“ออง ซาน ซูจี” เยือนมหาชัย อุตสาหกรรมประมง-แปรรูป ระทึก…! หวั่นดึงแรงงานคืนถิ่นพัฒนาประเทศ

 

“ออง ซาน ซูจี” เยือนมหาชัย อุตสาหกรรมประมง-แปรรูป ระทึก…! หวั่นดึงแรงงานคืนถิ่นพัฒนาประเทศ

การมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ “นางออง ซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 23-25 มิถุนายน 2559 นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีอำนาจเต็มในฐานะผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งแตกต่างจากการมาเยือนครั้งแรกเมื่อปี 2555 ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน

ครั้งนี้ นางซูจี มีโปรแกรมที่ครบเครื่อง ทั้งการพบปะเจรจากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือข้อราชการและการลงนามความตกลงร่วมกันของทั้งสองประเทศ การปาฐกถาพิเศษให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยของไทย

ที่สำคัญ นางซูจี ยังได้เดินทางไปเยี่ยมเด็กนักเรียนเมียนมาที่โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) รวมทั้งไปพบปะแรงงานเมียนมา ที่หอประชุมตลาดทะเลไทย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

Advertisement

นับได้ว่าเป็นกำหนดการที่บุกถึงถิ่น เข้าถึงชุมชนชาวเมียนมาทุกกลุ่มทุกวัย ที่เข้ามาอาศัยพักพิงทำมาหากินในเมืองไทย

ไม่เพียงแต่แรงงานเมียนมานับล้านคนที่เข้ามาปักหลักทำงานในเมืองไทยเท่านั้น ที่ต่างก็รู้สึกชื่นชมและอบอุ่นที่ผู้นำประเทศได้กลับมาเยี่ยมพวกเขาอีกครั้ง ด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยมที่จะเห็นการพัฒนาประเทศเมียนมามีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมในภูมิภาคนี้

ขณะที่นักธุรกิจไทยก็ระทึกใจอย่างยิ่งกับกระแสการไหลกลับถิ่นของแรงงานเมียนมา

Advertisement

โดยเฉพาะกิจการที่ต้องพึ่งพาแรงงานเมียนมาจำนวนมากในกลุ่มอุตสาหกรรมการประมง และแปรรูปประมงที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปสินค้าประมงของประเทศที่มีมูลค่าการตลาดมากถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี

เนื่องเพราะเวลานี้ก็เริ่มมีแรงงานเมียนมาจำนวนหนึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อไปทำงานในภาคบริการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง งานก่อสร้างตึก อาคาร บ้านเรือน

แม้ว่าอัตราค่าจ้างจะไม่สูงมาก แต่ค่าครองชีพในเมียนมายังต่ำกว่าเมืองไทยมาก และยังได้กลับไปอยู่กับครอบครัวอีกด้วย

การเปิดประเทศและมีเสถียรภาพทางการเมือง อีกทั้งเศรษฐกิจกำลังขยายตัว เกิดการจ้างงานมากขึ้น นับได้ว่าเป็น “ตัวเร่ง” ให้แรงงานเมียนมา มีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น

นั่นคือปัจจัยบวกจากฝั่งเมียนมา ขณะที่ปัจจัยในประเทศของไทยก็เป็นแรงส่งสำคัญ หลังจากที่มีการจัดระเบียบตามข้อกำหนดของ IUU ทำให้เรือประมงไทยต้องจอดเรือนับหมื่นลำเพื่อจดทะเบียนเรือและแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ก็ส่งผลทำให้แรงงานในเรือประมง และล้งตกงานกันเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งกลับประเทศไปพักงาน เพื่อรอการจ้างงานใหม่อีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ นายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมแปรรูปอาหารทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เกิดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้ล้งกุ้งต้องปิดตัวไปแล้ว 389 ราย จากทั้งหมด 392 ราย ซึ่งหลังจากล้งกุ้งปิดตัวจำนวนมาก ก็จำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเมียนมา ส่วนหนึ่งก็เดินทางกลับประเทศ หากอุตสาหกรรมการประมงฟื้นตัวอีกครั้ง และแรงงานดังกล่าวไม่กลับมาทำงานอีก จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมประมงจังหวัดสมุทรสาครทั้งระบบ

ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร มีการจ้างแรงงานเมียนมาที่ได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง จำนวน 196,668 คน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมแรงงานที่ยังไม่เข้าสู่การจดทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ดร.ปรีชา ศิริแสงอารำพี ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ยังเชื่อมั่นว่าหากผู้ประกอบการไทยให้สวัสดิการที่ดี มีการดูแลแรงงานที่มีทักษะฝีมือไว้ และให้ค่าจ้างตามกฎหมาย ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทก็ยังถือว่าเป็นแรงจูงใจให้แรงงานเมียนมาเลือกทำงานที่จังหวัดสมุทรสาครต่อไป เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่เมียนมาเฉลี่ย 50-100 บาทต่อวันเท่านั้น

เช่นเดียวกับ ดร.อภิวัฒน์ วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ก็มั่นใจว่า หากดูแลแรงงานเมียนมาอย่างดี ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท สวัสดิการรักษาพยาบาล คลอดบุตร การศึกษาบุตร และปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด ภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ แรงงานเมียนมาจะยังคงทำงานในเมืองไทย เพราะค่าแรงที่สูงกว่ายังเป็นแรงจูงใจ แม้หลายฝ่ายจะกังวลว่า นางซูจี จะชักชวนให้แรงงานกลับภูมิลำเนาก็ตาม

นี่คือปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ที่มีผลสะเทือนต่อโครงสร้างตลาดแรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการและทางการไทยต้องตระหนักเตรียมรับมือล่วงหน้าให้เท่าทันสถานการณ์

ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็ต้องจับตาว่าผลที่จะตามมาหลังการเดินทางมาเยือนของนางซูจีครั้งนี้จะเป็นไปในทิศทางที่กำลังหวั่นใจกันอยู่หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image