ทีมวิจัยเอริเทรีย ขุดค้นพบรอยเท้ามนุษย์ยุคโบราณเก่าแก่อายุ ‘8แสนปี’

(ภาพ-Alfredo Coppa/Sapienza University Rome)

ทีมวิจัยทางด้านบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเอริเทรีย นำโดย ศ.อัลเฟรโด คอปปา นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยซาเปียนซา ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ขุดค้นพบรอยเท้าของมนุษย์ยุคโบราณอายุเก่าแก่ราว 800,000 ปี ที่แหล่งขุดค้นอาลัด-อาโม ในทะเลทรายดานาคิล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเอริเทรีย โดยเชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบรอยเท้าของ “โฮโม อีเรคตัส” มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ถือเป็นบรรพบุรุษโดยตรงของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

รอยเท้าจำนวน 12 รอยที่พบอยู่ในชั้นตะกอนทรายที่กลายเป็นหินนั้น คาดกันว่าเป็นไปได้ที่จะเป็นของคนจำนวนหนึ่งรูปร่างสูง ที่ทิ้งรอยเท้าเอาไว้ในพื้นที่ซึ่งเดิมน่าจะเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งหญ้าและป่าละเมาะ ตรงจุดที่เป็นพื้นที่ขุดค้นขนาด 85 ตารางฟุตนั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนของพื้นที่เป็นตะกอนที่เคยน้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว ทำให้รอยเท้าถูกประทับทิ้งไว้อย่างนั้น หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ศ.คอปปากล่าวว่า รอยเท้าที่พบนั้นเป็นการเคลื่อนที่จากทางเหนือลงใต้ และอาจเป็นรอยเท้าของคนหลายคน ซึ่งอาจกำลังไล่ตามสัตว์กีบบางอย่างคล้ายกวางแอนติโลป ซึ่งปรากฏรอยเท้าของสัตว์กีบจำพวกกวางนี้อยู่ตามเส้นทางรอยเท้ามนุษย์ดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน

“โฮโม อีเรคตัส” เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน มีสมองขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อราว 1.8 ล้านปีก่อนที่จะสูญพันธุ์ไปในแอฟริกาเมื่อประมาณ 700,000-800,000 ปีก่อน ในขณะที่เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งของโฮโม อีเรคตัส กระจายกันออกไปใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกาตะวันออก เรื่อยไปจนถึงตะวันออกกลางและเอเชีย ซึ่งอาจจะมีชีวิตรอดมาจนกระทั่งถึงราว 50,000 ปีที่แล้ว

ศ.คอปปาชี้ว่า การค้นพบรอยเท้าครั้งนี้ อาจช่วยให้ไขเงื่อนงำได้ว่า โฮโม อีเรคตัส วิวัฒนาการไปอย่างไรจนกระทั่งถึงเมื่อโฮโม ซาเปียน หรือสายพันธุ์มนุษย์ยุคใหม่เกิดขึ้นมาเมื่อราว 200,000 ปีก่อน

Advertisement

รอยเท้าของมนุษย์ดึกดำบรรพ์นั้นให้ข้อมูลได้หลากหลาย ตั้งแต่ขนาดและมวลของร่างกายเรื่อยไปจนถึงพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เพียงแต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์เช่นนี้หาได้ยากมากเท่านั้นเอง

ที่ผ่านมาในแอฟริกามีการค้นพบรอยเท้าของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ทำนองนี้เพียงแค่ 3 จุดเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image