วยแสงเลเซอร์ (Cambodian Archaeological Lidar Initiative, Cali) เขาได้รับทุนจากสภาวิจัยแห่งยุโรป (EFEO) หลังประสบความสำเร็จจากการสำรวจด้วยเลเซอร์เมื่อปี 2012
การสำรวจครั้งล่าสุดของเขาในปี 2015 ครอบคลุมพื้นที่ 1,901 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเขาเตรียมประกาศการค้นพบของเขาต่อราชสมาคมภูมิศาสตร์ในกรุงลอนดอนประเทศ อังกฤษในวันนี้ เป็นเครื่องยืนยันข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีหลายคนที่เชื่อว่าน่าจะมีเมืองโบราณอยู่ใต้เขาพนมกุเลน

รายงานของเดอะการ์เดียนระบุว่า การค้นพบครั้งนี้คาดว่าจะเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อทฤษฎีการพัฒนาของจักรวรรดิ เขมร การครองอิทธิพลเหนือภูมิภาค และการล่มสลายในศตวรรษที่ 15 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการจัดการน้ำในยุคนั้น

Advertisement

“การวิจัยของเราในยุคหลังนครวัดยังได้ให้มุมมองใหม่ที่น่าตะลึงถึงการล่มสลายของนครวัด” อีแวนส์กล่าว “มีคนเสนอว่า คนไทยเข้ามารุกรานและทุกคนที่นี่ก็พากันหนีลงใต้ นั่นไม่น่าจะเป็นไปได้ มันไม่มีเมืองให้พวกเขาหนีไป [ทั้งนี้จากผลการสำรวจทางอากาศ] ทำให้เกิดคำถามต่อความเชื่อว่าด้วยการล่มสลายของนครวัดโดยรวม”

ด้านแวดวงวิชาการไทย นายพิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นต่อผลการศึกษาดังกล่าวว่า ผลจากการศึกษาด้วยภาพถ่ายพื้นผิวดินดั้งเดิมของเมืองพระนครและโบราณคดี ทำให้ได้ข้อสรุปใหม่ว่าเอาเข้าจริงแล้ว การโจมตีของสยามอาจไม่ได้มีส่วนสำคัญต่อการทำให้เมืองพระนครเสื่อมคลายอำนาจลง แต่เป็นผลมาจากการแตกตัวลงของราชวงศ์หลายๆ ตระกูลที่ปกครองอาณาจักรเขมร อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่ามหานครที่เคยมีประชากรกว่าล้านคนนี้ ประชากรได้อพยพไปที่ไหน เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

“จากข่าวข้างต้น ผมเชื่อว่าประชากรเหล่านั้นส่วนหนึ่งอพยพไปยังลพบุรีและก่อตั้งอยุธยาขึ้น นั่นเอง ในอนาคตถ้าการศึกษาโบราณคดีกัมพูชาและไทยสามารถร่วมมือกันได้ดีขึ้น เราคงจะต้องเขียนประวัติศาสตร์กันใหม่เลยทีเดียว” พิพัฒน์กล่าว

Advertisement
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image