สุจิตต์ วงษ์เทศ : คำพิพากษาจากอำนาจทางวัฒนธรรมไทย

ภาพโปสเตอร์ของที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2485 “เรื่องวัฒนธรรม แสดงภาพการแต่งกายที่เหมาะสม และไม่เหมาะสม” ที่คนไทย “อย่าทำ” อะไร แต่ “จงทำ” อะไร (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. 14 กรกฎาคม 2540.)

“ดูดี” อย่างที่อำนาจทางวัฒนธรรมไทยกำหนดให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยไทย มีอย่างเดียวกัน (ไม่จำเพาะที่ใดที่หนึ่ง) นอกเหนือจากผิวพรรณรูปร่างหน้าตาแล้ว ยังมีท่าทาง ได้แก่ บุคลิกภาพ
ซึ่ง อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ในบทความเรื่องจากหนังหน้าสู่ความรู้คิด  (พิมพ์ใน มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2559 หน้า 16) จะสรุปย่อๆ สั้นๆ ดังนี้

เหนือกว่าผิวพรรณรูปร่างหน้าตาของ “ดูดี” ในวัฒนธรรมไทยก็คือ (สิ่งที่ขอเรียกรวมๆ ว่า) บุคลิกภาพ และหัวใจของบุคลิกภาพที่ “ดูดี” ประกอบด้วย 3 อย่างสำคัญต่อไปนี้

1. มารยาท – สาระสำคัญของมารยาทไทย หากวิเคราะห์ไปถึงแก่นแล้วก็คือ การยอมรับและปฏิบัติให้ถูกต้องตามลำดับช่วงชั้นทางสังคม
ไม่ใช่รู้จักให้เกียรติผู้อื่นตามความหมายฝรั่ง เพราะฝรั่งถือว่าคนเสมอกัน จึงพึงให้เกียรติด้วยลักษณาการเดียวกัน
แต่ให้เกียรติของไทยหมายถึงต้องรู้ว่าคนที่เราสัมพันธ์ด้วยนั้นอยู่ในลำดับช่วงชั้นที่สูงหรือต่ำกว่าเรา สูงไปกี่ขั้น และต่ำไปกี่ขั้น มีมารยาทหรือแบบปฏิบัติที่คนพึงปฏิบัติต่อคน แต่ละลำดับขั้นที่ละเอียดซับซ้อนมาก คนที่จะ “ดูดี” ได้ ต้องรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง จึงจะนับว่าเป็นคนมีมารยาท
ไม่เฉพาะแต่กายและวาจาเท่านั้นที่ต้องมีมารยาทรู้ที่ต่ำที่สูง แต่รวมไปถึงวิธีคิดด้วย เช่น ไม่แย้งความเห็นผู้ใหญ่ตรงๆ แต่ต้องใช้กลวิธีที่แนบเนียน เพื่อไม่ให้เสียมารยาท
คนที่ “ดูดี” ในวัฒนธรรมไทย คือคน “สมยอม” กับผู้ใหญ่ แม้สิ่งที่เราต้องสมยอมอาจเป็นความอยุติธรรม, ความปลิ้นปล้อน, ความเห็นแก่ตัว, หรือความไร้เหตุผลก็ตาม

2. การแต่งกาย หลักการคือแต่งกายให้เหมาะกับสถานภาพที่สูงต่ำของสถานที่และบุคคล แต่เมื่อสถานะทางเศรษฐกิจของคนไทยดีขึ้น การแต่งกายที่ “ดูดี” จึงไปสัมพันธ์กับคุณภาพของเครื่องแต่งกายด้วย
ดังนั้นการแต่งกายแล้ว “ดูดี” จึงมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งคนอีกพวกหนึ่งเข้าไม่ถึง ยังมีการแต่งกายที่ดู “เชย” หรือไม่อีกด้วย ส่วนนี้สัมพันธ์กับฐานะทางเศรษฐกิจโดยทางอ้อม เพราะคนที่แต่งกายไม่ “เชย” คือคนที่ได้พบเห็นการแต่งกายที่ไม่ “เชย” มามาก ได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากคนที่แต่งกายไม่ “เชย” มามาก จึงรู้วิธีแต่งกายที่ “ดูดี” ได้
จนถึงที่สุด มาตรฐานว่าอะไร “เชย” หรือไม่ เกิดขึ้นจากอำนาจทางวัฒนธรรมของ ชนชั้นที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมาก
ในแง่นี้ ความไม่ “เชย” ในการแต่งกาย, ถูกต้องเหมาะสมกับสถานที่และบุคคล, และคุณภาพที่เห็นได้ชัดของเครื่องแต่งกายจึงเป็นเรื่องของชนชั้นโดยตรง

Advertisement

3. พูดภาษาไทยกรุงเทพฯ ให้ชัด และฟังเป็นธรรมชาติด้วย เพราะภาษากรุงเทพฯ ที่ชัดแสดงสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ถึงไม่มีกำเนิดในกรุงเทพฯ ก็ต้องผ่านการศึกษาในโรงเรียนที่ดีพอจะมีครูซึ่งพูดภาษานี้ได้ชัด

ในยามสงครามและน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 ภาพของประชาชนที่หยุดยืนเคารพธงชาติโดยพร้อมกัน
ในยามสงครามและน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 ภาพของประชาชนที่หยุดยืนเคารพธงชาติโดยพร้อมกัน

ไม่ “ดูดี”

ผมถูกตัดสินด้วยเหตุผลต่างๆ ว่า ไม่ “ดูดี” จึงถูกเฝ้าระวังโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่เข้าเป็นนักศึกษาใหม่ในมหาวิทยาลัยเล็กที่สุดในไทย เมื่อ พ.ศ. 2507
1. มารยาทแบบบ้านนอกคอกนาป่าดง ขวานผ่าซาก ติดปากคำว่า มึง, กู, อ้าย, อี ตามด้วยคำด่านับไม่ถ้วน ฯลฯ พูดไม่เป็นคำว่า ขอบคุณ, ขอโทษ ฯลฯ ตดเสียงดังและเหม็น
2. แต่งตัวชั่วร้าย เพราะมีกางเกงขายาวสีกรมท่ากับสีกากีอย่างละ 1 ตัว กับมีเสื้อ 2 ตัว สลับกัน

เสื้อเครื่องแบบนักศึกษาสีขาว แต่ขาวอมเหลือง เพราะถูกสีขมิ้นจีวรพระมาผสม (เนื่องจากซักในกระแป๋งเดียวกัน) กับขาวอมฝาดๆ ฝ้าๆ เพราะเป็นผ้าดิบ
เสื้อยับยู่ยี่ เพราะรีดยาก ต้องก่อไฟเอาถ่านใส่เตารีด ใช้เวลานาน และรีดไม่ชำนาญ ส่วนมากจึงแค่เอาเตารีดร้อนๆ นั้น ไถๆ ถากๆ ทาบๆ ให้เสร็จๆ ผ้าดิบไม่มีวันหายยับได้
3. พูดสำเนียงกรุงเทพฯ ได้ แต่ไม่เป็นภาษากรุงเทพฯ หากเป็นภาษาวัด เพราะผมเกาะชายจีวรพระจากบ้านนอกเข้ากรุงเทพฯ แล้วอาศัยข้าวก้นบาตรกินประทังความหิว ไปเรียนมัธยมจนเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังเป็นเด็กวัด กินข้าววัด นอนศาลา ห่มผ้าผี (หมายถึงผ้าห่มทำบุญจากงานศพ) อยู่วัดเทพธิดาราม ประตูผี สำราญราษฎร์ (ปัจจุบัน ฝั่งตรงข้ามวัดมีร้านขายผัดไทยบันลือโลก)

วัฒนธรรมเคารพธงชาติ 8 นาฬิกา (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540)
วัฒนธรรมเคารพธงชาติ 8 นาฬิกา (ภาพจาก อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540)

ถูกพิพากษา

มหาวิทยาลัยเล็กที่สุดในไทย ซึ่งผมเพิ่งเข้าไปเรียนยังไม่มีโรงอาหาร จึงมีแต่แม่ค้าหาบข้าวแกงไปขายใต้ต้นไม้ในมหาวิทยาลัยตอนกลางวัน จานละ 1 บาท
นักศึกษาทั้งหมดมี 4 คณะ รวมแล้วไม่ถึง 100 คน เฉพาะที่ไปเรียนจริงๆ รวมแล้วราว 50-60 คน ต่างกินข้าวแกงในเวลาเดียวกัน จึงเห็นหน้ารู้จักหน้าตากันหมด
แต่ผมไม่ได้ซื้อข้าวแกงกินกลางวัน เพราะกินจานเดียวไม่อิ่ม ถ้ากินมากกว่านั้นก็มีเงินไม่มากพอใช้ทั้งเดือน เลยเดินจากมหาวิทยาลัยกลับไปกินข้าววัดที่กุฏิทุกกลางวัน
วันหนึ่งมีเพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกัน 3-4 คน โผล่ไปถึงกุฏิที่ผมกำลังนั่งขัดสมาธิกับพื้นกินข้าวคนเดียว
เพื่อนๆ ทำท่าตกใจ ขณะเดียวกันผมยิ่งตกใจ แต่ร้องเรียกทักว่าไปไหนมา? กินข้าวหรือยัง? กินด้วยกันไหมล่ะ?
เพื่อนพวกนั้นไม่กิน เขาบอกกินกันมาแล้ว แต่ถามผมว่าทำไมไม่ซื้อข้าวแกงกินที่มหาวิทยาลัย?
ผมบอกว่าสตางค์ไม่พอ เลยต้องเดินกลับกินข้าววัด แล้วถามกลับว่ามึงตามกูมาทำไมวะ?

เพื่อนค่อยๆ บอกว่าอาจารย์และรุ่นพี่ให้สะกดรอยว่ามึงไปมีเมียซ่อนไว้ที่ไหน? เพราะไม่เห็นกินข้าวกลางวันที่มหาวิทยาลัย สงสัยกลับไปกินกับเมีย
ผมได้ยินอย่างนั้นก็ตกใจ เพราะมีกฎระเบียบว่าถ้าจับได้ใครมีเมียมีผัวต้องถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย พอกินข้าวเสร็จก็เดินไปเรียนที่มหาวิทยาลัยตามปกติเหมือนทุกวัน

ตอนนั้นผมพูดอะไรไม่ออก แต่โดนคำพิพากษา (ที่ไม่ใช่นิยายของชาติ กอบจิตติ) จากอำนาจทางวัฒนธรรมไทยตามมาอีกนับไม่ถ้วนตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ยังไม่จบคำพิพากษา

อำนาจของวัฒนธรรมไทย ฉากสุดท้ายของละครปลุกใจรักชาติเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่เน้นเรื่องชาติ (ไทย) ศาสนาและพระมหากษัตริย์ บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา หรือ วิจิตร วิจิตรวาทการ) แสดงครั้งแรกเมื่อปี 2497 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
อำนาจของวัฒนธรรมไทย ฉากสุดท้ายของละครปลุกใจรักชาติเรื่องอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง ที่เน้นเรื่องชาติ (ไทย) ศาสนาและพระมหากษัตริย์ บทประพันธ์ของหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา หรือ วิจิตร วิจิตรวาทการ) แสดงครั้งแรกเมื่อปี 2497 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image