เกาะขอบเวทีเจรจา ศึก ‘ป้อมมหากาฬ-กทม.’ สัญญาณส่อรอมชอม จริงหรือ?

ปิดประตูป้อมค่ายและหอรบไปชั่วคราวหลังยื่นคำฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฯ ที่ศาลปกครองกลางไปเมื่อ 29 เมษายน

ในวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ก็เปิดบ้านต้อนรับ กทม. ที่มาเยี่ยมเยือนเพื่อพูดคุยประเด็นร้อน นำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. และ ศักดิ์ชัย บุญมา ผอ.กองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กทม. ด้วยความพยายามที่จะหาข้อยุติของปัญหาที่ยืดเยื้อมาถึง 24 ปี จากกรณีไล่รื้อชุมชนเพื่อสร้างสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเมื่อ 50 ปีก่อน

มาลองพิจารณาถ้อยคำจากการเจรจาความในครั้งนี้ ว่ามีเหตุผล ข้อเสนอแนะและทางออกใดบ้าง

 

Advertisement

แผนแม่บท ‘ล้าสมัย’

แนะแก้ไข พระราชกฤษฎีกา

เริ่มที่หัวหน้าทีมวิจัยบ้านไม้โบราณในชุมชนป้อมมหากาฬ อย่าง ชาตรี ประกิตนนทการ

อาจารย์หนุ่มให้ความเห็นว่า แผนดังกล่าวมีความล้าสมัย เนื่องจากจัดทำขึ้นตั้งแต่ 50 ปีก่อน ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาด้านการบริหารงานที่ขาดการมองภาพรวมขององค์กรต่างๆ ของรัฐ แต่กลับดำรงอยู่มาได้ตั้ง 20-30 ปีโดยไม่มีการ “ทบทวน” จึงขอเสนอให้แก้ไขพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อปลดล็อกกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

“ปัญหาคือตัวแผนแม่บทที่จะทำเป็นสวนแบบโลกตะวันตก ไม่ใช่วัฒนธรรมการอยู่อาศัย ทั้งล้าสมัยและผิดพลาดในด้านวิชาการ ดำรงมา 20-30 ปีโดยไม่มีการทบทวน แผนนี้ไม่เวิร์กอีกต่อไป แต่ยังถูกผลักดัน จนตกไปที่ กทม. ซึ่งส่วนตัวก็เห็นใจ กทม.ในส่วนนี้ เลยขอเสนอให้แก้พระราชกฤษฎีกา รวมถึงเปลี่ยนบทบาทจากการที่เป็นผู้รอฝั่งตุลาการมากระตุ้นและส่งผลต่อการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ที่เป็นภาระผูกพัน ให้เป็นผู้ยื่นเรื่องต่อ ครม.ชี้แจงข้อจำกัดและความล้าหลังของแผนแม่บทเดิม” ชาตรีกล่าว

Advertisement

ด้าน ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชุมชนและวัฒนธรรมเมือง เสริมว่า ผู้ที่ทำแผนดังกล่าวไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ เหตุใดจึงไม่เปิดเวทีให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาคุยกัน โดยเป็นเวทีที่มี “เสียงดัง” กว่านี้

นอกจากนี้ยังตั้งคำถามว่า น่าเชื่อหรือไม่ว่าโครงการมีความชอบธรรม สามารถชี้แจงได้จริงหรือไม่ ?

ปฐมฤกษ์ เกตุทัต (ภาพจาก prachatai) – ชาตรี ประกิตนนทการ

วอนระงับ ‘ปิดหมาย-ไล่รื้อ’

เสนอตั้งกรรมการ 2 ฝ่าย

ถึงคิวคนในชุมชนตัวจริงพูดบ้าง

พรเทพ บูรณบุรีเดช ที่ยืนยันว่าตนเคารพกฎหมาย แต่กฎหมายต้องเป็นธรรม อีกทั้งสามารถแก้ไขได้ ขอแค่มีบ้านอยู่ และมีส่วนร่วมในการดูแลเท่านั้น

“ตามคอนเซ็ปต์ทั้งชีวิตเราดูแล ของผู้ว่าฯกทม. ถามว่าดูแลยังไง หากชุมชนต้องย้ายออกไป จึงอยากจะขอแค่ให้พวกเรามีบ้านอยู่ ขอมีส่วนร่วมในการดูแล มีการพัฒนาร่วมกัน”

สำหรับข้อเสนอของชุมชนป้อมมหากาฬ สรุปได้ดังนี้

1.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฝ่ายกฎหมายทั้งสองฝ่าย

2.ให้ระงับการปิดหมาย ไล่รื้อ จนกว่าจะหาทางออกร่วมกันทั้งสองฝ่าย

3.ให้มีการจัดเวทีสาธารณะ โดยให้ประชาชนในภาคส่วนอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย

(ซ้ายบน) เวทีเสวนาที่ลานกลางชุมชนป้อมมหากาฬ 23 มิถุนายน 2559 (ขวาบน) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม.ชี้แจงเหตุผล (ซ้ายล่าง) เมื่อครั้งยื่นคำฟ้องที่ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ 29 เมษายน 2559 (ขวาล่าง) งานรวมพลคนป้อมมหากาฬค้านไล่รื้อ 27 มีนาคม 2559

รองผู้ว่าฯ ‘บิ๊กวิน’ เปิดใจ

ขอคุยฐานะ ‘คนไทยด้วยกัน’

ขณะที่ฝ่าย กทม.ซึ่งเดินเท้าเข้าสู่ป้อมมหากาฬในคราวนี้ เปิดใจโดย “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม.

“ในที่นี้จะไม่ใช่การพูดคุยในฐานะประชาชนกับนักการเมือง แต่เป็นการพูดคุยในฐานะคนไทยด้วยกัน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าวเริ่มต้นประโยค

“เราจะไม่คุยกันในฐานะที่เป็นประชาชนกับนักการเมือง แต่ฐานะคนไทยด้วยกัน ผมทำเพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่ตรงนี้ แต่จะนำไปตอบผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลปกครองสูงสุดว่าอย่างไร ตอบฝ่ายกฎหมายบ้านเมืองว่าอย่างไร ผมทำ ผมไม่ได้อะไร คนที่ได้ประโยชน์คือกรุงเทพฯ คือประเทศไทย”

สำหรับปัญหาหลักในส่วนของหน่วยราชการอย่าง กทม.ก็คือ “ข้อกฎหมาย” ซึ่งบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตามแผน ไม่เช่นนั้นจะมีบทลงโทษฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าฯให้คำมั่นว่าจะไม่ดำเนินการไล่รื้อโดยไม่แจ้งล่วงหน้า

หลังจบเวที แต่สุดท้ายยัง “ไร้ข้อสรุป” กทม.จึงเชิญตัวแทนชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น (24 มิ.ย.) เวลา 09.00 น.

 

‘เอ็นจีโอ’ ห่วงความไม่ชัดเจน

เหตุให้ ‘คุณค่า’ ต่างกัน

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งทำงานร่วมกับป้อมมหากาฬ กล่าวว่า แม้เวทีดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป แต่จากการพูดคุยในเวทีที่ป้อมมหากาฬ ทำให้มองเห็น “โอกาส” และ “สัญญาณ” ในเชิงบวกว่ายังสามารถมีพื้นที่ที่นำไปสู่การเจรจาได้อีก

เพราะดูทรงแล้วงานนี้ไม่มีทีท่า “หักด้ามพร้าด้วยเข่า”

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปร่วมประชุมอีกครั้งที่ กทม.ในวันรุ่งขึ้น คือ 24 มิ.ย. ซึ่งเป็นวงประชุม “เฉพาะกิจ” พบว่าทางชุมชนและ กทม.มีมุมมองที่แตกต่างกันในแง่ของนิยามความหมายและการให้คุณค่า จึงอาจยังไม่มีคำตอบหรือการแก้ปัญหาอย่างที่คาดหวัง

“เรื่องกรอบแนวคิดก็ดี แผนแม่บทก็ดี กฎหมายก็ดี การสกรีนคนเก่า-ใหม่ในชุมชนก็ดี เรายังรู้สึกว่ามีความไม่ชัดเจน เพราะมองและให้คุณค่าในเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน เช่น มองคำว่าชุมชนไม่เหมือนกัน มองคำว่าสวนต่างกัน ซึ่งขอยืนยันว่าชุมชนไม่ได้ปฏิเสธการสร้างสวน กทม.มีสิทธิทำ แต่ขอให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยเป็นสวนแนวใหม่ ไม่ใช่สวนสาธารณะที่มีคนมาวิ่ง-ออกกำลังกาย แต่ควรเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมของเด็กๆ ซึ่งชุมชนพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเหล่านี้” อินทิรากล่าว

ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าที่ได้ไปเกาะขอบเวทีมารายงานให้ได้รับทราบ

คือความคืบหน้าล่าสุดของมหากาพย์วิวาทะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ดูทีท่าจะยังไม่มีการ “หย่าศึก” โดยง่าย

ประเด็นนี้จะจบลงอย่างไร ยังคงต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image