จตุพรเชื่อผู้นำไทยไม่ทำตามผู้นำอังกฤษ หากประชามติแพ้

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนว่า การเสนอวิวาทะแลกเปลี่ยนสาธารณะร่างรัฐธรรมนูญทำประชามติกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำ กปปส. เพื่อต้องการให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเสมอภาค โดยไม่ผิด พ.ร.บ.ประชามติ โดยไม่ได้มุ่งหวังให้ทะเลาะ หรือเกิดความแตกแยกใดๆ ขึ้น
นายจตุพรกล่าวว่า แม้ประชาชนมีสิทธิส่วนตัวจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทำประชามติก็ตาม แต่นายสุเทพประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตนชัดเจนว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเหลือเพียงเหตุผลให้กับประชาชนนำไปพิจารณาความเห็น เพื่อเชิญชวนประชาชนออกไปทำประชามติกัน

นายสุเทพแสดงเหตุผลการรับร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ชื่นชอบคำปรารภ และบอกเนื้อหารัฐธรรมนูญกรณีการปฏิรูปประเทศตรงกับ กปปส. และยังย้ำว่า ได้มากกว่าที่ขอเอาไว้ด้วย จึงทำให้บรรยากาศการทำประชามติมีความตื่นเต้นยิ่งขึ้น และประชาชนสนใจการทำประชามติอย่างคึกคัก ซึ่งมากกว่าช่วงที่ศูนย์ปราบโกงประชามติถูกปิดเสียอีก เพราะการสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กไปเร็วมาก เกิดความตื่นตัวของประชาชนทั้งสองฝ่ายรับและไม่รับ

นายจตุพรกล่าวว่า เมื่อนายสุเทพเป็นหัวแถวของฝ่ายรับ ส่วนสนามประชาชน ตนอยู่หัวแถวของฝ่ายไม่รับ ดังนั้น จึงควรมานั่งกันสองคน และมีกรรมการรักษาเวลาสักคน แล้วถ่ายทอดผ่านทางสื่อสารทุกระบบที่อยากถ่าย โดยการวิวาทะแสดงความเห็นกันแต่ละประเด็นคนละ 5-10 นาที ไม่มีทะเลาะกัน แต่เสนอความเห็นให้ประชาชนวินิจฉัยในแต่ละประเด็น

“ถ้าตกลงกันได้ นายสุเทพก็ทำการบ้าน ผมก็ทำการบ้าน ถามว่าผิดกฎหมายประชามติหรือเปล่า ผมบอกเลยว่า เราไม่ชวนใครให้ไปรับหรือไม่รับ โดยเอาความเชื่อของนายสุเทพกับนายจตุพรที่ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ให้ประชาชนรับฟัง ซึ่งจะเกิดความตื่นตัว และจะเป็นประโยชน์ ไม่มีความแตกแยกอะไร จะเอาแบบไหนก็ได้ หากกลัวข้อหาเกิน 5 คน ก็นั่งกันสองคน มีกรรมการเคาะระฆังคนหนึ่ง บรรยากาศแบบนี้จะเป็นการท้าวิวาทะ แลกเปลี่ยน เป็นการท้าวิวาทะในประเด็น รธน. เพราะเรามีเป้าหมายต้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ”

Advertisement

นายจตุพรกล่าวว่า การเสนอวิวาทะร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ต้องการมีชื่อเสียง แต่เป็นเรื่องความเป็นไปของบ้านเมือง เพราะฝ่ายที่ไปลงพื้นที่เชียรรัฐธรรมนูญกลับกลัวกล้องบันทึกภาพ เปรียบได้กับผีกลัวพระที่ห้อยคอประชาชน ผีจึงไม่กล้าหลอก แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาอาละวาดให้เป็นความผิดของคนที่แขวนพระ

ดังนั้น หลักสำคัญของการวิวาทะอยู่ที่ควรให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้อย่างเสมอภาคกัน เพราะเวทีที่จัดตามรูปแบบออกไปแต่ละภูมิภาคนั้น ในอดีตต้องยอมรับว่าการจัดเวทีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงเลือกตั้งแต่ละครั้งนั้น ไม่ประสบความสำเร็จกับการให้ประชาชนวินิจฉัยปัญหาใดๆ ได้เลย ประชาชนไม่ให้ความสนใจ และในวันนี้จำกัดวงการชี้แจงประชามติโดยไม่ให้ฝ่ายเห็นต่างแสดงเหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่เป็นบรรยากาศที่ดีของประเทศไทยเลย

นอกจากนี้ นายจตุพรกล่าวถึงการทำประชามติของประเทศอังกฤษว่า ประเทศไทยหลีกเลี่ยงผลสะเทือนการทำประชามติของประเทศอังกฤษไม่ได้ เพราะได้สร้างมาตรฐานผู้นำตามแบบระบอบปกครองประชาธิปไตย แม้อังกฤษใช้รัฐธรรมนูญจารีต ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่นายเดวิด คาเมรอน ยังยึดมาตรฐานประชาธิปไตย โดยลาออกจากนายกรัฐมนตรีเมื่อแพ้การทำประชามติ จึงแสดงถึงความรับผิดชอบของผู้นำที่มีแก่นแท้ทางจิตใจของความเป็นประชาธิปไตย ไม่อ้างทำตามตัวอักษร หากกรณีนี้เกิดในไทยจะกลายเป็นคนละเรื่องหนึ่ง ตรงข้ามกัน

เมื่อผู้นำอังกฤษไม่เห็นด้วยกับประชาชนในกรณีความเห็นอังกฤษจะแยกออกหรืออยู่กับสหภาพยุโรป (อียู) ยังกล้าให้ประชาชนตัดสิน ส่วนไทยเกิดขึ้นได้ยากมาก ถ้าผู้นำไทยแพ้ประชาชามติคงไม่ยอมรับ แล้วอ้างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้รับผิดชอบ รวมทั้งอาจล้มกระดานเอาอีกด้วยซ้ำ เพราะผู้ปกครองใช้มาตรฐานทางอารมณ์ไปตัดสินใจแทนประชาชน

นายจตุพรกล่าวว่า เมื่อไทยเรียกร้องการปฏิรูปประเทศทั้ง 7 ด้านแล้ว มาตรฐานทางจริยธรรมการเมืองจึงควรสร้างแบบอย่างขึ้นมาใหม่หรือไม่ และต้องปฏิรูปอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ปฏิรูปจะทำให้เกิดความเชื่อว่า ฝ่ายหนึ่งถือปืนมามีอำนาจ แล้วโทษอีกฝ่ายหนึ่งถือเงินมามีอำนาจ เมื่ออยู่นานไป ฝ่ายถือปืนก็ถือเงินไปด้วย ดังนั้น ตรรกะการมีอำนาจคิดแต่ตัวเองถูกทุกข้อ ส่วนคนอื่นผิดทุกข้อ ทำให้ประเทศด้อยพัฒนา ทำให้ไทยไม่มีความมั่นคงทางการเมือง การปกครอง และประชาธิปไตยไทยขาดความต่อเนื่องมาตลอด 84 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image