คอลัมน์ วิเทศวิถี : ไทยกับเวทีทูตพหุภาคี และเก้าอี้ยูเอ็นเอสซี

สัปดาห์ก่อนได้ฟังความเห็นจากนักการทูตชั้นครูหลายท่านถึงความสำคัญของการทูตพหุภาคีในโลกยุคปัจจุบันไปแล้ว สัปดาห์นี้จึงถือโอกาสมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความพยายามของไทยในการรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงเก้าอี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันติดปากสั้นๆ ว่ายูเอ็นเอสซี วาระปี 2560-2561 กันบ้าง เพราะเรากำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงกันแล้ว โดยจะมีการลงคะแนนเสียงกันในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ตามเวลาในสหรัฐ

ถ้าพูดถึง “ยูเอ็น” คนไทยทั่วไปก็น่าคุ้นเคยกันอยู่ ยิ่งในสัปดาห์นี้ดูเหมือนยูเอ็นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในไทยมากมาย ตั้งแต่ข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ต่อสายตรงหารือกับนายบันคี มุน เลขาธิการยูเอ็น เกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ขณะที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็พากันไปเข้าพบผู้ประสานงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้เข้าร่วมกับศูนย์ปราบโกงประชามติเพื่อตรวจสอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับร้องเรียนกรณีถูกปิดศูนย์ปราบโกงประชามติรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ แถมช่วงส่งท้ายสัปดาห์เฟซบุ๊กของยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์ก็ได้เผยแพร่ข้อความแสดงความกังวลกับการจับกุมนักกิจกรรม 13 รายในไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

จะชอบหรือไม่ก็ตามที แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ ไม่เฉพาะแต่ยูเอ็น แต่ยังรวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่อยู่ภายใต้สังกัดยูเอ็นอย่างยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ไปจนถึงสหภาพยุโรปหรืออียูในกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) จะเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินการภายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเราไม่อาจจะอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยคำว่า “แทรกแซง” เท่านั้น นั่นเพราะโลกในยุคปัจจุบันที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว เราไม่อาจทำตัวแบบเดิมๆ อย่างที่เคยชินโดยไม่คิดอะไรได้อีกต่อไป เมื่อเราต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้การพึ่งพาอาศัย การติดต่อค้าขาย และไปมาหาสู่กับคนในโลก การดำเนินการหลายสิ่งหลายอย่างก็ต้องเป็นไปภายใต้มาตรฐานอันเป็นสากลที่ทั่วโลกยอมรับด้วยเช่นกัน

Advertisement

ในทางตรงกันข้าม เราควรต้องย้อนกลับมาคิดถึงความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีบทบาทในโลก และตระหนักว่าเมื่อเราเป็นพลเมืองของโลก การที่ประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตามสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกอย่างสร้างสรรค์และมีพลวัต จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าเราจะอยู่ภายใต้รัฐบาลเช่นไรก็ตามที และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การลงสมัครชิงเก้าอี้ยูเอ็นเอสซีซึ่งเป็นดั่งหัวใจของการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ในยูเอ็นของไทยคือการแสดงความรับผิดชอบของไทยในฐานะสมาชิกยูเอ็นมานานกว่า 70 ปี

นับตั้งแต่ปี 2550 รัฐบาลไทยได้ประกาศสมัครชิงเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของยูเอ็นเอสซีในฐานะตัวแทนกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก วาระปี 2560-2561 โดยครั้งแรกที่ไทยได้นั่งเก้าอี้นี้คือเมื่อปี 2529-2530 หรือกว่า 3 ทศวรรษก่อน นับตั้งแต่นั้นกระทรวงการต่างประเทศได้เดินหน้าหาเสียงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มีการตั้งผู้แทนพิเศษเพื่อร่วมกับคณะในการรณรงค์หาเสียงให้กับไทย ทั้งนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกและอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน รวมถึงอดีตนักการทูตมากฝีมือของกระทรวงการต่างประเทศอีกหลายท่าน อาทิ นายกอบศักดิ์ ชุติกุล

ปัจจุบันคู่แข่งของไทยในโควต้าเอเชีย-แปซิฟิกมีเพียงประเทศเดียวคือคาซัคสถาน ที่เพิ่งประกาศเอกราชหลังแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2534 คาซัคสถานถือเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมายโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จุดแข็งของคาซัคสถานที่นำมาใช้ในการรณรงค์หาเสียงให้ความสำคัญกับ 4 เสาหลัก คือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ การให้ความสำคัญกับน้ำ ความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงทางพลังงาน และคาซัคสถานเป็นประเทศใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญในยูเอ็นเอสซี

Advertisement

แม้คาซัคสถานจะยืนยันว่าจะดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของประเทศสมาชิก แต่จุดอ่อนของคาซัคสถานคือการที่ใครต่อใครเห็นว่าคาซัคสถานมีความใกล้ชิดผูกพันกับรัสเซียอยู่มาก การเลือกคาซัคสถานจึงเปรียบดังการเลือกประเทศที่จะไปยืนเคียงข้างรัสเซียซึ่งถูกมองว่าแสดงบทผู้ร้ายในเวทีระหว่างประเทศในช่วงไม่กี่ปีมานี้ว่าจะในกรณีการสอยเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่เอ็มเอช 17 หรือกรณีการสู้รบในซีเรียที่ยืดเยื้อยาวนานจากการที่รัสเซียยืนกรานสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดนั่นเอง

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยอาจตั้งคำถามว่าไทยจะได้อะไรจากการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของยูเอ็นเอสซี ขณะที่อีกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องงบประมาณที่นำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่ขอบอกว่ายังมีสิ่งที่สำคัญไปกว่าคำตอบจากคำถามเหล่านั้น และไม่ว่าผลการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของยูเอ็นเอสซีในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ จะออกมาอย่างไร ประเทศไทยก็ถือว่า “ได้” จากการลงสมัครครั้งนี้แน่นอน

บ่อยครั้งที่เราอยู่ในสังคมไทยมานานจนอาจจะไม่ทันได้คิดว่าอันที่จริงในสังคมที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายแบบไทยๆ ของเรานั้นยังมีสิ่งดีๆ อีกมากมายที่ไทยสามารถนำเสนอให้กับโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนท่ามกลางความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของสังคมไทย เพราะจะมีกี่ประเทศแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศซึ่งเป็นมุสลิมไปกล่าวถ้อยแถลงเรื่องศาสนาและความหลากหลายทางวัฒนธรรมในวันวิสาขบูชาโลกซึ่งจัดขึ้นในห้องประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเช่นที่ไทยทำ

ไทยยังให้คุณค่าและส่งเสริมบทบาทของสตรี และเข้าไปมีบทบาทมากมายในเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การส่งกองกำลังไทยกว่า 20,000 นาย เข้าไปร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นกว่า 20 ภารกิจในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแทบจะทุกครั้งทหารไทยมักจะได้รับคำชมเชยอย่างมากมายกลับมาเพราะมีความสามารถโดดเด่นในการพัฒนาควบคู่กับการรักษาสันติภาพ นอกจากนี้ตำรวจหญิงไทยยังมีบทบาทที่โดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในติมอร์ตะวันออก หรือกระทั่งเมื่อกลางเดือนมิถุนายนนี้ นายมณเฑียร บุญตัน อดีตสมาชิกวุฒิสภา ก็ยังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการจากที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการเป็นสมัยที่ 2

ประเทศไทยมีนโยบายทางการทูตที่เป็นอิสระ การตัดสินใจใดๆ ของไทยขึ้นกับหลักการระหว่างประเทศ เราไม่มีศัตรูในเวทีโลก และสามารถแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเห็นได้จากการทำหน้าที่ของไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ในปัจจุบัน อีกทั้งเรายังเป็นผู้สมัครในนามผู้แทนอาเซียน

ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง ผู้แทนจากไทยได้ออกไปทำความรู้จักกับประเทศใหม่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ มากมายที่เราไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน อาทิ ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก หรือประเทศในแอฟริกาอีกมากมาย และไม่ใช่เพียงการที่เราได้รู้จักและเรียนรู้จากเขา แต่ประเทศเหล่านั้นก็ได้รู้จักประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนที่การเรียนรู้สองทางดังว่าไม่เพียงแต่จะทำให้เรามีมิตรเพิ่มมากขึ้นจะเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต สิ่งต่างๆ ตลอดหนทางของการรณรงค์หาเสียงของไทยยังถือเป็นประสบการณ์สำคัญสำหรับนักการทูตไทยที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวอีกด้วย

ใครที่สนใจการรณรงค์หาเสียงของไทยในเวทียูเอ็น อยากให้ลองไปเปิดดูคลิปวิดีโอที่มีการเปิดเวทีให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประกาศลงชิงเก้าอี้ยูเอ็นเอสซีครั้งนี้ได้มาถกแถลงกันอย่างตรงไปตรงมาทั้งเรื่องนโยบาย ความเห็นต่อประเด็นปัญหาและประเด็นสำคัญต่างๆ รวมถึงสิ่งที่แต่ละประเทศคิดว่าจะทำหากได้รับเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ได้ที่  http://webtv.un.org/search/wfuna-election-debates-for-candidate-countries-competing-for-a-2017-2018-non-permanent-seat-on-the-united-nations-security-council/4909611293001?term=wfuna  แล้วจะได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและสิ่งที่ไทยได้ทำในเวทีการทูตพหุภาคีผ่านการนำเสนออย่างน่าประทับใจและได้สาระของท่านทูตวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น

ถึงจะตระหนักดีว่าสังคมไทยโดยเฉพาะในยุคแห่งความแตกแยกชิงชังกันเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดๆ ก็มักจะถูกลากโยงเข้ามาเป็นประเด็นทางการเมืองได้ทั้งสิ้น แต่ก็ยังอยากจะเห็นสังคมไทยมองเรื่องการต่างประเทศโดยเฉพาะการรณรงค์หาเสียงชิงเก้าอี้ยูเอ็นเอสซีครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องของความพยายามที่จะแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีการทูตพหุภาคีของประเทศไทยมากกว่าจะจ้องจับผิดและวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่สร้างสรรค์

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งในวันที่ 28 มิถุนายนนี้จะเป็นเช่นไร อยากจะให้คนไทยเข้าใจว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้ระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายที่เรามุ่งหวังนั้นให้อะไรกับเรามากกว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายทาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image