วิษณุยันพูดไม่รับร่างฯเพราะไม่ชอบ-ไม่ผิด เว้นเพื่อชวนคนไม่ไปใช้สิทธิผิดแน่

วิษณุโว กกต.เปลี่ยนสถานที่รับความเห็น รธน.- ประชามติ ไม่แตกต่างจากค่ายทหาร ชี้ที่เชียงใหม่ประสบความสำเร็จ เตือน แสดงออกมีเจตนาชี้นำเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประชามติ วอนเพื่อไทยเคลื่อนไหวเห็นแก่ความสงบของบ้านเมือง

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 20 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการจัดเวที “ร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน” โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล่าสุดที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ จ.เชียงใหม่ ว่า ไม่มีความแตกต่างกับเวทีก่อนหน้านี้ที่จัดขึ้นในค่ายทหาร และเวทีที่ จ.เชียงใหม่ ต้องย้ายมาจัดที่ศูนย์ประชุมดังกล่าว เพราะต้องรองรับประชาชนจำนวนมาก ทั้งนี้ การตอบข้อซักถามก็ได้แบ่งคนเป็นกลุ่มๆ ซึ่งเวทีนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แม้มีบางประเด็นที่ดูเหมือนจะเกิดเรื่องรุนแรง แต่ก็ผ่านไปด้วยดี เพราะผู้ชี้แจงสามารถตอบคำถามได้ ไม่มีใครรู้สึกว่าบรรยากาศแตกต่างไปจากเดิมเลย

เมื่อถามว่า ขณะนี้ที่หลายฝ่ายออกมารณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถามกันทุกวัน และก็ตอบกันทุกวัน ยืนยันว่าถ้ารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วเข้าข่าย ม.61 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ว่าจะวรรคใดก็ตาม ก็จะมีปัญหา แต่ถ้ารณรงค์แล้วไม่เข้าข่าย ไม่ถือว่าเป็นปัญหา การรณรงค์แล้วเข้าข่ายนั้น ไม่ใช่เพียงคำพูดที่ก้าวร้าว หยาบคาย แต่จะต้องก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ โดยมีเจตนาเพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่าง ถ้าเจตนาคือไม่ชอบ ไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าเจตนาเพื่อให้คนไม่ไปใช้สิทธิ หรือไปใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นคือความผิด เวลาขึ้นศาลจะต้องมีการพิสูจน์ในเจตนาเหล่านี้ด้วย เช่น การใส่เสื้อรับหรือไม่รับ ศาลจะต้องวินิจฉัยเจตนาที่แท้จริงออกมาให้ได้ แล้วดูว่าผิดตามข้อกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่

เมื่อถามว่า หากดูประชามติครั้งที่ผ่านๆ มา ในช่วงสุดท้ายสถานการณ์จะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เราเพิ่งทำประชามติครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ส่วนครั้งแรกที่ทำนั้น ใช้เวลาตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนถึงวันออกเสียงประชามติเพียง 20 วัน แต่ครั้งนี้ใช้เวลาถึง 120 วัน เมื่อปี 2550 ความขัดแย้งยังไม่มากเหมือนทุกวันนี้ แต่วันนี้ประเทศเรามีความขัดแย้งสูง ทำให้ทุกอย่างดูไม่ค่อยเรียบร้อย และหลังจากนี้เหลือเวลาอีก 50 กว่าวันจะถึงวันออกเสียงประชามติ ยังไม่ทราบว่า กกต.จะมีรูปแบบการรณรงค์ใหม่ๆ อย่างไรบ้าง และตอบไม่ถูกว่าการออกมารณรงค์ของหลายฝ่ายจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนหรือไม่

“จะตอบอะไรผมต้องระวัง คราวที่แล้วสื่อมาถามผมว่า คสช.มีอำนาจใช้มาตรา 44 ยุบพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ผมมาพูด หากสื่อถามผมจะไม่ตอบก็ได้ หรือจะตอบว่ายุบไม่ได้ก็ไม่จริง เรื่องนี้ทำให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาตำหนิผมว่าพูดผิดกาลเทศะ จะออกมาพูดเช่นนี้ทำไมในช่วงเวลานี้ ทั้งหมดก็เพราะสื่อเป็นผู้มาถามผมในเวลานี้ จึงขอขอบคุณนายภูมิธรรมเตือน ซึ่งผมจะได้ใช้เป็นข้อแก้ตัวกับสื่อต่อไปว่าไม่ขอตอบเพราะเดี๋ยวนายภูมิธรรมจะว่าเอา” นายวิษณุกล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ได้รับรายงานถึงการทำหน้าที่ของครู ก. ข. ค. หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้รับรายงานเนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่มีหน้าที่รายงานเรื่องดังกล่าวถึงรัฐบาล แต่ก่อนหน้านี้มีการรายงานเพียงเรื่องเดียวคือการของบประมาณเพิ่มเติมอีก 200 ล้านบาท และไม่ทราบเรื่องที่การรายงานว่าครู ค. ทำหน้าที่ได้เพียงอ่านร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนฟัง โดยไม่สามารถตอบคำถามใดๆ ได้ เนื่องจากเกรงว่าจะผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยรณรงค์ให้ประชาชนไปลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิออกเสียงประชามติล่วงหน้า แต่ถูกขอความร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคงให้ยกเลิก นายวิษณุกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยสามารถทำได้ แต่อะไรหลายอย่างที่ทำได้ แต่ฝ่ายความมั่นคงไม่อยากให้ทำ ก็ขอให้อย่าทำ เพราะมีผลต่อความสงบเรียบร้อย ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น

เมื่อถามว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ให้มีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. จะส่งผลกระทบใดๆ ในมุมกลับหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “อย่าไปประมาทคนไทย”

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image