คอลัมน์ FUTURE perfect : ระวังแค่ไหนจึงเรียกว่าระแวง

ไม่นานมานี้ผมพบกับเรื่องที่ทำให้ผมต้องนึกหวาดๆ เฟซบุ๊กอยู่ไม่น้อย

มันเป็นวันที่ผมไปกินข้าวกับเพื่อนที่ห้างสรรพสินค้า เมื่อกินข้าวเสร็จ ก็นึกอยากกินของหวานล้างปากกันขึ้นมา เพื่อนจึงเอ่ยชวนไปกินไอศกรีมร้านข้างๆ มันเป็นร้านไอศกรีมเจ้าที่ผมไม่ได้กินบ่อยนัก เรียกว่าปีหนึ่งจะกินสักครั้งดีกว่า เรากินไอศกรีมกันเสร็จ ก็กลับบ้าน ไม่มีเหตุอะไรค้างคาใจ

จนกระทั่งผมเปิดเฟซบุ๊กขึ้นมา

ร้อยวันพันปี โฆษณาของร้านไอศกรีมนี้ไม่เคยโผล่ขึ้นมาในหน้านิวส์ฟีดของผมเลยสักครั้ง แต่เป็นวันนั้น – วันนั้นเองที่โฆษณาของมันโผล่ขึ้นมา เพื่อแจ้งโปรโมชั่นใหม่ “สำหรับลูกค้าคนพิเศษเช่นคุณ”

Advertisement

ปกติผมจะไม่ค่อยแปลกใจง่ายๆ กับการติดตามผู้ใช้ทำนองนี้ของเฟซบุ๊กนะครับ เช่นว่า ผมเลี้ยงแมว และต้องซื้ออาหารแมวอยู่บ่อยๆ บางครั้งก็สั่งซื้อในเว็บไซต์ พอเห็นโฆษณาอาหารแมวอยู่ในนิวส์ฟีด ก็รู้สึกปกติ (ซึ่งเป็น ‘ความรู้สึกปกติ’ ที่ไม่ได้ปกติสักเท่าไหร่หรอกนะครับ) เพราะว่ารู้อยู่ว่าเฟซบุ๊กนั้นสามารถติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้ แม้ผู้ใช้จะอยู่นอกเฟซบุ๊กได้ เพราะเว็บต่างๆ ก็ฝังปุ่มไลค์ ปุ่มแชร์ของเฟซบุ๊กไว้นั่นไง จึงทำให้เฟซบุ๊กติดตามได้

แต่คราวนี้มันแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ตรงที่ว่า ผมไม่ได้โพสต์อะไรเกี่ยวกับการไปกินไอศกรีมครั้งนี้สักนิด ไม่ได้กดไลค์เพจร้านไอศกรีมเจ้านี้ด้วย และในหมู่เพื่อนที่ไปกินก็มีแค่คนหนึ่งที่ถ่ายรูปในร้านแล้วเอาไปโพสต์ (โดยที่ไม่ได้แท็กร้านนี้ด้วยซ้ำ) แล้วเฟซบุ๊กมัน ‘รู้’ และแสดงโฆษณาอย่างเหมาะเจาะตรงเผงแบบนี้ได้อย่างไร

เฟซบุ๊ก ‘รู้’ ใช่ไหมว่าผมไปกินไอศกรีมเจ้านี้

หรือนี่เป็นแค่เหตุบังเอิญ?

ไม่นานมานี้ ศาตราจารย์เคลลี่ เบิร์นส์ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเซาธ์ฟลอริดา ก็พบเหตุการณ์คล้ายๆ กัน เธอทำการทดลองอย่างง่ายๆ ด้วยการเปิดฟังก์ชั่นไมโครโฟนในแอพพ์เฟซบุ๊กในมือถือของเธอ แล้วเธอก็ลองเปิดแอพพ์เฟซบุ๊กค้างไว้ แล้วพูดว่า “ช่วงนี้ฉันชักอยากไปเที่ยวป่าซาฟารีในแอฟริกาจังเลย คงจะดีมากๆ เลยนะถ้าได้นั่งรถจี๊ปแล้วตะลุยแถวนั้น”

ภายในระยะเวลา 60 วินาที ก็มีโพสต์หนึ่งปรากฏในนิวส์ฟีดเฟซบุ๊กของเธอ มันเป็นโพสต์เรื่องป่าซาฟารี! ศาสตราจารย์เคลลี่คิดว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะโพสต์นี้ก็มีอายุสามชั่วโมงกว่าแล้ว (ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งโพสต์ตอนที่เธอพูด) และหลังจากนั้นโฆษณารถยนต์ยี่ห้อหนึ่งก็โผล่ขึ้นมาด้วย

ความกังวลว่าเฟซบุ๊กจะแอบฟังบทสนทนาของเรามีมาสักพักแล้วนะครับ ตั้งแต่ที่เฟซบุ๊กประกาศฟีเจอร์ใหม่ที่สามารถฟัง ‘รายการโทรทัศน์ที่คุณกำลังชมและเพลงที่คุณกำลังฟัง’ เพื่อเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจคุณมากขึ้น ก็มีความกังวลมาโดยตลอดว่าอาจไม่ใช่แค่รายการโทรทัศน์หรือเพลงเท่านั้นที่เฟซบุ๊ก ‘ฟัง’ – มันอาจจะฟังกระทั่งบทสนทนาของเราด้วย

หลังจากที่การทดลองของ ศจ.เคลลี่ เบิร์นส์ ออกโทรทัศน์ช่อง NBC ก็มีสำนักข่าวมากมายเสนอข่าวว่า

เฟซบุ๊กแอบฟังบทสนทนาของคุณอย่างแน่นอน มันเป็นข้อมูลที่สอดรับกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ว่าเฟซบุ๊กนั้น

กำลังทำตัวเป็น ‘บิ๊กบราเธอร์’ ที่คอยสอดส่องคุณตลอดเวลา มีบทความมากมายเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่างถ่มถุยเฟซบุ๊กและบอกให้ผู้ใช้ระมัดระวังเป็นการใหญ่

แต่คำถามก็คือ จริงหรือที่เฟซบุ๊กกำลังแอบฟังเราอยู่?

ความจริงก็คือ แม้แต่ ศจ.เบิร์นส์เองก็ไม่คิดอย่างนั้นนะครับ “แปลกดีนะคะ” เธอบอกกับสถานีโทรทัศน์ NBC ที่ถ่ายทอดตอนเธอทำการทดลองนี้ “ฉันคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญธรรมดา แต่ก็ไม่คิดว่า… เฟซบุ๊กจะฟังเราคุยกันแน่ๆ หรอกค่ะ”

หลังจากที่เธอดังไปทั่วโลกเพราะผู้คนคิดว่าเธอเป็นผู้ ‘เปิดโปง’ เฟซบุ๊ก เธอก็ออกมาให้ความเห็นว่า “นี่มันชักจะไปกันใหญ่แล้ว ฉันไม่คิดว่าเฟซบุ๊กดักฟังเราอยู่ และก็ไม่มีหลักฐานด้วย ฉันไม่คิดว่า ‘การทดลอง’ เล็กๆ ของฉันจะพิสูจน์อะไรได้ มันเป็นแค่ข้อมูลส่วนหนึ่ง เป็นแค่ ‘หมายเหตุ’ หรือเกร็ดเล็กๆ เท่านั้น”

เช่นกัน, เฟซบุ๊กก็ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือนี้ โดยออกจดหมายใจความว่าแอพพ์ของตนไม่ได้เข้าถึงไมโครโฟนเพื่อการอื่นใดไปนอกจากใช้ในฟีเจอร์ที่ต้องอาศัยการ ‘ฟัง’ จริงๆ เท่านั้น เช่นฟีเจอร์ค้นชื่อเพลง หรือการสั่งงานด้วยเสียง เฟซบุ๊กบอกว่าจะแสดงโฆษณาต่างๆ ตามความสนใจและข้อมูลของผู้ใช้ (interests and other demographic information) และใช้ข้อมูลเสียงก็ต่อเมื่อผู้ใช้อนุญาตเท่านั้น

ผมไม่คิดว่าเฟซบุ๊กแอบฟังผมกินไอศกรีม มันอาจใช้ข้อมูลอื่นๆ อย่างเช่น ข้อมูลโลเกชั่นที่เก็บได้ตอนที่ผมเปิดแอพพ์เฟซบุ๊กมา (แต่ก็เป็นข้อมูลโลเกชั่นที่แม่นยำจนน่าตกใจ เมื่อคำนึงว่าผมอยู่ในห้างสรรพสินค้า) มันอาจใช้ข้อมูลรูปถ่ายที่เพื่อนผมโพสต์ไปวิเคราะห์ หรือกระทั่งนี่อาจเป็นความบังเอิญล้วนๆ ก็ได้

นักข่าวของ The Atlantic พบความบังเอิญอีกอย่างของเฟซบุ๊ก ภายในส่วน ‘People You May Know’ หรือ ‘คนที่คุณอาจรู้จัก’ เขาเห็นคนคุ้นหน้าอยู่คนหนึ่ง แต่เป็นคนที่

เฟซบุ๊กไม่น่าจะรู้ว่าเขารู้จัก เพราะเขาพบเพื่อนคนนี้หกหรือเจ็ดครั้งในวงบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์ (Alcoholic Anonymous) ที่ซึ่งจะไม่มีใครโพสต์อะไรออนไลน์เด็ดขาด เพราะถือความเป็นส่วนตัวของผู้ร่วมวงเป็นสำคัญ

เพื่อนคนนี้ไม่เคยแม้แต่บอกชื่อกับเขา – และเขาก็ไม่เคยบอกชื่อสกุลจริงกับเพื่อน

แต่เฟซบุ๊กก็รู้ว่าคนคนนี้เป็น ‘คนที่คุณอาจรู้จัก’ ซึ่งนี่ก็อาจเป็นความบังเอิญล้วนๆ

…หรือไม่ใช่? ผมก็ตอบไม่ได้

และการที่ตอบไม่ได้นี้เอง ที่น่ากลัว เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ในโลกปัจจุบัน เราไม่รู้เลยว่าอะไรที่บริษัทพวกนี้ ‘รู้’ – เราได้แต่ไต่เส้นของความระวัง โดยไม่ให้ตกไปอยู่ในพื้นที่ของความระแวงเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image