‘คำนูณ’ ลั่นร่างรธน.นี้พิเศษ ใส่กระบวนการปฏิรูป ย้ำรปห.ครั้งสุดท้ายทำเพื่อประเทศไม่ได้แสวงอำนาจ

วันที่ 26 มิถุนายน 2559 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ กล่าวกับประชาชนชาวลำปาง ว่า การออกเสียงลงประชามติในวันที่ 7สิงหาคม 2559 นี้ ถือว่าเป็นการลงประชามติเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศไทย โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2550 แต่ในครั้งนี้ในปี 2559 จะเป็นครั้งแรกที่การออกเสียงลงประชามติจะมีคำถาม ถามกับประชาชน 2 คำถาม โดยคำถามแรก คือ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนคำถามเพิ่มเติม หรือที่เรียกว่า คำถามพ่วง ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้ปฎิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปี แรก นับตั้แต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี” คำถามนี้อธิบายความเป็นมาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้ได้ทั้งฉบับ อธิบายความเป็นมาของการรัฐประหารวันที่ 22พฤษภาคม 2557 ได้ทั้งหมด

“ผมกล้ากล่าวไว้เลยครับ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งจะเป็นฉบับที่ 20 ของประเทศไทย แต่ต่างจาก 19 ฉบับที่เคยมีมาโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เป็นฉบับแรกที่บัญญัติไว้ให้มีกระบวนการปฎิรูปประเทศดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีบัญญัติไว้ 5 มาตรา อยู่ในหมวดที่ 16 ของการว่าด้วยปฎิรูปประเทศ ซึ่งการปฎิรูปประเทศ คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนแปลงความเคยชินเดิมๆ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมๆ นอกจากนั้นยังสะท้อนถึงการรัฐประหาร ปี 2557 ว่า มีเจตนารมณ์เป็นพิเศษ แตกต่างจากการรัฐประหารที่เคยมีมาในประเทศไทยทั้งหมด 13 ครั้ง โดยมีเจตนารมณ์พิเศษว่า ต้องการให้เกิดกระบวนการปฎิรูปประเทศดำเนินไปต่อเนื่อง แม้ว่าคณะรัฐประหารนั้นจะพ้นไปแล้ว แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าจะมีรัฐบาลการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งขั้วใด ชื่ออะไร สีไหน ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตามแต่ จะต้องถูกผูกพันของผลแห่งกฎหมายให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศ ที่เรียกว่าการปฎิรูปประเทศต่อเนื่อง” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูญกล่าวว่า หลังจากที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลนั้นจะออกนโยบายรายละเอียดอย่างใดก็ได้ แต่จะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะต้องถูกวางไว้แน่นอน ตายตัว แก้ไขได้ แต่ว่าจะต้องมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติก็อย่างที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้ ว่า จะมีระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากผ่านประชามติ ภายใน 1 ปี 4 เดือน ซึ่งนี่ก็คือสถานะพิเศษของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของคณะคสช. ซึ่งก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประเทศ  ก็พอจะกล่าวได้ว่ารัฐประหารครั้งสุดท้ายนี้ เป็นการรัฐประหารเพื่อปฎิรูปประเทศไม่ใช่เพื่อแสวงอำนาจ

นายคำนูน ยังกล่าวอีกว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนว่าจะสงบลง แต่พี่น้องคงทราบดีว่าเป็นความสงบ เพราะมีกฎหมายพิเศษคอยกำกับอยู่ ทั้งนี้ สิ่งที่พี่น้องสงสัยว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวร และมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว บ้านเมืองจะกลับไปเป็นแบบเดิมที่หาทางออกไม่ได้ จนต้องมีการรัฐประหาร มีการใช้อำนาจพิเศษอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้น ทาง คสช.จึงมองว่า ปัญหาที่ร้าวลึกเช่นนี้ ไม่สามารถที่จะนำคู่กรณีมาเจอกัน และเซ็นสัญญาว่าจะไม่ทะเลาะกันอีก อันนั้นคือละคร แต่ความเป็นจริง คือ จะต้องมีการปฎิรูปประเทศ และเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งการปฎิรูปประเทศนี้คงไม่อาจทำได้เพียงแค่ช่วงเวลาที่ คสช.ดูแลอยู่ แต่จะต้องเดินหน้าต่อไปถึงยุคที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่ 4 ปีแรก แต่อาจจะต้องเป็น 4 ปีต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image