‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ‘ไขข้อข้องใจ ปลดล็อกยาเสพติด’

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

กลายเป็นประเด็นร้อน วิพากษ์วิจารณ์ทันที หลังปรากฏข่าว นายพลทะลวงฟันแห่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโรงผลักดันไอเดีย “เชนจ์” การแก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่ พูดกันไปไกล ถึงขั้น เปิดกว้างขายโอเพ่น เข้าถึง รวดเร็ว ทันใจ ใกล้มือกันเลยทีเดียว

แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนแนว มากน้อย สุดกู่แค่ไหน “มติชน” สัมภาษณ์พิเศษ “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไขทุกปมข้อข้องใจที่เป็นคำถามสังคม

0.จุดเริ่มต้นแนวคิดเปลี่ยนการแก้ปัญหายาเสพติดแนวใหม่

ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อน ผมไม่ได้เสนอให้ถอดยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติด หรือให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายหรือเปิดขายเสรี ข้อความเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่สิ่งที่ผมสื่อสารออกไป แต่สิ่งที่ผมกำลังสื่อกับสังคมก็คือ ผมได้อธิบายว่า ช่วงเดือนเมษายนได้เดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยยาเสพติดโลก หรือประชุม UNGASS ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมเสนอรายงานสถานการณ์ยาเสพติด แนวโน้มทิศทางการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ

Advertisement

ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ ผมเน้นนะส่วนใหญ่ เห็นว่าให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และหลายประเทศเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหายาเสพติด จากการปราบปราม มาเป็นการบำบัดฟื้นฟู ให้ความสำคัญในเรื่องสาธารณสุข ถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูรักษา มีการนำเสนอผลจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา มีทั้งผลงานทางวิชาการ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ นี่คือตัวอย่างหนึ่งกับการแก้ปัญหายาเสพติดที่เน้นเรื่องด้านสาธารณสุข

0.ประเทศไทยพร้อมจะเปลี่ยนหรือยัง

การเปลี่ยนคงไม่ใช่เรื่องของยูเอ็นเพียงอย่างเดียว แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนก็คือ ประเทศไทยทำมาทุกอย่างแล้ว ทั้งทำสงครามยาเสพติด เราใช้ชีวิตคนหมดไปเท่าไหร่ บางรัฐบาลทำลายคนนึกว่าคนคือปัญหา แล้วก็จัดการด้วยการทำลายคน หลังจากนั้นมันหนักกว่าเดิม ผลพวงเรื่องนี้ไปอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นกรมพินิจฯ กรมราชทัณฑ์ ยิ่งเห็นชัด คนอยู่ในวงจรยาเสพติด เรือนจำมีไว้ขังนักโทษประเภทอื่นด้วย ไม่ใช่ยาเสพติดอย่างเดียว ตอนนี้ร้อยละ 80 เป็นคดียาบ้า ร้อยละ 10 เป็นฝิ่น เฮโรอีน แล้วนี่คือความสำคัญที่เราใช้แนวทางเดิมๆ หรือไม่ อีกอย่างการบำบัดฟื้นฟู ก็ลุ่มๆ ดอนๆ

Advertisement

นี่คือตัวอย่างสะท้อนว่าระบบบำบัดฟื้นฟูมีปัญหา ยิ่งตอกย้ำว่าแนวทางที่เราใช้กันมามันไม่ใช่ การบังคับใช้กฎหมาย ให้คนเสพเข้าไปอยู่ในคุก ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะคุกไม่ใช่ที่บำบัด คุกเป็นที่กักขังคน กรมราชทัณฑ์ไม่มีบุคลากรในการบำบัด รักษาผู้ป่วยเหล่านี้ ช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เราจะไม่ยอมรับผลเกิดขึ้นในทางวิชาการ การวิจัยของประเทศประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้ และการสร้างความรับรู้เป็นเรื่องสำคัญ

0.ตัวอย่างประเทศประสบผลสำเร็จ

โปรตุเกสได้ปรับสถานะของยาเสพติด กฎหมายระบุว่า การครอบครองยาบ้าไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม ใช้แนวทางดังกล่าวมาแล้ว 12 ปี ปรากฏว่าคนติดยาหรือผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้น อัตราการใช้ของวัยรุ่นลดลง อาชญากรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลง และมูลค่าของยาเสพติดถูกยกเลิกว่าเป็นอาชญากรรมลดลง หรือราคาถูกลง ยังพบว่าจำนวนผู้ติดโรคผลสืบเนื่องจากการใช้ยาเสพติดและเสียชีวิตลดลงจำนวนมาก แต่ประเทศไทยก็ต้องกลับมาศึกษา แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม

หรืออย่างสวิตเซอร์แลนด์ประสบปัญหาคนล้นคุก ช่วงมีนโยบายประกาศสงครามกับยาบ้า แต่วันนี้ไม่มีปัญหานี้แล้ว เพราะปรับแนวทางมาเน้นเรื่องระบบสุขภาพ สาธารณสุข การบำบัดฟื้นฟู ผู้เสพคือผู้ป่วยชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีฮ่องกงได้ยกเลิกแอมเฟตามีนจากการเป็นยาเสพติดร้ายแรง หากใช้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ หรือใช้เพื่องานวิจัย ต้องมีใบสั่งจากแพทย์

มิฉะนั้นจะได้รับโทษหนัก

ผมแค่ต้องการบอกว่าหลายประเทศหันหลังให้กับสงครามยาเสพติดแล้ว เป็นเรื่องสาธารณสุขกับการบำบัดฟื้นฟู เรื่องสุขภาพผู้เสพหมดแล้ว แล้วประเทศไทยยังอยู่เฉยไม่คิดทำอะไรเลยคงไม่ได้ เราต้องสร้างความรับรู้ให้ประชาชน คนไทยเข้าใจ ในที่ประชุมครั้งนั้นผมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ไม่ได้เห็นด้วยต่อที่ประชุมให้ยาเสพติดถูกต้องตามกฎหมาย ประเทศไทยยังไม่พร้อม จะไม่ใช้หรือยกเลิกโทษประหารชีวิตกับคดียาเสพติด แต่ประเทศไทยเห็นด้วยกับเรื่องให้ผู้เสพคือผู้ป่วย และยุติคำว่าการทำสงครามกับยาเสพติด ผมได้บอกกับที่ประชุมว่ามีการแก้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ และการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องได้สัดส่วนกับพฤติกรรมในการกระทำความผิด นักค้ารายใหญ่ยังต้องถูกลงโทษอย่างจริงจัง

0.กลับมาแล้วนำข้อเสนอของยูเอ็นมาใช้ในเรื่องใดบ้าง

ผมก็นำข้อเสนอที่ยูเอ็นเสนอแนะแนวทางผลงานวิจัยของการแก้ปัญหาจากโลก มาบอกต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.) เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใดกับการแก้ปัญหายาเสพติด ที่ประชุม ศอ.ปส.ก็มีมติร่วมกันว่านโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จะต้องดำรงเรื่องของการปราบปราม เรื่องการป้องกัน และเรื่องของการบำบัดและฟื้นฟูเช่นเดิมอย่างเข้มข้น สำหรับผู้เสพนั้นเป็นเรื่องของคนป่วย เรื่องการบำบัดฟื้นฟู จึงมีแนวคิดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องบำบัดฟื้นฟู ทั้งการบำบัด บังคับบำบัดและกลุ่มสมัครใจบำบัด ส่วนกรมคุมประพฤติรับหน้าที่ควรตรวจสอบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ผ่านมาตรฐานการบำบัดตามระบบหรือไม่ จากนั้นรายงานต่อศาลตามขั้นตอน นี่คือจุดเริ่มและแนวคิดที่ผมเสนอ

13499968_10209029501190392_1304764888_o

0.การสร้างความรับรู้ให้ประชาชนคนเข้าใจจะทำในลักษณะไหน เพราะทัศนคติด้านลบของยาบ้ากับสังคมไทยค่อนข้างยาวนาน

ผมบอกที่ประชุม ศอ.ปส.ว่าเราต้องเริ่มนับหนึ่งกันได้แล้ว โดยสร้างความยอมรับกับประชาชน ให้ทุกหน่วยเดินแนวทางเดียวกัน และที่ประชุมก็เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ผมว่าเราต้องโทษระบบเพราะเราปล่อยให้พวกเขาเสพจนเกิน เพราะการใช้ยาเสพติด หากเสพแต่พอดีแล้ว ไม่มีทางคลุ้มคลั่งได้หรอก เป็นแบบนั้นแสดงว่าเสพเกินปริมาณ เคยเห็นคนดื่มสุราแล้วคลุ้มคลั่งหรือไม่ ก็มี เพราะดื่มเกินปริมาณที่ร่างกายจะรองรับได้ เหมือนกัน นี่คือระบบสุขภาพควบคุมกันต้องเป็นแบบนี้ เสพในปริมาณเหมาะสม เราต้องค่อยๆ สร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ เพราะที่ผ่านมารับรู้ว่า ผู้ต้องหารับสารภาพว่าเสพยาบ้าแล้วมีอารมณ์ทางเพศแล้วไปข่มขืน ซึ่งมันก็จริง นี่คือสิ่งที่ได้รับความรู้แบบนี้ แต่อย่าลืมว่าไม่มีสารเสพติดไหนเลย ที่เสพเกินปริมาณแล้วจะไม่คลุ้มคลั่ง ดังนั้นถ้าควบคุมให้เสพในปริมาณที่เหมาะสมปัญหาก็ไม่เกิด นี่คำว่าการควบคุมเรื่องสุขภาพสาธารณสุข

0.สุรากับบุหรี่สังคมมองว่าผลจากการเสพไม่อันตรายเท่ายาบ้า

ผลงานวิจัยมีความชัดเจนว่าสุราหรือบุหรี่โทษต่อร่างกายแรงกว่ายาบ้า เรื่องนี้ผมไม่ได้พูดเองมีงานวิจัยรองรับ เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่สังคมคิดแบบนั้นเพราะสุราหรือบุหรี่ไม่ได้อยู่ในบัญชียาเสพติด แต่สุรากับบุหรี่เป็นสิ่งเสพติด สังคมเลยยอมรับได้ เวลาพกยาบ้าเป็นยาเสพติด ตำรวจจับ เวลาพกเหล้าตำรวจไม่จับ

0.การเปลี่ยนแปลงแนวทางแก้ปัญหาจะมีมากน้อยแค่ไหน

เราต้องบริหารโทษให้สำเร็จก่อน หมายความว่า พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับใหม่ มีการบริหารโทษยาเสพติด จะสมดุลกันเพราะกฎหมายใหม่จะเป็นเครื่องมือ คัดแยกกลุ่มผู้เสพ เพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดฟื้นฟูชัดเจน ผู้เสพจะได้รับความเป็นธรรม งานสาธารณสุขจะมีบทบาทมากขึ้น ผู้เสพสามารถบำบัดที่สถานีอนามัยในชุมชนได้ มีการควบคุมการใช้ยา เพื่อการบำบัดฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าอยู่กับยาเสพติดอย่างปลอดภัย เพราะยาเสพติดไม่มีทางหมดจากโลกใบนี้ ตราบใดที่ยังคงมีอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ที่มีสารตั้งต้น ดังนั้น ต้องอยู่กับมันอย่างปลอดภัย เพราะทุกวันนี้ คนออกจากคุกเป็นตราบาป เพียงแค่ช่วงวัยรุ่นต้องการทดลอง แต่โดนจับติดคุก 20 ปี แบบนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้เสพ กลายเป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่ปัญหายาเสพติด

0.เมื่อระบบต่างๆ เข้าที่ กฎหมายพร้อม จะปรับบัญชียาเสพติดหรือไม่

ไม่ว่าจะปรับให้มันอยู่ประเภทไหน มันก็คือยาเสพติด แต่ถ้ามีการบริหารโทษได้ดี ไม่ต้องปรับ ไม่จำเป็น แต่ถ้าจะปรับก็เพื่อประโยชน์ของผู้เสพ และอีกอย่างต้องรอดูผลจากการใช้กฎหมายฉบับใหม่ด้วยว่าสถิติต่างๆ เป็นอย่างไร ระบบบำบัดได้มาตรฐานหรือไม่ ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำในวันนี้สังคมจะเข้าใจผม

0.กลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเครือข่ายยาบ้ามีอิทธิพล

คุณคิดว่า พล.อ.ไพบูลย์ตายไม่เป็นเหรอ ผมเป็นเทวดาเหรอ ไม่มีหรอกครับ แต่เป็นหน้าที่ ผมโดนมาเยอะกว่านี้ ผมไม่ได้เป็นมนุษย์วิเศษอะไร ผมว่าผมโชคดี ผมเชื่อว่าพระคุ้มครอง คิดแบบนี้ ประวัติผมเป็นคนแบบนี้ ผมไม่เคยท้าทายพวกมีอิทธิพลเหล่านี้ ยืนยันพวกเขาทำผมได้ตลอด แต่ผมเคยพูดว่า ถ้าคุณทำผมได้ คุณคิดหรือว่าการแก้ปัญหายาเสพติดจะไม่สานต่อ ก็มีคนทำลายพวกคุณไปต่อเรื่อยๆ ไม่หยุดหรอก ไม่จบ และสิ่งที่พวกคุณทำมีประโยชน์เหรอ คุณทำลายชีวิตคนอื่น แล้วพวกคุณมีความสุขหรือ อยากพูดแบบนี้ ควรจะกลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image