หญิงหน่อย-นิพิฏฐ์-เสี่ยตือ นัดคุยเพื่อนนักการเมืองสัปดาห์หน้า หวังแก้ปัญหาบ้านเมือง

สถาบันสิทธิฯมหิดลจัดสัมมนา”ร่างรธน.กำกับรบ.ไว้อย่างไร”-“หญิงหน่อย”เผยเตรียมนัดคุยเพื่อนนักการเมืองสัปดาห์หน้าชี้นักการเมืองต้องแก้ไขตัวเอง”เสี่ยตือ”แย้มยังไม่กำหนดวันแต่มีส.ส.พรรคอื่นด้วยแน่นอน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มิถุนายน ที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสัมมนา “ร่างรัฐธรรมนูญกำกับรัฐบาลไว้อย่างไร” โดยนายโคทม อารียา อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวว่า กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รู้สึกเสียดายที่ผู้ร่างมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตรง และเหมือนกับว่ารับจดหมายจากคสช.มาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด ยังดีที่มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญพอที่จะทำให้เกิดความชอบธรรม แต่ดูไปดูมาแล้ว การออกเสียงลงประชามติกลับมีการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว ทั้งที่กระบวนการนี้ต้องการเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกันของทั้งผู้รับและไม่รับร่าง รวมทั้งยังมีมาตรา 7 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญ 2559 จึงเห็นว่ายังพอมีเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องจะไปทำให้กระบวนการออกเสียงประชามติเกิดเสรีภาพและความเท่าเทียมทั้งในเรื่องการแสดงความคิดเห็นและการรณรงค์ของทั้งสองฝ่าย ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้ใจคสช. เพราะขอให้คสช.ช่วยคิดแนวทางการปฏิรูปประเทศ คิดแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว แต่ไม่ไว้ใจนักการเมือง จากที่เห็นได้คือผู้ร่างของให้คสช.เป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้อำนาจในการร่วมกับ ส.ส. เลือกนายกรัฐมนตรีและออกกฎหมาย

ด้านนายปกรณ์ อารีกุล กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องการกำกับรัฐบาลโดยไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงหรือความคิดของประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้ออกมาประท้วงทุกรัฐบาลที่เห็นว่ากำลังดำเนินนโยบายที่สร้างปัญหาให้ประชาชน ดังนั้นเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่ยึดติดหรือผูกขาดว่าจะเลือกผู้แทนคนใดคนหนึ่ง เลือกตั้งแต่ละครั้งก็เลือกผู้แทนไม่ซ้ำคนหรือซ้ำพรรค การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญมาก แต่กรธ.ไม่เข้าใจว่าคนกำกับรัฐบาลที่ดีที่สุดคือประชาชน ขณะนี้สื่อกำลังให้ความสนใจการลงประชามติที่ประเทศอังกฤษ

“แต่ประชามติในไทยกำลังมีนักศึกษาถูกจองจำในเรือนจำ 7 คน เมื่อเจ้าหน้าที่ระบุว่าเราขัดคำสั่งคสช. ถึงได้รู้ตัวว่าเราไม่สามารถอ้างสิทธิความชอบธรรมได้ แต่อย่าลืมว่าในประเทศไทยมีคนติดคุกเพราะมีความเห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ ทางออกที่พอเป็นไปได้ อยากให้พรรคการเมืองร่วมกันทำสัตยาบันในการปฏิรูปการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย” นายปกรณ์ กล่าว

Advertisement

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเห็นว่าเรื่องที่จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ไม่มีใครจะมาฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อไปไม่มีการลากรถถังออกมา ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะเขาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นยุทธศาสตร์ยาว 20 ปี เป็นเรื่องยากที่จะฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่นักการเมืองก็ต้องมามองตัวเองด้วยว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะได้ยินว่าหลังจากนี้จะมีการสั่งให้จดแจ้งทะเบียนพรรคใหม่ ก็ยังไม่รู้จะใช้ชื่อไร แล้วจะมีซุปเปอร์บอร์ดเข้ามาคุม ทั้งนี้ก่อนร่วมเวทีได้มีการหารือร่วมกันระหว่างตน กับนายนิพิฏฐ์ และนายสมศักดิ์ เราเห็นตรงกันว่านักการเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองเดินมาสู่จุดนี้ เราจึงจะมีการนัดพูดคุยเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรคในสัปดาห์หน้า เราเป็นกลุ่มนักเมืองเก่าแก่ เห็นความเป็นไปของบ้านเมือง เราไม่ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อประเทศและคนรุ่นต่อไป

เมื่อถามต่อว่า จะมีการทำสัตยาบันระหว่างนักการเมืองเพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชนว่านักการจะร่วมกันแก้ปัญหา คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ต้องคุยกันก่อน ยังไม่ถึงสัตยาบัน แต่เราก็เห็นตรงกันว่านักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แต่เป็นการเน้นควบคุม โดยจัดสรรอำนาจใหม่ในกลุ่มข้าราชการ กองทัพ ตุลาการ องค์กรอิสระ หรือการควบคุมกำกับประชาธิปไตย หากตั้งโจทย์ที่ว่าจะแก้ไขเรื่องธรรมาภิบาลก็ต้องแก้ที่นักการเมืองด้วย ต้องใช้ธรรมาธิปไตยเข้ามาแก้ไข ไม่ใช่ใช้รธน.เข้ามากำกับควบคุม

ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เรายังไม่ได้กำหนดวัน ที่จะนัดหารือกัน แต่คนที่มาร่วมคุยกันไม่ใช่แต่เรา 3 คนเท่านั้น แต่จะชวนเพื่อนอดีตส.ส.จากพรรคอื่นมาหารือด้วย แล้วหลังจากหารือได้เป็นข้อยุติแล้ว จะมีการแถลงร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจนักการเมืองเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image