นักวิชาการตปท.แนะไทยจัดการน้ำเชิงรุก ให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เอสซีจี มูลนิธิอุทกพัฒน์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงาน “Thailand Sustainable Water Management Forum 2016” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ความจำเป็นของการบริหารจัดการน้ำ สู่หนทางป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างยั่งยืน โดยมีนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวเปิดงานว่า ประเทศไทยที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ และอีก 3 ปีต่อมาเราก็ประสบปัญหากับภัยแล้ง ดังนั้นไทยจะต้องมีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในทุกระดับ ต้องวางแผนในระดับผังเมืองด้วย เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของประเทศไทย อาจใช้การแบ่งเป็นโซนนิ่งเพื่อให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืน การประชุมวันนี้จึงเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศที่น่าสนใจ ซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำได้ดี ซึ่งเราจะต้องเลือกมุมและวิธีการจัดการปัญหาจากตัวอย่างในทั้ง 3 ประเทศ โดยหวังว่าในวันนี้จะสามารถหารือในหลายเรื่องที่สำคัญเพื่อพัฒนาและปรับปรุงนำมาใช้กับการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยได้จริง ทั้งนี้จากการเดินทางไปดูการบริหารจัดการน้ำทั้ง 3 ประเทศ เช่น อิสราเอล พบว่าเขามีการบริหารจัดการที่ดีทั้งที่ความต้องการน้ำมีมากเป็น 2 เท่าของน้ำที่มีอยู่ อีกทั้ง สามารถนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด ที่สำคัญคือ ประทับใจในจิตสำนึกของประชาชนที่สำนึกและตระหนักว่าน้ำมีความสำคัญขนาดไหน

นอกจากนี้ในช่วงเช้ายังมีการเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการน้ำจาก 3 ประเทศ โดยตัวแทนจากอิสราเอลระบุว่า ก่อนจะมองการบริหารน้ำทั้งระบบ จะต้องเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำทั้งหมดของประเทศก่อนว่าเป็นอย่างไร ต้องนำปัจจัยทุกอย่างมาเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาจัดการได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงจะต้องวางแผนรับมือกับวิกฤตต่างๆ ให้ได้อย่างทันท่วงทีโดยการนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนตัวแทนจากสิงคโปร์ระบุว่า การบริหารจัดการน้ำจะต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีการกำหนดมาตั้งแต่กฎหมายเพื่อป้องกันปัญหา มีการกำหนดโครงสร้างการระบายน้ำที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมอีก รวมทั้งจะต้องปรับปรุง บำรุงรักษาระบบระบายน้ำให้ดี และการเก็บน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย นอกจากนี้จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายตามสถานการณ์เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาที่เปลี่ยนไป รวมถึงจะต้องมีการแจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบผ่านทางแอพพลิเคชั่น ผ่านเว็บไซต์ ข้อความสั้น และประชาชนสามารถดูจุดที่เปราะบางต่อน้ำท่วมผ่านซีซีทีวีได้ ทั้งนี้ สำคัญคือต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของน้ำด้วย ส่วนตัวแทนของเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลการบริหารจัดการน้ำหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศ โดยจะใช้โปรแกรมจำลองสถานการณ์โดยนำปัจจัยต่างๆ มาเป็นตัวร่วมในการกำหนดสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ความรุนแรง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ในระดับที่ละเอียด เพื่อการรับมือที่ดีมีประสิทธิภาพ การวางแผนรับมือน้ำท่วมจะต้องมีทางที่ 1, 2, 3 หรือมากกว่านั้น โดยแสดงข้อมูลที่แท้จริงว่าจะเกิดความเสียหายด้านใด อย่างไรบ้าง หรือจะเกิดผลกระทบกับใคร อย่างไรบ้างในแต่ละแนวทาง เพื่อให้ผู้มีอำนาจพิจารณาทางเลือกได้ว่าทางเลือกใดจะดีที่สุด ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอมาถึงประเทศไทยว่า ควรจะต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นเชิงรุก โดยต้องวางแผนระยะยาวเป็น 100 ปี ไม่ใช่เพียง 5-50 ปี อีกทั้งต้องใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วม ร่วมกันบูรณาการเพื่ออนาคต

นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีน้ำฝนเฉลี่ยประมาณปีละ 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. โดยมีเพียงร้อยละ 5.7 ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ โดยภัยแล้งในปี 2558 ที่ผ่านมาปริมาณฝนน้อยลงกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 15 ซึ่งพบว่าโครงสร้างน้ำหลักของประเทศไม่ยืดหยุ่นพอจะรับมือกับสถานการณ์ฝนในปัจจุบันโดยเฉพาะภาคเหนือที่มีความแปรปรวนของน้ำฝนและน้ำไหลเข้าอ่างสูงที่สุด จึงมองว่าเราต้องปรับแก้จัดการต้นทุนน้ำที่ไหลลงอ่าง ทั้งนี้ ไทยมีที่เก็บน้ำขนาดใหญ่ 70,400 ล้าน ลบ.ม. แต่น้ำไหลลงเขื่อนเฉลี่ย 42,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ความต้องการน้ำมีกว่า 100,000 ล้าน ลบ.ม. หากดูพื้นที่ทำการเกษตรของประเทศจะพบว่าส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ทั้งนี้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บ และปริมาณการใช้น้ำ ซึ่งในระดับชุมชนเราเห็นความสำเร็จของการผนึกกำลังระหว่างชาวบ้านในชุมชน เราต้องแก้ปัญหาลุ่มน้ำย่อยทั้งระบบแล้วนำมาเชื่อมต่อกัน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image