ผู้ป่วยล้น รพ. กำลังคนสุขภาพก็งานล้นมือ กระจายอำนาจเป็นคำตอบได้หรือไม่? โดย สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

แฟ้มภาพ

ปี2559 เป็นปีที่ระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชน ถูกตั้งคำถามจากรัฐบาลว่าเป็นระบบที่ใช้เงินสูงเป็นภาระของรัฐ ต้องมีการจำกัดงบประมาณ และให้ประชาชนรับภาระเอง คนมีเงินมีรายได้ก็จ่ายเงินค่ารักษาเอง คนจนก็ต้องไปลงทะเบียนว่าเป็นคนจน เป็นคนไม่มีรายได้ เพื่อรัฐจะได้ให้การสงเคราะห์ โดยไม่ตั้งคำถามว่าระบบนี้ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นโดยเสมอภาคกันอย่างไร ไม่ยากจนเพราะไม่มีเงินค่ารักษา สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยเสมอหน้ากัน ทำให้สามารถทำงานเป็นแรงงานพื้นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการค่าแรงราคาถูก ผลกำไรก็เข้ามือนายทุนเป็นหลัก ทำไมรัฐไม่คิดว่าเป็นการลงทุนทางสังคมเพื่อสิทธิของประชาชนที่รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้เพียงพอ

ระบบหลักประกันสุขภาพทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขของประเทศด้วย เดิมกระทรวงสาธารณสุขต้องทำหน้าที่ทุกอย่างทั้งการทำนโยบายด้านสาธารณสุข การควบคุมโรค การกำกับดูแลโรงพยาบาล เป็นเจ้าของโรงพยาบาล และทำหน้าที่จัดสรรเงินให้โรงพยาบาลเพื่อให้บริการดูแลรักษาประชาชน แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพทำให้หน้าที่การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงหมดไป ย้ายไปอยู่ที่หน่วยจัดซื้อบริการคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับหน่วยเดิมที่มีอยู่แล้วคือ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่จัดซื้อบริการรักษาให้ผู้ประกันตนและกรมบัญชีกลางที่ทำหน้าที่จ่ายเงินค่ารักษาตามบิลเรียกเก็บจากโรงพยาบาลให้ข้าราชการและครอบครัว

ผลการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้กระทรวงสาธารณสุขกลายเป็นคู่สัญญากับ สปสช.ในการให้บริการประชาชนคิดตามรายหัวประชากรของแต่ละโรงพยาบาล ขณะเดียวกันก็เป็นคู่สัญญากับ สปส.ด้วย ในการให้บริการผู้ประกันตนเช่นกัน โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ก็เป็นหน่วยให้บริการหลักแก่ข้าราชการด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่กลุ่มข้าราชการมีโอกาสและเข้าครอบครองการใช้เตียงการใช้บริการมากกว่าใครเพื่อน เพราะสามารถไปลงทะเบียนไว้ที่โรงพยาบาลใดก็ได้ เลือกไปที่ไหนก็ได้ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซึ่งมีความพร้อมทั้งหมอ อุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งควรเป็นโรงพยาบาลเพื่อรับการส่งต่อกรณีต้องการความเชี่ยวชาญชำนาญพิเศษ กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้ป่วยมารอตรวจแออัดยัดทะนานมากที่สุดเพราะทุกคนต้องการผู้เชี่ยวชาญ ทุกอย่างก็กระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่อไป

ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ของไทย แต่ขณะเดียวกันระบบหลักประกันสุขภาพยังอยู่ภายใต้การบริหารโรงพยาบาลแบบเบ็ดเสร็จของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีข้อจำกัดในการขยายกำลังคน ขยายงบประมาณในการบริหารจัดการโรงพยาบาล การแบกรับภาระเรื่องบุคลากร ทั้งค่าตอบแทน การไม่มีตำแหน่งบรรจุให้พยาบาล การไม่สามารถดึงทรัพยากรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมทบได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีการกระจาย อำนาจออกไปและการถ่ายโอนโรงพยาบาลให้เป็นองค์การมหาชน ดังที่ทำได้กับโรงพยาบาลบ้านแพ้วเพียงแห่งเดียว ดังที่เริ่มต้นเมื่อมีกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจ

Advertisement

จากนั้นมากระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ขยับใดๆ กับเรื่องนี้อีกเลย จึงเกิดภาระรุมเร้าเมื่อระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้น การบริหารเงินของกระทรวงเปลี่ยนไปอยู่ในความรับผิดชอบของ สปสช.แทนเป็นส่วนใหญ่

ระบบหลักประกันสุขภาพก็ตกเป็นจำเลยที่ทำให้คนเข้าถึงการรักษาเลยทำให้เกิดความแออัด รอคิวนาน ดังนั้น ควรจำกัดการเข้าถึงด้วยการสร้างอุปสรรคทางการเงินขึ้นมาเป็นกำแพง นั่นคือต้องให้ประชาชนร่วมจ่ายมากขึ้น นอกเหนือจากการจ่ายภาษี ซึ่งเป็นการคิดด้านเดียวมุมเดียวไม่มีมิติอื่นโดยเฉพาะมิติที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษา เดิมทีการเข้าถึงต่ำกว่าความเป็นจริงหลายเท่าอยู่แล้ว ปัจจุบันแม้จะเข้าถึงมากขึ้นก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

เมื่อตั้งโจทย์ผิด การแก้ไขปัญหาก็ผิดทิศทาง สิ่งที่ภาครัฐกำลังแก้ตอนนี้คือการจำกัดสิทธิของประชาชน การพยายามออกแบบเครื่องมือที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

โจทย์ของระบบสาธารณสุขไทย ณ เวลานี้คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ขณะที่บุคลากรสุขภาพก็ทำงานหนักมาก แต่ก็ยังไม่ทันกับความต้องการของประชาชน

ดังนั้น แทนที่จะมามุ่งจำกัดสิทธิของประชาชน ควรที่ฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญในระดับนโยบายรัฐบาลที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชนจะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งจากสาเหตุสำหรับคือสถานการณ์การเป็นผู้ให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนหมอ พยาบาล บุคลากรไม่เพียงพอ มีความกระจุกตัวของหมอพยาบาลในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขาดแคลนในโรงพยาบาลอำเภอ ทั้งนี้ ข้ออ้างของกระทรวงคือความจำกัดในการเพิ่มบุคลากร เพราะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่เพิ่มอัตราตำแหน่งให้ จึงเป็นปัญหาคาราคาซังมาตลอดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จะละเลยไม่ได้ว่า หมอ พยาบาล ส่วนหนึ่งก็ออกไปอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการแบบธุรกิจโรงพยาบาลให้อัตราค่าตอบแทนได้สูงกว่า เพราะสามารถเรียกเก็บเงินค่ารักษาได้สูง โดยที่กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถกำกับควบคุมราคาได้

เมื่อต้นปี 2559 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีการนำเสนอรายงานวิจัยประจำปีเรื่อง “ปรับบทบาทรัฐไทย ให้ประชาชนได้บริการที่ดี” ซึ่งข้อเสนอสำคัญคือ กระชับขนาด บทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการกระจาย อำนาจ กระจายบทบาทภาระหน้าที่ออกไป โดยให้บทบาทการจัดหาบริการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนเป็นหน้าที่ของหน่วยจัดหาบริการ คือ สปสช. สปส. และกรมบัญชีกลาง

ส่วนการเป็นเจ้าของโรงพยาบาลนั้นควรเร่งถ่ายโอนให้เป็นของท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมดูแลบริหารโรงพยาบาลของตนเองในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขจะได้ทำหน้าที่กำกับควบคุมคุณภาพโรงพยาบาลทั้งหมดโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำหน้าที่เข้มข้นขึ้นในการกำกับควบคุมราคาที่เหมาะสม กำกับมาตรฐานการรักษา และหาทางทำให้ประชาชนได้รับหลักประกันสุขภาพโดยเสมอหน้ากันทั้งข้าราชการ ประกันสังคมและประชาชนทั้งมวล

ซึ่งข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ สอดคล้องกับที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอมาโดยตลอดว่าต้องให้โรงพยาบาลเป็นองค์การมหาชน โดยมีท้องถิ่นและประชาชนร่วมรับผิดชอบบริหารจัดการ เพื่อขยายและเพิ่มขีดความสามารถให้ไม่ติดกับดักระบบราชการ รับประกันรายได้ของหมอ พยาบาล บุคลากร การจัดสวัสดิการให้บุคลากรเหล่านี้อย่างเหมาะสมเพียงพอ โดยใช้งบประมาณของท้องถิ่นมาสนับสนุน เพื่อเปิดให้โรงพยาบาลมีนักบริหารมืออาชีพมาช่วยบริหาร เพื่อให้ก้าวพ้นจากข้อจำกัดของความเป็นระบบข้าราชการ ระบบอุปถัมภ์ เป็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนในการบริหารจัดการระบบบริการสาธารณสุข

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ทางนโยบาย การควบคุมกำกับมาตรฐาน คุณภาพ ราคา จัดทำราคากลางที่สามารถบังคับใช้ได้ทั้งประเทศ การควบคุมโรคในระดับประเทศ โรคระบาดที่มาจากการเดินทางเคลื่อนย้ายของผู้คน การสร้างมาตรฐานองค์ความรู้ด้านสุขภาพ สามารถจัดทำให้เกิดฐานข้อมูลสุขภาพที่ได้มาตรฐานให้ประชาชนใช้เป็นหลักในการใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลที่ช่วยการตัดสินใจด้านสุขภาพ ไม่ตกเป็นเหยื่อของโฆษณาสินค้า สุขภาพที่ระบาดไปอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์และในสังคม

ปี2559 เป็นปีที่ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การรัฐประหารในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีการรัฐประหาร 2 ครั้งนับเป็นเรื่องไม่ปกติอย่างยิ่งของสังคมไทย ในการรัฐประหารครั้งนี้ ข้ออ้างคือต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้น จึงเริ่มด้วยตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งก็หมดสภาพไปแล้วตั้งแต่สมาชิกโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมาธิการ ขณะนี้เข้าสู่ช่วงการตั้งใหม่เป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งได้มีข้อเสนอปฏิรูประบบสาธารณสุข แต่ก็ยังเป็นข้อเสนอที่วนอยู่ในความเป็นกระทรวงสาธารณสุขแบบทำทุกบทบาทหน้าที่เช่นเดิม

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะปฏิรูปแบบออกนอกกรอบเดิม เพื่อแก้ปัญหาเดิมให้ได้ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ ปรับบทบาทรัฐ ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจประชาชนในการร่วมบริหารจัดการระบบสุขภาพแบบองค์กร ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคด้วยตนเองบนองค์ความรู้ที่ถูกต้อง การร่วมบริหารโรงพยาบาลที่ได้รับการถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุข การเพิ่มรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองคุณภาพชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม มั่นคง ยั่งยืนต่อไป

ใครควรเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปครั้งนี้ ก็ต้องเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร เพราะการรับหน้าที่รัฐบาลเป็นการรับหน้าที่ในการบริหารจัดการให้ประชาชนมีคุณภาพ ประเทศมีความก้าวหน้า มั่งคั่งแบบกระจายไม่กระจุก ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน คุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่แบ่งแยกกีดกันไม่ว่าจะจนจะรวย จะเป็นใคร ต้องได้รับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลโดยถ้วนหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image