‘เพิ่มศักดิ์’ส่งจม.เปิดผนึกถึง’บิ๊กตู่’&’ชายหมู เหตุ’ป้อมมหากาฬ’ลั่น กี่หมื่นล้านก็สร้างชุมชนปวศ.ไม่ได้

คืบหน้ากรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ เพื่อสร้างสวนสาธารณะโดย กทม. ตามแผนแม่บทเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน 24 ปี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และประชาชนชาวไทยทุกคน มีเนื้อหากล่าวถึงโครงการสร้างสวนสาธารณะในพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชุมชนประวัติศาสตร์ที่มีรากเหง้ายาวนาน หากถูกทำลายลงย่อมเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจ ตนจึงขอเสนอให้ กทม.กับชุมชนป้อมมหากาฬ หาทางออกจากปัญหาการสร้างสวนสาธารณะพื้นที่ป้อมมหากาฬร่วมกันด้วยรูปแบบประชารัฐ ทำให้พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะที่มีชีวิต
ข้อความในจดหมาย มีดังนี้

จดหมายเปิดผนึก
ถึง ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี

ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประชาชนคนกรุงเทพมหานครทุกท่าน

เรื่อง ข้อเสนอให้รักษาชุมชนชานกำแพงพระนครโบราณซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้

ผู้ที่ติดตามข่าวชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งเป็นชุมชนพระราชทานที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 พระราชทานที่ดินให้ข้าราชบริพารอยู่อาศัยดูแลป้อมมากว่าสองร้อยปีคงรู้สึกเหมือนผมว่าชุมชนนี้คงจะต้องถูก กทม.ไล่รื้อเอาที่ไปทำสวนสวนสาธารณะตามนโยบายที่รับแนวความคิดของคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์และรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยมาแน่ๆ เพราะได้เวนคืนที่ดินแล้วและมาติดประกาศให้ชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬรื้อถอนอาคารบ้านเรือนออกไปหลายครั้ง ครั้งล่าสุดในเดือนเมษายนและยังให้ข่าวมาตลอดว่าจะอพยพชุมชนออกไปแน่นอน

และเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย.นี้เอง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธาและฝ่ายกฎหมายของ กทม.ก็เข้ามาพูดคุยกับชุมชนในป้อม

Advertisement

บรรยากาศการพูดคุยกันค่อนข้างดี คุณอัศวินรับจะนำข้อเสนอของชุมชนและนักวิชาการต่างๆ ไปพิจารณา ข้อเสนอโดยสรุปทุกฝ่ายเห็นตรงกันต้องการให้ทำสวนสาธารณะ ชุมชนและนักวิชาการก็เสนอ “ป้อมมหากาฬโมเดล” โดยพื้นที่ป้อมทั้งหมด 4 ไร่เศษ จัดเป็นสวนซะ 3 ไร่ อีกไร่เศษซึ่งมีสภาพเป็นชุมชนเรือนไม้โบราณอยู่แล้ว ก็จัดระเบียบให้เรียบร้อย คือต้องรักษาสืบทอดวัฒนธรรมความเป็นชุมชนโบราณชานกำแพงพระนครไว้ แล้วก็ต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาสวนสาธารณะให้กับ กทม.ด้วยจิตอาสาไม่รับค่าตอบแทน และข้อเสนอนี้ก็สอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยของ กทม.เองที่เคยให้มหาวิทยาลัยศิลปากรศึกษาและรับข้อเสนอด้วยการเซ็นต์สัญญาเอมโอยูร่วมกัน ผู้ร่วมวงพูดคุยทั้งหมดรวมทั้งเจ้าหน้าที่ กทม.ก็เห็นด้วย แต่ กทม.อ้างว่ากลัวผิดกฎหมาย กลัวถูกฟ้องฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
เมื่อ กทม.เปิดประเด็นนี้ ก็มีผู้รู้หลายฝ่ายเสนอทางออกให้ เช่นแก้แผนแม่บทเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ หรือทำผังเมืองเฉพาะขึ้นมาก็ได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่เมื่อเช้านี้ 24 มิถุนายน คุณอัศวินและทีมงานก็เรียกชาวบ้านไปหารือและย้ำจุดบกพร่องของชุมชนในหลายๆ ด้านและมีทีท่าว่าจะมาตรวจสอบสิทธิการครอบครองและอาจจะใช้วิธีการเดิมคืออพยพคนออก ทำให้ชุมชนและผู้คนจำนวนมากมีความวิตกกังวล

ผมติดตามเรื่องนี้ด้วยความหดหู่ใจและเสียดายมากๆ หากประเทศไทยจะสูญเสียชุมชนวัฒนธรรมไม้โบราณชานกำแพงพระนครนี้ไปด้วยความคิดแคบๆ ของ กทม. ซึ่งกำลังติดกรอบกฎหมายที่ตัวเองสร้างขึ้นมาว่าสวนสาธารณะต้องไม่มีคนและการกดดันชาวบ้านอย่างต่อเนื่องมานานกว่าสี่สิบปีให้ต้องยอมรับค่าเวนคืนโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงรวมทั้งจำกัดการพัฒนาชุมชนทุกวิถีทาง โดยไม่ยอมรับบริบททางประวัติศาสตร์และความเป็นชุมชนของพื้นที่

ผมเองในฐานะที่เคยศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานพิจารณาเรื่องนี้ด้วย เห็นว่าโดยเจตนารมณ์ทั้งนโยบายและกฎหมาย ที่เวนคืนที่ดินต้องการให้พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งชุมชนเขาก็ไม่ใด้คัดค้าน กลับอาสาช่วยดูแลสวนให้ฟรีด้วยซ้ำ แต่ขอพื้นที่ผืนเล็กๆ อยู่สืบทอดความเป็นชุมชนประวัติศาสตร์ด้วย

Advertisement

ความจริงในปัจจุบันที่ดินทั้งหมด 4 ไร่เศษก็เป็นกรรมสิทธิของ กทม.แล้ว กทม.ไม่ได้เบียดบังที่ดินมาเป็นของส่วนตัวหรือเอาไปขายเอาเงินเข้ากระเป๋า แต่ก็จะทำสวนนี่แหละ และการออกแบบทำสวน ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม.เองนั่นแหละที่จะต้องออกแบบวางแผน ให้มีองค์ประกอบของสวนให้ครบถ้วนซึ่งอาจรวมทั้งพื้นที่ปลูกต้นไม้ ทางเดิน อาคารสถานที่ หรือที่พักพนักงาน ซึ่งสวน กทม.ส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้ การจัดระเบียบชุมชนให้เหมาะสมเรียบร้อยก็เป็นส่วนหนึ่งของโซนอาคารสถานที่ หรือจะกำหนดเป็นโซนพิพิธภัณฑ์มีชีวิตก็ได้ ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสวน กทม. ในประเด็นนี้ก็ไม่ได้ละเว้นกฎหมายแต่อย่างใด การอ้างเช่นนี้น่าจะมีนัยยะในทางใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือไล่ชุมชนออกจากพื้นที่มากกว่า แต่ถ้า กทม.เอาที่ดินป้อมมหากาฬไปจัดสรรขายหรือแอบเอาไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว อย่างนี้จึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย

เมื่อไม่มีประเด็นการละเว้นปฎิบัติตามกฎหมายแล้วและ กทม. มีอำนาจบริหารจัดการพื้นที่เต็มที่ จึงขอเสนอให้ กทม.กับชุมชนป้อมมหากาฬ หาทางออกจากปัญหาการสร้างสวนสาธารณะพื้นที่ป้อมมหากาฬร่วมกันด้วยรูปแบบประชารัฐ ทำให้พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะที่มีชีวิต ไร้ยาเสพติด ไร้อาชญากรรม แต่เต็มไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีไทยสมัยรัตนโกสินทร์แต่โบราณ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนทั่วโลกกล่าวขานและแวะมาเยี่ยมชมกันต่อไป
ด้วยสัจจะความจริงและข้อเสนอที่จริงใจนี้ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และพระสยามเทวาธิราช จงดลบรรดาลให้เจ้าหน้าที่ กทม. ชุมชนป้อมมหากาฬ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีใจดีต่อกัน และร่วมกันสร้างและพัฒนาพื้นที่ป้อมมหากาฬให้เป็นสวนสาธารณะที่มีชีวิตสมดังใจ และมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเทอญ

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
24 มิถุนายน 2559

นอกจากนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ยังเผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่ว่าจะใช้เงินจำนวนกี่หมื่นล้านก็ไม่สามารถสร้างชุมชนที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมายาวนานอย่างป้อมมหากาฬขึ้นมาได้ หากไล่รื้อสลายชุมชนได้ จะเป็นการทำลายทุนทางสังคมและวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image