‘ดาว์พงษ์’จี้ ข้าราชการ ศธ.ทุกคน ไปลงประชามติ ‘รับ-ไม่รับ’ ร่าง รธน. จี้ครูทำความเข้าใจ ‘น.ร.-ผู้ปกครอง’ ปมคำถามพ่วง

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวมอบนโยบายและชี้แจงการดำเนินกิจกรรมโครงการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ ให้แก่ผู้บริหารการศึกษาของ ศธ. ว่า การเลือกตั้งเป็นสิทธิหน้าที่ของทุกคน ซึ่งในส่วนของ ศธ.ได้ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง โดยถือเป็นนโยบายที่ข้าราชการ ศธ. ทุกคนไปลงประชามติ เพราะถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการ รวมถึงอยากให้ครูใช้เวลาในช่วงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สร้างความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยอย่างแท้จริงให้แก่นักเรียนด้วย ไม่ใช่ให้เด็กรู้จักประชาธิปไตยแบบปลอมๆ ต้องสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์แยกแยะในสิ่งที่ถูกต้องด้วย รวมถึงผู้ปกครอง ภายใต้กรอบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนด ทั้งนี้สิ่งที่ ศธ.จะดำเนินการนั้นมีอยู่ 2 ประเด็น คือ การให้ความรู้ร่างรัฐธรรมนูญว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และการมีคำถามพ่วงที่ระบุว่าเห็นด้วยหรือไม่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งในประเด็นนี้อยากให้มีการทำความเข้าใจด้วยว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศและไม่ได้ทำเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศได้ต่อ โดยผู้บริหารองค์กรหลักฯจะต้องไปทำความเข้าใจเพื่อให้ครูและเขตพื้นที่ได้รับทราบถึงการประชาสัมพันธ์ในประเด็นดังกล่าวด้วย

ประชามติ

“ศธ.มีหน้าที่ให้ความเข้าใจและมีหน้าที่ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากประชาชนไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ก็จะไม่กระตือรือร้นออกไปใช้สิทธิ ซึ่งผมรู้สึกเห็นใจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องทำงานหนัก เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ เพราะการลงเสียงประชามติครั้งนี้แตกต่างกับการจัดการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากการลงประชามติจะไม่มีหัวคะแนน อย่างไรก็ตามขอฝากข้าราชการครูทุกคนอย่าใช้ความรู้สึก ต้องใช้ข้อมูลจริงและความจริงในการตัดสินใจ เพราะประเทศไทยวุ่นวายจากการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งมามากพอแล้ว ดังนั้นหากครูซึ่งทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรบุคลากรของประเทศใช้อารมณ์ตัดสินเรื่องต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าอาย” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าว

ประชามติ2

Advertisement

ด้านนายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า การลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ถือเป็นการลงประชามติครั้งที่ 2 กรณีร่างรัฐธรรมนูญหลังจากเคยดำเนินการแล้วเมื่อปี 2550 ซึ่งในครั้งนั้นมีประชาชนเดินทางมาลงคะแนนเสียงประชามติเพียงร้อยละ 57 เท่านั้น แต่ในครั้งนี้ทาง กกต.ตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนมาออกเสียงประชามติที่ร้อยละ 80 ขณะนี้เหลือเวลา 41 วัน แต่การดำเนินการครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีเครือข่ายจำนวนมากที่ร่วมรณรงค์ทำให้มั่นใจว่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิมากกว่าปี 2550 อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image