เสนอปิด ‘เขาใหญ่’ แฉสารพัดปัญหา อธิบดีปฏิเสธทันควัน ยันทุกเรื่องแก้ได้

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สมาคมเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าเขาใหญ่ดงพญาเย็น นำโดยนายกฤษติชัย สุขมังสา นายกสมาคมฯ ยื่นเสนอจดหมายขอเสนอความคิดการปิดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในช่วงฤดูแล้งคืนธรรมชาติให้ผืนป่าและสัตว์ป่า โดยมีนายสากล ฐินะกุล ผู้ตรวจราชการทส. เข้ารับเรื่องไว้

นายกฤษติชัย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ มีความอึดอัดใจมานานแล้วกับเรื่องต่างๆ ที่เขาใหญ่ แต่ยังไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ ซึ่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ไม่เคยรับฟังความคิดเห็นจากทางสมาคมฯ เลย วันนี้จึงเดินทางมาที่กระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อจะเสนอความคิดในการปิดอุทยานฯเขาใหญ่ในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค. เพื่อให้เขาใหญ่ได้ฟื้นฟูทั้งด้านผืนป่าและสัตว์ป่า อีกทั้งอุทยานฯ เปิดมาแล้ว 54 ปี ยังไม่เคยปิดอุทยานฯ เลย รวมทั้งเหตุผล 5 ข้อที่สมควรจะปิดเขาใหญ่ในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ 1.ปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งมีทั้งการลักลอบตัดไม้ และการขโมยไม้ของกลางซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ทำการของอุทยานฯ จึงน่าจะคาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ต้องรู้เห็นและทำกันเป็นขบวนการอย่างแน่นอน และปัญหาดังกล่าว ทางคณะกรรมการมรดกโลกจึงให้ความเป็นห่วงและวิตกกับการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่

นายกฤษติชัย กล่าวต่อว่า 2.สัตว์ป่าออกหากินนอกอุทยานฯเขาใหญ่ เนื่องจากภัยแล้งขาดแหล่งอาหาร น้ำที่เพียงพอ สัตว์ป่าจึงออกมาหากินตามไร่พืชของชาวบ้าน ซึ่งทำให้ชาวบ้านบางส่วนเกิดความไม่พอใจและเกิดปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าอยู่เป็นประจำ ส่วนแนวทางที่ทางสมาคมฯ ขอเสนอความเห็นคือ ต้องเพิ่มแหล่งอาหาร น้ำ ให้พอเพียง สร้างแนวรั้ว เช่น ไผ่หนาม เพราะวิจัยแล้วเห็นผลการป้องกันสัตว์ป่าลงมาทำลายพืชไร่ได้อย่างชัดเจน แต่โครงการนี้ยังขาดงบประมาณสนับสนุน 3.สัตว์ป่าในอุทยานฯ เขาใหญ่ถูกรถชนตาย เช่น กวาง เก้ง ลิง จะออกมาหาอาหารที่นักท่องเที่ยวให้กิน ลิงมักจะแย่งอาหารจากนักท่องเที่ยวและเดินกันเต็มถนนเพื่อมารออาหาร ทำให้นักท่องเที่ยวขับรถโดยไม่ระมัดระวังทับลิงตายตามที่ปรากฏภาพตามสื่อต่างๆ ซึ่งหากมีการปิดอุทยานในช่วงฤดูแล้ว สัตว์ป่าเหล่านี้จะได้ฝึกการหาอาหารตามแหล่งธรรมชาติ

นายกสมาคมฯ กล่าวว่า 4.การบริหารและใช้เงินศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ที่ประชาชนมาใส่ตู้บริจาค โดยนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ นำไปซื้อรถพยาบาลในราคา 1.5 ล้านบาท น่าจะมีการจัดซื้อที่ส่อทุจริต และไม่มีใครกล้าเซ็นรับรถคันดังกล่าว เพราะเกือบ 2 ปีแล้วที่ไม่สามารถต่อทะเบียนรถได้ ซึ่งวัตถุประสงค์เงินบริจาคศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ มีไว้เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ เป็นทุนการศึกษาของบุตรหลานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเงินสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น และข้อ 5.การแต่งตั้งคณะกรรมการอุทยานฯเขาใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไม่มีรายชื่อในส่วนของภาคประชาชนเลย ประชาชนจะรู้ปัญหาในพื้นที่ดีแต่กับเอาบุคคลนอกพื้นที่ที่ไม่รู้ปัญหามาเป็นคณะกรรมการ เมื่อทางสมาคมฯ ยื่นเสนอ ทางกรมอุทยานฯ กลับชี้แจงว่าระเบียบไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว

Advertisement

“นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ทราบว่ามีนักท่องเที่ยวพบงาช้างและได้ส่งคืนให้กับอุทยานฯ เขาใหญ่ แต่หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่กลับนำเอาไปถวายให้กับพระชั้นผู้ใหญ่องค์หนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์ซ้อนเร้นเกี่ยวกับการให้อยู่เป็นหัวหน้าอุทยานฯเขาใหญ่ต่อไป ปัญหาทั้งหมดนี้จึงอยากเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการ โดยมีทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่และภาคประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และควรตั้งภายใน 30 วัน เพื่อให้ประเด็นต่างๆ มีความคืบหน้า” นายกสมาคมฯ กล่าว

นายกฤษติชัย กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการสร้างรั้วกันบนผาเดียวดายในพื้นที่อุทยานฯเขาใหญ่ ทางสมาคมฯ ได้เคยคัดค้านการก่อสร้างไปแล้ว เพราะทำให้ธรรมชาติถูกทำลาย เช่น พืชจำพวกมอสต่างๆ และสัตว์ป่าที่เคยอาศัยเป็นเส้นทางเดินของสัตว์ป่าอยู่เป็นประจำต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต ดังนั้นควรศึกษาและทำความเข้าใจกับธรรมชาติ สัตว์ป่าอย่างแท้จริง และควรให้นักท่องเที่ยวเสนอความคิดเห็นว่าควรสร้างหรือไม่

ภายหลังการพูดคุยกับทางสมาคมฯ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ส่งเรื่องเสนอความคิดเห็นเหล่านี้ส่งไลน์แจ้งไปยัง นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ รวมทั้งรับปากว่าจะส่งเรื่องไปยัง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีทส.โดยเร็วที่สุด พร้อมชี้แจงกรณีการสร้างรั้วกันตกที่ผาเดียวดายว่า พล.อ.สุรศักดิ์ ได้เคยมอบนโยบายความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจเกิดอันตรายได้ ซึ่งบริเวณผาเดียวดาย จึงมีข้อเสนอในการสร้างรั้วกันตก เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัย เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุวัวหายล้อมคอก

Advertisement

ด้านนายธัญญา กล่าวว่า ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว บางเรื่องอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อาจจะมีปัญหาก็จริง แต่ก็อยู่ในวิสัยที่กรมอุทยานฯสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ และอยู่ระหว่างการแก้อยู่ เช่นเรื่องไม้พะยูง แต่คงไม่ถึงขั้นต้อง ปิดอุทยานฯเพื่อแก้ปัญหานี้ การปิดอุทยานฯไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดที่ทางเอ็นจีโอเสนอมา ตนไม่ยอมให้ปิดแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image