กต.-รง.ปฏิเสธข่าวลือโลกโซเชียล5ข้อเรียกร้องเรื่องแรงงาน ย้ำหารือไทย-พม่าสร้างสรรค์ ยึดหลักสากลและรับผิดชอบร่วมกัน

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน และนายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดียกล่าวเกี่ยวกับข้อเรียกร้องขององค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีนโอ)และข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน 5 ข้อโดยอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องของทางการพม่า โดยยืนยันว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นไม่ใช่ข้อเรียกร้องของทางการพม่าแต่อย่างใด

โฆษกของทั้งสองกระทรวงระบุว่า ระหว่างการเดินทางเยือนไทยของนาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ตามคำเชิญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างสร้างสรรค์ซึ่งทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีความสำคัญต่อประชาชนทั้งสองประเทศในแนวทาง”จะก้าวหน้าไปด้วยกัน” โดยเฉพาะด้านแรงงาน ซึ่งมีการลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน จุดเน้นคือทั้งสองฝ่ายยอมรับหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกันให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล เพื่อป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ และร่วมกันสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ ขณะที่ความตกลงฉบับที่สองเป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน เพื่อป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงานโดยครอบคลุมทั้งกระบวนการส่งและรับ การคุ้มครอง สัญญาจ้าง การรับรองเอกสาร การอบรมและการให้ความรู้แรงงานก่อนการเดินทาง การตรวจลงตรา อนุญาตทำงาน บริการสุขภาพ การส่งกลับประเทศต้นทาง การระงับข้อพิพาท หน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง ที่สำคัญพม่าจะต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางให้กับคนงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายด้วย

“การลงนามในเอกสารทั้งสองฉบับนอกจากแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่่จะทำให้ความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล และมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศพร้อมจะเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง เพื่อความผาสุกและความมั่งคั่งของประชาชนทั้งสองประเทศ”ข้อชี้แจงของโฆษกสองกระทรวงระบุ

นายเสขกล่าวเพิ่มเติมว่า การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและนาง ออง ซาน ซูจี มีประเด็นหลัก 3 ด้าน คือ การคุ้มครองแรงงานพม่าในประเทศไทย ซึ่งไทยได้ให้การดูแลสิทธิแรงงานตามกฎหมาย มีระบบการร้องทุกข์ออนไลน์ผ่านสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1694 มีล่ามภาษาพม่าคอยให้บริการ ทั้งจัดให้มีการเปิดศูนย์แรกรับและส่งกลับที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รวมทั้งริเริ่มจัดตั้งศูนย์บริการช่วยเหลือในจังหวัดที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก ขณะที่พม่าจะดูแลนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในพม่าอย่างดีด้วย ด้านที่ 2 คือความร่วมมือด้านการพัฒนา เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนาไปพร้อมกันและก้าวหน้าไปด้วยกัน ทั้งยังเห็นพ้องให้เพิ่มเที่ยวบินของสายการบินของไทยที่เดินทางไปยังพม่า ด้านที่ 3 เป็นประเด็นเศรษฐกิจ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีกับประเทศที่สาม เช่น ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตลอดจนร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคภายใต้กรอบอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

Advertisement

นายเสขกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการพูดคุยระหว่างการเยือนไทยของ นางออง ซาน ซูจี ในครั้งนี้ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อความผาสุก และความกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ ส่วนกระแสข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอ และข้อเรียกร้องอื่นๆ เป็นเพียงข้อเรียกร้องที่เสนอผ่านทางสื่อและไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องของทางการพม่าแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image