พบแล้ว!บรรพบุรุษ ‘มนุษย์ฮอบบิท’

(ภาพ-Kinez Riza)

เมื่อปี 2003 นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรพชีวินวิทยาสร้างความฮือฮาให้กับวงการด้วยการขุดค้นและพบซากฟอสซิลของมนุษย์สายพันธุ์ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักกันมาก่อนที่ถ้ำ “เลียงบัว” บนเกาะฟลอเรส ของประเทศอินโดนีเซีย เชื่อกันว่าเป็นมนุษย์ยุคโบราณซึ่งเคยมีชีวิตอยู่ระหว่าง 60,000 ถึง 100,000 ปีก่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ของมนุษย์สายพันธุ์ใหม่นี้คือ “โฮโม ฟลอเรเซียนซิส” แต่รู้จักทั่วไปในชื่อ “มนุษย์ฮอบบิท” จากลักษณะเด่นคือมีความสูงเพียง 1 เมตร ใกล้เคียงกับ “ฮอบบิท” เผ่าพันธุ์มนุษย์ในจินตนาการของ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน

การค้นพบดังกล่าวส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหันมาพิจารณาทฤษฎีวิวัฒนาการมนุษย์เสียใหม่ ทฤษฎีหนึ่งอธิบายถึงมนุษย์ฮอบบิทไว้ว่า น่าจะวิวัฒนาการมาจากมนุษย์ “โฮโม อีเรคตัส” สายพันธุ์มนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วแต่เชื่อกันว่าเป็นต้นธารแรกสุดที่วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์สมัยใหม่ในทุกวันนี้ โดยเชื่อว่าขนาดของ เอช. อีเรคตัส ย่อเล็กลง ก่อนหน้าหรือหลังจากที่เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่บนเกาะฟลอเรสไม่นาน

อีกแนวความคิดหนึ่งเสนอเอาไว้ว่า เอช. ฟลอเรเซียนซิส วิวัฒนาการมาจากมนุษย์ยุคปฐมภูมิที่มีลักษณะคล้ายลิงใหญ่และมีสมองขนาดเล็ก อย่างเช่น โฮโม ฮาบิลิส หรืออาจเป็น ออสตราโลพิเธคัส สายพันธุ์ยุคก่อนมนุษย์ หรือพรีฮิวแมน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเปลี่ยนทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์ใหม่หมด เพราะแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เดินทางออกจากทวีปแอฟริกาก่อนหน้าจากที่เคยตั้งสมมุติฐานเอาไว้นานมาก

อย่างไรก็ตาม การขุดค้นอย่างต่อเนื่องทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้หลักฐานใหม่ ซึ่งประกอบด้วยฟอสซิล 7 ชิ้นที่มีอายุย้อนหลังเก่าแก่กว่าซากฟอสซิลของมนุษย์ฮอบบิทราว 500,000 ปี ที่เชื่อว่าอาจเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ฮอบบิท บนเกาะฟลอเรสเช่นเดียวกัน และสนับสนุนทฤษฎีที่ว่ามนุษย์ตัวเตี้ยแคระนี้วิวัฒนาการมาจากสายพันธุ์ เอช.อีเรคตัสมากกว่า

Advertisement

ฮอบบิท2

ฟอสซิลใหม่นี้ขุดพบเมื่อปี 2014 ที่แหล่งขุดค้น “มาตา เมนกา” ในบริเวณที่ราบลุ่มโซอา ใจกลางเกาะฟลอเรส ห่างจากถ้ำเลียงบัวราว 74 กิโลเมตร เป็นซากฟอสซิลของมนุษย์ที่อยู่ในท้องน้ำโบราณซึ่งถูกปกคลุมด้วยโคลนภูเขาไฟและกลายเป็นหินทรายในเวลาต่อมา ประกอบด้วย ฟัน 6 ซี่ จากมนุษย์โบราณ 3 คน รวมทั้ง ฟันน้ำนม 2 ซี่ จากเด็กทารก 2 ราย เมื่อตรวจสอบพบว่ามีอายุอย่างน้อย 700,000 ปี ซึ่งยาสุเกะ ไคฟุ นักมนุษยวิทยายุคโบราณชาวญี่ปุ่นจากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติแห่งชาติในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้ระบุว่า เป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีมนุษย์สมัยใหม่ปรากฏขึ้นในโลก

จุดเด่นของซากฟอสซิลใหม่นี้ นอกจากจะมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับของมนุษย์ฮอบบิทแล้ว ยังมีขนาดที่ยังเล็กลงไปกว่าของมนุษย์ฮอบบิทด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ฟอสซิลเศษกรามของมาตา เมนกา ที่มาจากกรามล่างของเจ้าของที่เป็นผู้ใหญ่เต็มวัยนั้น มีขนาดเล็กกว่ากรามที่เล็กที่สุดของมนุษย์ฮอบบิทที่พบที่เลียงบัวถึง 20 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

เมื่อคำนึงถึงอายุของซากฟอสซิลที่พบใหม่นี้แล้ว ไคฟุชี้ว่า นี่คือซากฟอสซิลของมนุษย์ที่เป็นบรรพบุรุษของ ฮอบบิท นั่นเอง

นอกเหนือจากซากฟอสซิลชิ้นส่วนกระดูกแล้ว ทีมขุดค้นยังพบเครื่องมือหินจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมากกับเครื่องมือหินที่พบที่ถ้ำเลียงบัว ก่อนหน้านี้เคยมีการขุดพบเครื่องมือหินดังกล่าวนี้ในหลายที่บนเกาะฟลอเรส เมื่อตรวจสอบอายุพบว่าเก่าแก่มากมีอายุอย่างน้อย 1 ล้านปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหล่าบรรพบุรุษและมนุษย์ฮอบบิท เข้ามาใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนี้อย่างน้อยเมื่อ 1 ล้านปีก่อน

ทีมวิจัยยังพบด้วยว่า ลักษณะของฟอสซิลที่พบใหม่นี้ไม่มีลักษณะแบบลิงใหญ่ เหมือนออสตราโลพิเธคัส ดังนั้น ข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ก็คือ เอช.อีเรคตัส เกิดการเปลี่ยนแปลงย่อส่วนเล็กลงแล้วมาใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนี้ ก่อนวิวัฒนาการไปเป็นมนุษย์ฮอบบิท

เพียงแต่ยังไม่แน่ใจได้ว่า สภาพการย่อส่วนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังจากการใช้ชีวิตอยู่บนเกาะเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image