292 นักวิชาการออกแถลงการณ์ให้ปล่อยตัวน.ศ.-รณรงค์ออกเสียงประชามติอย่างเสรี

จากกรณีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนาวิกโยธิน จับกุมตัวสมาชิก NDM พร้อมคนงานไทรอัมพ์รวม 13 คน ขณะแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่าง รธน.ย่านนิคมบางพลี โดนตั้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ชุมนุมเกิน 5 คน ยอมประกันตัว 6 คน ขณะนักศึกษา 7 คนไม่ขอประกันตัว

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 มิถุนายน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เดินทางเข้าเยี่ยมนักศึกษาทั้ง 7 คน นำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอ่านแถลงการณ์ก่อนการเข้าเยี่ยม

นายอนุสรณ์ได้อ่านแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ขอให้ปล่อยตัวนักศึกษาและให้มีการรณรงค์การออกเสียงประชามติอย่างเสรี โดยมีใจความว่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นักศึกษาและกรรมการสหภาพแรงงานจำนวนหนึ่งได้จัดกิจกรรมในย่านนิคมอุตสาหกรรมบางพลี เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจขัดขวางจับกุมและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ท้ายสุดนักศึกษา 7 คนได้ถูกศาลทหารปฏิเสธคำร้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวและถูกคุมขัง ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเป็นการขัดขวางการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในหมู่ประชาชน เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม การรณรงค์ประชามติของนักศึกษาและประชาชนดังกล่าวเป็นไปอย่างสงบ สันติ เปิดเผย มิได้ขัดต่อกฎหมายหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลใด แต่เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักในสิทธิของตนและได้รับข้อมูลรอบด้านเพื่อตัดสินใจกำหนดอนาคตของตน ยิ่งกว่านี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีเนื้อหาที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 61 ที่คุกคามการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน การอ้างพระราชบัญญัติฉบับนี้มาจับกุมดำเนินคดีผู้ที่รณรงค์ประชามติจึงไม่มีความชอบธรรม

นายอนุสรณ์ระบุต่อว่า การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จะมีความชอบธรรมเป็นที่ยอมรับนั้น ต้องเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพ มิใช่การกดขี่บังคับและสร้างความหวาดกลัวดังเช่นที่เป็นอยู่ การณ์กลับเป็นว่าการรณรงค์ประชามติที่รัฐดำเนินอยู่มีลักษณะด้านเดียวคือ เน้นแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ แต่ห้ามและดำเนินคดีผู้เสนอข้อมูลอีกด้าน ดังกรณีนักศึกษาและกรรมการสหภาพแรงงานที่เสนอความเห็นต่างกลับถูกขัดขวางจับกุมคุมขัง ในขณะที่นักกิจกรรมและนักการเมืองที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญกลับแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศยังได้ถูกระดมออกไปพบประชาชนเพื่อชี้แจงแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญเพียงด้านเดียว ทั้งหมดนี้จะทำให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปอย่างเสรี ขาดความชอบธรรม และไม่เป็นที่ยอมรับ

Advertisement

“เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองพร้อมกับผู้มีรายชื่อแนบท้ายจึงมีข้อเรียกร้องต่อ คสช. ดังนี้ 1.ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 7 คนที่ทำการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 2.ยุติการขัดขวาง คุกคาม จับกุมผู้ที่รณรงค์ประชามติและแสดงความคิดเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างสงบ สันติ เปิดเผย พร้อมทั้งให้มีการเสนอความเห็นรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในช่องทางต่างๆ ได้อย่างเสรี 3 ประกาศสัญญาประชาคมว่าจะให้การออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม เป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อสะท้อนความเรียกร้องต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเปิดให้การรณรงค์ประชามติเป็นไปอย่างรอบด้าน ให้ทุกฝ่ายสามารถเสนอข้อมูลทั้งข้อดีและจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค” นายอนุสรณ์อ่านแถลงการณ์

นายอนุสรณ์กล่าวว่า แถลงการณ์ครั้งนี้มีนักวิชาการร่วมลงนามกว่า 292 รายชื่อ 35 สถาบันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องสนับสนุนให้ปล่อยตัวนักศึกษา โดยในวันที่ 30 มิถุนายน กลุ่มนักวิชาการที่ตกเป็นกลุ่มนักวิชาการสุ่มเสี่ยงจะส่งคำร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ คสช. เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะสิ่งที่นักศึกษากระทำนั้นไม่ถือว่าเป็นความผิด ทั้งนี้ หาก คสช.ยังไม่มีทีท่าตอบกลับ ตนและคณะนักวิชาการอาจจะต้องหาวิธีที่เข้มข้นขึ้นในการเรียกร้อง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรที่ช่วงค่ำวันนี้จะมีการโหวตการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของไทยวาระปี 2560-2561 นายอนุสรณ์กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเสมือนนำประเทศไทยไปประจาน ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อถามต่อว่า ที่โฆษกออกมาพูดว่าการทำประชามติของประเทศอังกฤษไม่เห็นมีปัญหา นายอนุสรณ์กล่าวว่า ประชามติของประเทศไทยและต่างประเทศมีความแตกต่างกัน ของประเทศอังกฤษนั้นยอมรับในความเห็นต่างของประชาชน และรัฐบาลมีความเป็นกลาง ไม่มีการขัดขวางประชาชนที่เห็นต่าง การที่โฆษกออกมาพูดดังกล่าวนั้น “ถือว่าเป็นการไม่ส่องกระจก” อย่างไรก็ตามในทุกๆ วันที่นักศึกษายังคงอยู่ในเรือนจำจะมีคณะนักวิชาการมาเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวคณะนักวิชาการได้นำเสื้อยืดสีขาวที่มีข้อความระบุบนเสื้อ “โหวตโน” มาสวมใส่จึงค่อยอ่านแถลงการณ์ จากนั้นได้มีนักศึกษาทยอยเดินทางเข้าเยี่ยม โดยนักศึกษาคนถือลูกโป่งสีม่วงที่มีข้อความระบุรณรงค์ไม่ผิด อย่างไรก็ตาม บริเวณเรือนจำดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ประชาชื่น 6 นาย คอยดูแลรักษาความปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image