วิสัยทัศน์โลก ใช้กลยุทธ์ใหม่ สยบ “ยาบ้า” !!!!

กลายเป็นประเด็นวิพากษ์ วิจารณ์ทันที ในโลกโซเซียล หลังมีการระบุว่า “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เจ้ากระทรวงตาชั่ง เตรียม เสนอให้ “ยาบ้า”เป็น “ยาปกติ”

 วันนี้ “บิ๊กต๊อก” ได้ชี้แจงในประเด็นดังกล่าวเพื่อความเข้าใจอีกรอบ พล.อ.ไพบูลย์บอกว่า “พวกคุณไปจับประเด็นกันว่าจะเลิกยาบ้าเป็นยาปกติใช่หรือไม่ แต่ไม่ฟังให้จบ” พร้อมกับเล่าที่มาไปว่า ประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเมื่อช่วงเดือนเมษายน ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุม UNGASS ของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นวาระพิเศษเกี่ยวกับยาเสพติด ได้มีการกำหนดแนวทางใหม่ โดยแนวทางเดิมคือแนวทางให้โลกปราศจากยาเสพติด และประกาศสงครามกับยาบ้า ใช้ระบบปราบ การจับกุมอย่างเดียว แต่ระบบการป้องกัน และฟื้นฟูก็ตามมา

“แต่วันนี้ กว่า 20 ปีให้หลัง ทุกประเทศประกาศร่วมกันว่า มีทางที่จะทำให้ยาเสพติดหมดไปจากโลกได้ ผมถึงพูดว่าเราจะอยู่กับยาเสพติดได้อย่างไรให้สังคมปลอดภัย ท่านไม่ได้เขียนต่อ แต่ไปเขียนว่า พล.อ.ไพบูลย์ บอกจะอยู่กับยาเสพติด แต่ที่จริงคือ ผมพูดว่า เราจะอยู่กับยาเสพติดได้อย่างไร โดยที่สังคมต้องปลอดภัย ไม่เสียหายกับยาเสพติด มันต้องคิดวิธีการนี้ให้ได้”

พล.อ.ไพบูลย์อธิบายว่า องค์ประกอบของยาเสพติดจากพืชโคคา ฝิ่น พวกนี้ เป็นองค์ประกอบของยารักษาโรค จำเป็นต้องปลูกและต้องมี แต่คนนำไปใช้ผิดประเภท เพราะยาเสพติดที่เกิดจากสารเคมี เกิดจากสารตั้งต้นที่เอาไปใช้ทำน้ำหอมหรือฟอกหนัง เกิดอุตสาหกรรมอื่นตามมา โดยเราไม่สามารถตัดต้นตอของส่วนผสมยาเสพติดได้

Advertisement

”ดังนั้นโลกถึงได้เปลี่ยนไป ไม่ต้องบอกแล้วว่าไปปราบให้หมด มันเป็นไปไม่ได้ และมันตรงกับที่ผมเคยบอกไว้เมื่อครั้งมารับตำแหน่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า ผมไม่สามารถที่จะทำให้ยาเสพติดหมดไปจากประเทศไทยได้ แต่ผมจะต้องทำให้ยาเสพติดไม่เป็นภัยต่อสังคมให้ได้ หรือทุเลาเบาบางลง ไม่เป็นปัญหา”

“วันนี้โลกได้มองยาเสพติดเป็นเรื่องของสาธารณสุข เป็นเรื่องของสุขภาพ และการเข้าถึงยา มีส่วนผสมของยาเสพติดได้อย่างไร และมองเห็นคนเสพยาเสพติดเป็นคนป่วย เป็นโรคหนึ่งที่ต้องได้รับการบำบัดเยียวยาอย่างเหมาะสมจนหายขาด อันนี้คือกรอบและสิ่งเหล่านี้มีเหตุมีผลมีงานวิชาการว่าการประกาศสงครามกับยาเสพติดไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง แนวคิดที่พูดกันมาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และหลายประเทศได้ดำเนินการไปแล้ว เขาอยู่กับยาเสพติดได้อย่างเหมาะสมโดยไม่เป็นภัยต่อสังคม”

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงยาบ้านั้นเกิดง่ายที่สุดที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนฝิ่นเกิดแค่ร้อยละ 10 ของโลกนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราประกาศยาบ้าเป็นยาเสพติดประเภท 1 ไปแล้ว ไม่ใช่สารออกฤทธิ์ธรรมดา มันจำเป็นต้องมาศึกษาว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะผลร้ายของยาบ้ามันไม่ได้มากไปกว่าสารอย่างอื่นที่เราใช้อย่างปกติ ต้องมาพูดกันในหลักวิชาการว่าแต่ละคนคิดอย่างไร

Advertisement

”สำหรับผมพร้อมที่จะปรับบัญชียาบ้าเป็นเรื่องปกติ ขอเน้นว่าสำหรับผมเท่านั้น เพราะผมเข้าใจเรื่องพวกนี้ คนที่อยู่ในวงการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจะเข้าใจเรื่องนี้ดี ท่านไปถามกระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ เพราะท่านก็อยู่ในวงการนี้มา หรืออธิบดีกรมอนามัยแพทย์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ท่านไปถามได้เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต้องเชื่อแพทย์ที่ดูแลเรื่องสุขภาพ ดังนั้นเราต้องกลับมาพัฒนาเรื่องการบำบัด การฟื้นฟู ปรับปรุงระบบสาธารณสุขให้พร้อมก่อนที่จะทำ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยให้พร้อม หน่วยงานที่รับผิดชอบ ความรู้ความเข้าใจของประชาชน มันเป็นเรื่องที่เราดำเนินการ แต่วันนี้เราต้องสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ เป็นหน้าที่ของรัฐ ของผมเอง เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. กระทรวงสาธารณสุข” เจ้ากระทรวงตาชั่งเผยและว่า

ในสัปดาห์หน้ามีการเรียกประชุม เพื่อทำความเข้าใจว่าเราจะให้ความรับรู้ได้อย่างไร จะเตรียมความพร้อมองค์กรต่างๆ ได้อย่างไร การมองยาบ้าเป็นเรื่องอาชญากรรมต้องมาทบทวน ขณะนี้เราแก้กฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่แก้ในการพิจารณาการลงโทษให้เกิดความชัดเจน เพื่อลงโทษผู้ค้ารายใหญ่ แหล่งผลิตเป็นหลักมากกว่า

“เราจะมองให้ชัดว่า เฮโรอีน สุรา บุหรี่ กัญชา กาแฟ ใครทำลายประสาทมากกว่ากัน เพราะพวกนี้มันอยู่ในตระกูลใกล้เคียงกัน คุณคิดว่ากาแฟคือสารเสพติดหรือไม่ แต่ทำไมคุณขายและก็เสพได้ คุณถือกาแฟออกจากร้านไม่ถูกจับ แต่พอคุณถือยาบ้าออกจากร้านค้าคุณถูกจับ คุณถือสุราก็ไม่ถูกจับ แต่พวกนี้ก็ทำลายสังคม อาชญากรรมเกิดขึ้นจากสุรามีหรือไม่ แต่ทำไมคุณไม่จับพวกถือสุรา นั่นแหล่ะเราต้องคิดให้ได้ อาชญากรรมเกิดขึ้นจากพวกนี้เยอะแยะ และเราต้องแยกแยะเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเขาแยกกันคนละเรื่อง” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

(จากซ้าย) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” รมว.สธ. พล.อ.ไพบูลย์  คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดยุติธรรม
(จากซ้าย) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” รมว.สธ. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดยุติธรรม

ขณะที่ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า ตอนนี้แนวทางการแก้ปัญหายาเสพติดของโลก ให้ความสำคัญกับการป้องกันการบำบัดฟื้นฟู อีกทั้งยังมีข้อมูลว่าแนวทางดังกล่าวทำให้ปริมาณยาเสพติดลดลง ที่ประชุมมองคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องของสาธารณสุข เรื่องสุขภาพ เป็นหลัก เน้นการหาแนวทางให้กลุ่มคนเหล่านี้มีอาชีพ กลับมาใช้ชีวิตความเป็นในสังคม ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาทั่วโลก ตอนนี้ คือ กลุ่มพวกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ดังนั้น ต้องมีการแยกกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ให้ชัด ออกจากกลุ่มนักค้ายาเสพติดรายใหญ่

“ดังนั้น คณะทำงานในการแก้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ จึงเห็นว่าทิศทางนั้นเป็นสิ่งที่น่าจะมาปรับใช้กับสังคมไทย คือการป้องกันและการบำบัดฟื้นฟู จึงนำหลักการดังกล่าวมาใส่ในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ที่กำลังเสนอ แต่การเปลี่ยนทันทีคงยังทำไม่ได้ ในสถานการณ์ตอนนี้ของสังคมไทย ต้องมีกระบวนการสร้างความตระหนักรับรู้ให้เข้าใจมากขึ้น หากมีการปรับทันทีอาจทำให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายประเทศไทยหย่อนยาน ดังนั้นร่างประมวลกฎหมายนี้จึงเป็นตัวเริ่มแรก” ชาญเชาวน์เผย

ปลัดยุติธรรมบอกด้วยว่า แม้กฎหมายใหม่จะไม่ได้ปลดบทลงโทษให้กับผู้เสพ เพราะผู้เสพจะมีโทษเพียงเล็กน้อย แต่จะเพิ่มหลักเกณฑ์ให้ศาลเป็นผู้พิจารณาประกอบกับพฤติการณ์กระทำผิดของแต่ละคน แทนการใช้ปริมาณสารบริสุทธิ์ของสารเสพติด หรือจำนวนเม็ด ภาษาชาวบ้านเรียกว่า การนับเม็ด ให้ศาลใช้ดุลพินิจประกอบการพิจารณามายิ่งขึ้น เพื่อความสอดคล้องในหลักเกณฑ์ เพิ่มความหลากหลายการลงโทษมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ร่างประมวลกฎหมายฉบับใหม่ ยังคงโทษร้ายแรงกับนักค้ารายใหญ่รายสำคัญ!!

ด้านมุมมองของ “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ความเห็นส่วนตัว มองว่าการดำเนินการอะไรก็ตาม หากทำมายาวนานและต่อเนื่อง แต่ผลลัพธ์ได้เพียงระดับหนึ่ง จะดีกว่าหรือไม่ที่จะให้มีการปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ทั้งนี้ในมุมของ สธ.นั้น มองว่ากรณีผู้ติดยาเสพติดถือเป็นผู้ป่วยที่ควรได้เข้าถึงการรักษา เพื่อให้หายจากการติดยา ไม่ใช่ว่าพวกเขากลัว หรือไม่กล้าเข้ารับการรักษา เพราะเกรงว่าจะถูกจับเข้าคุกอย่างเดียว

“การปรับเปลี่ยนนี้ เข้าใจว่าเพื่อต้องการลดการติดยาเสพติด ลดปัญหาอาชญากรรม ผมว่าก็น่าจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่จะออกมารูปแบบใด ยังไม่ทราบ คงต้องมีการศึกษาและดูแบบอย่างจากประเทศอื่นๆ อย่าลืมว่า ทุกอย่างต้องเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ หากจะถอยหลังหรือทำในแบบเดิมๆ อย่างเดียวอาจไม่เหมาะสมก็ได้” นพ.ปิยะสกลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมก็เคยมีการแนวคิดถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พร้อมทั้งให้ใช้พืชกระท่อมเป็นยาสมุนไพรที่จะมีการพัฒนาต่อยอด และให้เป็นสารที่ถูกควบคุมในฐานะวัตถุออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งนี้ พืชกระท่อมในอดีต คนไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง ชาวนานิยมบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด หรือเอาใบมาย่างให้เกรียมและตำผสมกับน้ำพริกกินเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย

จับตามองทิศทางการปราบปรามยาเสพติดของกระทรวงยุติธรรมนับจากนี้…!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image