‘ฮุน เซน’โต้ข้อกล่าวหาถูกจีนกดดันช่วยสกัดแถลงการณ์อาเซียน ซัดศาลโลกมีอคติทางการเมือง

REUTERS/Samrang Pring

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ตอบโต้ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลของเขายอมโอนอ่อนผ่อนตามแรงกดดันของจีน ในการช่วยถอนร่างแถลงการณ์ร่วมของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ที่แสดงความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ในทะเลจีนใต้

ในการแถลงอย่างเกรี้ยวกราด สมเด็จฯฮุน เซน ยังกล่าวหาศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (พีซีเอ) ที่ตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่ามีอคติทางการเมือง จากการที่พีซีเอเตรียมตัดสินคดีพิพาทระหว่างฟิลิปปินส์และจีน

ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า พีซีเอจะตัดสินให้จีนเป็นฝ่ายแพ้คดีที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน ซึ่งจัดที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ยุติลงอย่างโกลาหลท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าจีนใช้อำนาจอิทธิพลข่มเหงรังแกประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกครั้ง

Advertisement

ความขัดแย้งทางการทูตเริ่มต้นขึ้นเมื่อมาเลเซียออกแถลงการณ์ร่วมของชาติสมาชิกอาเซียน แสดง “ความห่วงกังวลอย่างรุนแรง” ต่อกรณี “การสร้างเกาะเทียม” และกิจกรรมอื่นๆ

แถลงการณ์ที่ใช้ถ้อยคำแข็งกร้าวไม่ได้ระบุชื่อจีน แต่ชัดเจนว่าสื่อถึงการสร้างเกาะเทียมเป็นบริเวณกว้าง ทว่าแถลงการณ์ดังกล่าวถุกถอนออกไปอย่างกะทันหันด้วยเหตุผลที่ยังคงไม่มีการอธิบายอย่างชัดเจน

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพของอาเซียนที่จะแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพในการเผชิญหน้ากับจีนซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลในน่านน้ำของทะเลจีนใต้

Advertisement

สื่อหลายสำนักอ้างคำเปิดเผยของนักการทูตอาเซียนที่ระบุว่า ลาว กัมพูชาและพม่า ที่ถือเป็นพันธิตรใกล้ชิดของจีนในภูมิภาค อยู่เบื้องหลังการทำลายฉันทามติส่วนใหญ่ของแถลงการณ์ฉบับนี้ โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชาระบุว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

“เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับกัมพูชา” สมเด็จฯฮุน เซน กล่าว พร้อมทั้งกล่าวหาบางประเทศที่ไม่ได้ระบุชื่อว่า กำลังใช้กัมพูชาเป็นเครื่องมือในการตอบโต้จีน”

“พวกเขาใช้เราและก็โยนบาปให้เรา” สมเด็จฯฮุน เซนกล่าว พร้อมทั้งโจมตีพีซีเอด้วยว่า “นี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย แต่เป็นอคติทางการเมือง ผมจะไม่สนับสนุนคำตัดสินใดๆ ทั้งสิ้นของศาล”

ทั้งนี้ จีนอ้างสิทธิครอบครองเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้โดยตกเป็นข้อพิพาทกับหลายประเทศในอาเซียนที่อ้างสิทธิครอบครองเหนือพื้นที่บางส่วน ทั้งฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและบรูไน รวมถึงไต้หวันด้วย

ข่าวระบุว่า เมื่อปี 2555 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนล้มเหลวที่จะออกแถลงการณ์ร่วมเป็นครั้งแรกหลังเสร็จสิ้นการหารือ โดยฟิลิปปินส์ตำหนิเจ้าภาพในการประชุมครั้งนั้นอย่างกัมพูชาว่า สกัดกั้นถ้อยคำในแถลงการณ์ที่วิพากษ์วิจารณ์จีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image