ค้ามนุษย์’เบื้องหลัง’เด้งยกทีมสมุทรสาคร ช่วงเวลา’ออง ซาน ซูจี’เยือนไทย

จากเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 33/2559 เรื่องให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสําคัญเร่งด่วนของประเทศ และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการปฏิบัติราชการอันเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปราชการแผ่นดิน หัวหน้า คสช.จึงอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เห็นชอบให้ข้าราชการซึ่งถูกร้องเรียนหรือกล่าวหาว่าปล่อยปละละเลยให้มีการกระทําความผิดเกิดขึ้นในพื้นที่ของตนหรือมีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือดําเนินการหรือไม่ดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและมีมูลอันสมควรตรวจสอบ ระงับการปฏิบัติราชการโดยไม่ขาดจากตําแหน่งเดิมและให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นในสังกัดเดิมเป็นการชั่วคราว

จังหวัดสมุทรสาครสะเทือนอย่างหนัก เพราะมีข้าราชการที่ถูกคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น สังกัดกระทรวงเดิมทั้งสิ้น 5 คน คือ 1.นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ไปปฏิบัติราชการในสํานักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 2.นายนันทวุธ อุตสาหตัน รองอัยการจังหวัดสมุทรสาคร ไปปฏิบัติราชการในสํานักงานอัยการสูงสุด 3.นายทรงวุฒิ โชติมา อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ไปปฏิบัติราชการในสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม 4.น.ส.รัตนา พละชัย แรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ไปปฏิบัติราชการในสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน และ 5.พล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสาคร ไปปฏิบัติราชการในศูนย์ปฏิบัติการ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตร.)

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับข้าราชการระดับสูงของจังหวัดสมุทรสาครทั้ง 5 คน ที่ถูกโยกย้ายในครั้งนี้ คาดว่ามาจากเรื่องของสภาพการจ้างงานที่โยงใยไปสู่การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ตามกฎ IUU Fishing คือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครในฐานะผู้รับนโยบายและคำสั่งจากหน่วยเหนือให้นำมาตรการปราบปรามการค้ามนุษย์มาปฏิบัติในพื้นที่อย่างเข้มข้นนั้น ยังไม่สามารถดำเนินแก้ไขให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนได้

อย่างเช่นกรณี เหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 ที่ทหารเรือโดย ศรชล.เขต 1 ได้ร่วมกับ DSI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือแรงงานเมียนมาในล้งกุ้งแห่งหนึ่ง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ถูกบังคับให้ทำงาน และยังมีแรงงานเด็กอยู่ในความครอบครองด้วย ซึ่งจากการเข้าสืบสวนสอบสวนของ DSI พบว่าโรงงานนี้คนงานต่างด้าวชาวพม่าจำนวนมาก โดยมีแรงงานบางส่วนเป็นแรงงานที่หลบหนีเข้าเมือง ไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง และอยู่ในสภาพการทำงานที่ตรากตรำ ทำงานวันละประมาณ 16 ชั่วโมง ตั้งแต่ตี 2 จนถึง 6 โมงของวันรุ่งขึ้น และได้รับค่าแรงงานประมาณ 1 พันกว่าบาทต่อ 10 วัน
โดยจะมีคนงานชาวพม่าและ รปภ.ของโรงงานคอยดูแล ข่มขู่ไม่ให้หลบหนีหรือเปลี่ยนงานไปทำที่อื่น อีกทั้งยังจะมีการหักหนี้สินจากนายหน้า โดยไม่มีการแจ้งรายละเอียดว่าหนี้สินอะไร และคงเหลือเงินเท่าไหร่
โรงงานล้งกุ้งที่เข้าตรวจค้นในครั้งนั้นพบแรงงานทั้งสิ้น 74 คน เป็นแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 16 คน แรงงานบังคับและไม่มีเอกสารที่ถูกต้องจำนวน 17 คน และแรงงานที่ทำงานถูกต้องแต่ถูกยึดเอกสารประจำตัวไว้จำนวน 41 คน อีกทั้งยังมีการตรวจค้นล้งแล่ปลาซึ่งอยู่ติดกัน พบแรงงานทั้งสิ้น 17 คน เป็นแรงงานเด็กต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 1 คน และแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องอีก 16 คน เป็นต้น

Advertisement

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีดังกล่าวอาจเป็นกรณีตัวอย่างและที่ให้เห็นได้อย่างครอบคลุมถึงผู้ที่ถูกสั่งย้ายทั้งหมดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องโยงใยในเหตุการณ์เดียวกัน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครถูกสั่งย้ายในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่สั่งการและควบคุมเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่ให้ปฏิบัติงานสนองนโยบายของ คสช. แต่ยังคงมีการใช้แรงงานในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมอยู่, ผู้การฯ ตำรวจ ก็ต้องดำเนินการกวาดล้างจับกุมแรงงานที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงตรวจสอบสำนวนคดีสำคัญก่อนส่งฟ้องอัยการ, แรงงานจังหวัด มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องของอัตราค่าจ้าง, อุตสาหกรรม เรื่องของสถานประกอบการ และรองอัยการ เรื่องของความก้าวหน้าในคดีเพื่อส่งฟ้องศาล เป็นต้น แต่นี่ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น เพราะภาพรวมทั้งจังหวัดสมุทรสาคร เรื่องของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานที่ไม่เหมาะสม ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมนั้น นับเป็นปัญหาใหญ่และปัญหาหนักหน่วงที่สุดสำหรับผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ และมีงานเข้ามาให้ได้แก้ไขกันอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งเรื่องของการจ้างงานที่ได้ค่าแรงไม่ครบตามสภาพการทำงานจริง การปิดตัวของโรงงานโดยปล่อยพนักงานลอยแพไม่จ่ายค่าจ้าง หรือการถูกบังคับให้ไปทำงานในเรือประมง ฯลฯ ซึ่งนอกจากมีเรื่องร้องเรียนแล้ว บางครั้งก็มีการรวมตัวกันประท้วง หรือเข้าร้องเรียนกับสื่อ และองค์กรเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติต่างๆ

รายงานข่าวต่อไปอีกว่า จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวทราบว่า หลังจากที่นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับทราบคำสั่งฯ แล้ว ก็ได้มีหลายคนไปให้กำลังใจ โดยในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครก็กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และบอกว่าตนเองพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. เพราะในเมื่อตนเองเป็นผู้รับคำสั่งให้นำนโยบายเรื่องของการปราบปรามการค้ามนุษย์มาปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร แต่ผลที่ออกมายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็พร้อมที่จะยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและจะไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ก็ได้มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อขจัดกระบวนการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาส การใช้แรงงานในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการใช้แรงงานเด็กให้หมดไปจากจังหวัดสมุทรสาคร

ส่วนผู้ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนในช่วงที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครยังคงอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามคำสั่งของ คสช. ก็คือ นายณรงค์ศักดิ์ เฉลิมเกียรติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร (คนที่ 1) ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่าการโยกย้ายครั้งนี้เป็นช่วงเวลาเดียวกับนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่รัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าเยือนประเทศไทย และได้เดินทางไปรับฟังปัญหาแรงงานชาวพม่าเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image